หญ้านวลน้อย

หญ้านวลน้อย (Manila Grass)

หญ้านวลน้อย เป็นหญ้าพื้นเมืองของไทย เป็นหญ้า ที่นิยมปลูกกันมาก สามารถขึ้นได้ดีในดิน เกือบทุก ชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว หรือดินปนทราย และยัง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดีได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทนต่อร้อนและแห้งแล้ง หรือที่น้ำท่วมขังแฉะ ได้เป็นครั้งคราว จึงนิยมปลูกกันมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หญ้านวลน้อยเป็นหญ้าที่จัดอยู่ในประเภทใกล้เคียงกับหญ้าญี่ปุ่น แต่มีใบกว้างกว่า และการเจริญเติบโตเร็วกว่า ใบไม่แข็งกระด้าง เหมือนหญ้าญี่ปุ่น หญ้าชนิดนี้ ขึ้นง่าย และเจริญเติบโต เป็นแผ่นได้เร็วพอสมควร แต่ช่อดอกค่อนข้างยาว และเห็นได้ชัด ซึ่งจะขอกล่าวถึง ลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ลำต้น จะตั้งและแข็งแรง มีลำต้นใต้ดินมาก ลำต้นเติบโตเป็นเถา และแตกหน่อเป็นเหง้ารวดเร็ว ปลูกง่ายแตกกอได้เร็ว มีปล้องสั้นขนาดลำต้นประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และลำต้นยืดหยุ่นตัวดี มีความสูงจากโคนต้นถึงปลายสุดของใบประมาณ 10-25 เซนติเมตร และมีข้อปล้องประมาณ 2-3 ปล้อง แต่ละข้อยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร
  2. ใบ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีขนาดปานกลาง สีเขียวอ่อน ใบจะยืดหยุ่นตัวดีเช่นกันในเวลาที่เหยียบย่ำ แวลาเดินแล้วจะนุ่มเท้า ขึ้นคลุมดินได้แน่นดี ใบนุ่มกว่าหญ้าญี่ปุ่น และไม่ระคายผิวหนัง เมื่อตัดเรียบร้อยแล้วดูกล้ายพรม แตกใบออกหุ้มลำต้น โดยปล้องแรกของลำต้นมีใบ 1 ใบ ปล้องที่ 2 มีใบประมาณ 2-4 ใบ ใบประกอบด้วยกาบใบสีเขียวห่อหุ้มลำต้น ขนาดความยาวของกาบใบประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ด้านบนของช่วงต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบมีขนสีขาวสั้นปกคลุม ถัดมาเป็นแผ่นใบสีเขียวสด มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ขอบใบมีลักษณะโค้งพับเข้ากลางแผ่นใบ
  3. ช่อดอกค่อนข้างยาว เป็นดอกสมบูรณ์ที่ผสมเกสรได้ในตัวเอง ดอกออกเป็นช่อจากกลางลำต้น ประกอบด้วยก้านช่อดอกสีเขียวอ่อน ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลาสุดของก้านเป็นช่อดอก ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกเรียงสลับกันหุ้มก้านช่อไว้ จำนวนดอกต่อช่อประมาณ 24-30 ดอก
    ดอกแต่ละดอกมีน้ำตาลอมม่วงอ่อน ฐานดอกกว้าง ปลายดอกเรียวแหลม ขนาดดอกประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ขนาดเล็ก

หญ้านวลน้อยหญ้านวลน้อยนี้ ชอบขึ้นในที่กลางแจ้ง แต่ในที่ร่มมีแดดพอเพียงก็สามารถขึ้นได้ ถ้าไม่ตัดหญ้านี้เลยจะสูงประมาณ 6 นิ้ว เป็นหญ้าที่ทนต่อ การเหยียบย่ำ ทนต่อความแห้งแล้งหรือน้ำขังแฉะเป็นครั้งคราว ตลอดจนทนต่ออุณภูมิสูงได้ดี แต่ในฤดูแล้งต้อง หมั่นรดน้ำ อยู่เสมอมิฉะนั้นใบจะเหลืองแต่ไม่ถึงตาย นอกจากนี้ทนต่อดินเค็มได้บ้าง รวมทั้งยังต้านทานต่อโรงแมลงได้ดี

ประโยชน์ของหญ้านวลน้อย

1. หญ้านวลน้อยใช้ทำสนามหญ้าทั่วไป เช่น สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ สวนหย่อมในบริเวณบ้าน โรงแรม สวนอาหาร บริษัทร้านห้างใหญ่ ๆ ในสนามกอล์ฟ ใช้ทำกรีน (Green) ซึ่งเป็นที่ตีลูกกอล์ฟลงหลุม ใช้ทำบริเวณ (Tee) ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นตีกอร์ฟ ตลอดจนปลูกบนทางตีกอล์ฟ (Fair Wap)
2. ใช้ในการจัดสวนทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นหญ้าที่ทนการเหยียบย่ำ รวมทั้งเป็นหญ้าที่ดูแลรักษาง่าย กว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ ถึงแม้จะปล่อยปละ ละเลยไปบ้าง เมื่อกลับมาดูแลรักษาใหม่ ก็ยังจะได้สนามหญ้าที่มีคุณภาพดีเหมือนกัน
3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน
4. ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค กระบือ พะหรือแกะ

การตัดหญ้า

หญ้านวลน้อยควรตัดในระยะ 0.75 - 1.5 นิ้ว โดยตัดทุก ๆ 1 - 2 สัปดาห์ เพราะด้วยเหตุที่ว่า หญ้านี้จะมีช่อค่อนข้างยาว ดอกมีสีน้ำตาลออกดก จึงทำให้สนามหญ้าไม่สวยในเวลาออกดอก จำเป็นต้องคอยระวังกำจัดช่อดอกให้หมด ในช่วงฤดูกาลออกดอก เครื่องตัดหญ้าทั่ว ๆ ไปก็ใช้ได้ แม้กระทั่งกรรไกร หรือรถเข็นหญ้าก็ได้

การขยายพันธุ์

หญ้านวลน้อยใช้ลำต้นปลูก เพราะขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นหญ้าที่มีเมล็ดน้อย จึงไม่มีผู้ผลิตเมล็ดจำหน่าย

หญ้านวลน้อย ข้อดี-ข้อเสีย

ข้อดี

  1. หญ้าที่ปลูกใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปเป็นพืชที่ฟื้นตัวได้เร็วเจริญเติบโตได้ดี ปกคลุมหน้าดินได้ในระยะสั้น
  2. ใบมีขนาดกลางและมีความอ่อนนุ่มหยืดหยุ่นตัวสูง ไม่ระคายเคืองต่อผิวกาย และตัดแต่งง่าย
  3. ทนต่อการเหยียบย่ำ ทนต่อสภาพอากาศร้อนจัด แล้งจัด และยังทนต่อแมลงต่าง ๆ และโรคพืชต่าง ๆ ด้วย
  4. การดูแลรักษาก็ง่ายกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ
  5. มีราคาที่ถูก เมื่อเทียบกับหญ้าชนิดอื่น ๆ

ข้อเสีย

  1. ถ้าปล่อยให้หญ้าออกดอก ดอกของหญ้าเมื่อแก่จะเป็นสีดำ ดูแล้วสนามไม่สวย ควรตัดหญ้าตามกำหนด ไม่ควรปล่อยให้มีดอก
  2. ถ้าปลูกในที่ร่มเงามาก เป็นพืชที่ไม่ชอบที่ร่ม ซึ่งถ้าจุดไหนอยู่ในร่ม ไม่ว่าจะเป็นใต้ต้นไม้ใต้ชายคาและตามขอบกำแพงหญ้า เพราะหญ้าจะมีปล้องยาวเป็นพิเศษและจะยาวเร็วกว่าจุดที่อยู่กลางแจ้งประมาณเท่าตัว และเมื่อตัดเสร็จใหม่ ๆ จะทำให้บริเวณดังกล่าวมองเห็นพื้นดิน ดูไม่สวยงาม
  3. ถ้าขาดน้ำนานใบจะเหลือง และจะเขียวเป็นกระจุก ๆ
  4. เป็นพืชที่ตายยาก เมื่อเราจะเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น จะเป็นหญ้าที่กำจัดให้หมดจากพื้นที่ยากมาก
การให้ปุ๋ย

มีสองอย่างคือ หว่าน กับผสมน้ำแล้วรด การให้ปุ๋ยแบบหว่าน ต้องรดน้ำตามเยอะๆ เพื่อให้เม็ดปุ๋ยละลายให้หมด ถ้ารดน้ำน้อยไปหญ้าโดนแดดแล้วเหลืองเป็นวงๆ เล็กๆ ทั่วไปหมดเพราะปุ๋ยไม่ละลายแน่ ดังนั้นการให้ปุ๋ยแบบหว่านจึงควรรดน้ำตามหรือเปิดสปริงเกอร์สัก15นาที ส่วนการให้ปุ๋ยแบบผสมน้ำรด คือ น้ำ 1 บัวรดน้ำ ปุ๋ยยูเรีย 3 กำมือ และ16-16-8 1 กำมือ คนให้ละลายในบัวรดน้ำเลยแล้วก็ค่อยนำไปรด ระยะเวลาการให้ปุ๋ย สนามหญ้าปรกติให้เดือนละครั้ง