แผนที่สุโขทัย
- แผนที่สุโขทัย
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
สุโขทัย เป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง คำว่า "สุโขทัย" มาจากสองคำคือ "สุข+อุทัย" อันมีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1700 มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้ประดิษฐ์อักษรไทย และวางรากฐานการเมือง การปกครอง ศาสนา ตลอดจนขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง
จังหวัดสุโขทัยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 440 กิโลเมตร
ทิศเหนือ จดจังหวัดแพร่
ทิศใต้ จดจังหวัดกำแพงเพชร
ทิศตะวันออก จดจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก จดจังหวัดตาก และจังหวัดลำปาง
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยจะเป็นที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือและตอนใต้ของ จังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีเขาหลวงเป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุด วัดจากระดับน้ำทะเลมีความสูงประมาณ 1,200 เมตร โดยมีแนวภูเขายาวเป็นพืดทางด้านทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดจะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้
การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 86 ตำบล 782 หมู่บ้าน
1. อำเภอเมืองสุโขทัย 2. อำเภอบ้านด่านลานหอย 3. อำเภอคีรีมาศ 4. อำเภอกงไกรลาศ 5. อำเภอศรีสัชนาลัย 6. อำเภอศรีสำโรง 7. อำเภอสวรรคโลก 8. อำเภอศรีนคร 9. อำเภอทุ่งเสลี่ยม
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกบัวหลวง Nymphaea lotus
ต้นไม้ประจำจังหวัด: ตาลโตนด (Afzelia xylocarpa)
คำขวัญประจำจังหวัด: มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข (แต่งโดยสำราญ สีแก้ว อาจารย์โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา อำเภอสวรรคโลก โดยคำขวัญเดิมคือ "กำเนิดอักษรไทย งานใหญ่ลอยกระทง มั่นคงพุทธศาสนา พระแม่ย่ามิ่งเมือง อดีตรุ่งเรืองคือเมืองสุโขทัย")
การเดินทาง
ทางรถยนต์
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 ทางคือ
1. ตามทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศ ระยะทางประมาณ 440 กิโลเมตร
2. ตามทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ กม. ที่ 50 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่าน อยุธยามุ่งสู่นครสวรรค์ แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 117 ตรงเข้าพิษณุโลก ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เข้าสุโขทัย รวมระยะทาง 427 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
ทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารทั้งแบบธรรมดาและปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวันจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 นอกจากนี้ยังมีบริษัทเดินรถเอกชนวิ่งบริการ ได้แก่ บริษัท วินทัวร์ โทร. 611-039 และบริษัท พิษณุโลกยานยนต์ โทร. 258-941, 258-647
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ มีรถด่วนและรถเร็วสายเหนือออกจากสถานีหัวลำโพง ไปลงที่พิษณุโลกทุกวัน จากนั้นจึงเดินทางต่อโดยรถประจำทางไปสุโขทัย อีก 59 กิโลเมตร ติดต่อรายละเอียดที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690
ทางเครื่องบิน
ทางเครื่องบิน การบินไทยมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่พิษณุโลกทุกวัน วันละ 4-5 เที่ยว จากนั้นจึงเดินทางต่อโดยรถยนต์ไปสุโขทัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-356-1111 พิษณุโลก (055)258-029, 258-020 บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส มีเครื่องบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย ออกวันละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 229-3456-63 พิษณุโลก (055) 612448
งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวันที่ 17 มกราคมของทุกปี ทางจังหวัดได้จัดให้มีงานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ บริเวณอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นการรำลึกและเผยแพร่พระเกียรติคุณให้ขจรขจายไปทั่วในงานดังกล่าว จะมีการทำบุญตักบาตรและพิธีทางศาสนา ขบวนสักการะพ่อขุน การบวงสรวง การเล่นพลุ ตลอดจนนาฏศิลป์และมหรสพต่างๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ประเพณีงานบวชพระ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย หรือชาวบ้านเรียกว่า "บวชช้าง" เป็นงานประเพณีอุปสมบทของ ชาวบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย กำหนดการจัดงานวันที่ 7-8 เมษายน ของทุกปี ลักษณะเป็นการอุปสมบทหมู่ แห่ด้วยช้างเป็นขบวน ประมาณ 20-30 เชือก มีการตกแต่งนาคและช้างอย่างสวยสดงดงาม มีการประกวดกันระหว่างเจ้าภาพที่นัดหมายกันมาเป็นประจำทุกปี
งานประเพณีสรงน้ำโอยทาน จัดขึ้นในวันสงกรานต์ของทุกปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นการสืบทอดงานประเพณีเก่าแก่ของสุโขทัย ดังหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ว่า "คนสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน" งานประกอบไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรมทางศาสนา การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน การแสดงนาฏศิลป์ และละครประกอบแสงเสียง การเล่นไฟ ขบวนแห่สงกรานต์ ฯลฯ
งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟเป็นงานประเพณีที่จังหวัดจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ ลักษณะของงานประกอบด้วยการลอยกระทงจุดประทีปโคมไฟ จุดตะไลไฟพะเนียง การละเล่นพื้นบ้าน ขบวนแห่ต่างๆ และระบำโบราณคดีชุดสุโขทัย แสดงออกถึงวิถีชีวิตของชาวสุโขทัยตามศิลาจารึก ในบรรยากาศและ สิ่งแวดล้อมของโบราณสถานในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีการแสดงแสงเสียง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย
งานวันพิชิตยอดเขาหลวง เป็นงานประจำปีที่จังหวัดสุโขทัยจัดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้เดินทางขึ้นสู่ยอดเขาหลวง ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง อ. คีรีมาศ โดยจัดประมาณ เสาร์-อาทิตย์ ที่สองของเดือนธันวาคม ผู้สนใจสอบถามรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย โทร. (055) 612286
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
ศาลพระแม่ย่า ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ถนนนิกรบำรุง (ริมน้ำยม) ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสุโขทัยทั่วไป เพราะศาลนี้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระแม่ย่าและดวงวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รูปพระแม่ย่านี้ทำด้วยศิลาสลักแบบเทวรูป พระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม พระเกตุมาลายาวประดับเครื่องทรงแบบนางพญาสูงประมาณ 1 เมตร พระแม่ย่าองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระแม่ คือนางเสือง การที่เรียกว่า "พระแม่ย่า" นี้เพราะว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเรียกมารดาว่า "พระแม่" และชาวเมืองสุโขทัยเคารพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสมอด้วยบิดา ดังนั้น จึงรวมเรียกพระมารดาของพระองค์ว่า "พระแม่ย่า" ดังกล่าว แต่เดิมพระแม่ย่าประดิษฐานอยู่บนเขาพระแม่ย่าห่างจากตัวเมืองเก่า ประมาณ 8 กิโลเมตร ตรงยอดเขามีเพิงหินเป็นผาป้องกันแดดฝน ต่อมาชาวสุโขทัยได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองใหม่ โดยสร้างศาลขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดริมแม่น้ำยมดังเช่นปัจจุบัน และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า "งานพระแม่ย่า"
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (เมืองเก่าสุโขทัย) อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยตามทางหลวงแผ่นดินสายสุโขทัย-ตาก ทางหลวงหมายเลข 12 ไปทางทิศตะวันตก 12 กิโลเมตร ถนนหลวงตัดผ่านกลางเมืองจากตะวันออกไปตะวันตก เมื่อผ่านเข้าเขตเมืองเก่าจะแลเห็นยอดพระเจดีย์แบบต่างๆ อันสง่างามและวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. อัตราค่าเข้าชมท่านละ 20 บาท
กำแพงเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ตำบลเมืองเก่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น โดยการขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง และพื้นดิน ที่ขุดขึ้นยังเป็นคูขังน้ำไว้ใช้สอยและเป็นกำแพงน้ำขึ้นอีก 2 ชั้น กำแพงด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว 2,000 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 1,600 เมตร มีประตูเมือง 4 ประตู ด้านเหนือเรียกว่า "ประตูศาลหลวง" ด้านใต้เรียกว่า "ประตูนะโม" ด้านทิศตะวันออกเรียกว่า "ประตูกำแพงหัก" ด้านทิศตะวันตกเรียกว่า "ประตูอ้อ" ภายนอกกำแพงเมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร มีโบราณสถานประมาณ 70 แห่ง สร้างขึ้นไว้ในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร และได้รับการจัดตั้งให้เป็น มรดกโลก โดยองค์การ UNESCO ในปี 2537 การเดินทางไปอุทยานฯ จากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) จอดรอบบริเวณที่ท่ารถ ใกล้ป้อมยามตำรวจ ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำยมไปทางฝั่งตะวันตกราว 200 เมตร มีรถออกทุก 20 นาที ค่าโดยสารคนละ 5 บาท ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ทุกวัน และจากอุทยานฯ มีรถจอดที่บริเวณลานจอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ภายในกำแพงเมือง
วัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกา ก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้านใต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย
ศาลาผาแดง เป็นศาสนสถานตามคติศาสนาฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดหักพังลงหมด รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลา ที่เป็นรูปเคารพ เปรียบเทียบได้กับ ศิลปะของสมัยนครวัต (ราว พ.ศ. 1650-1720) จัดเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองสุโขทัย
เนินปราสาทพระร่วง หรือเขตพระราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ เป็นซากอาคารก่อด้วยอิฐ ขุดแต่งบูรณะแล้ว มีฐานบัวโดยรอบทำด้วยรูปปั้น สันนิษฐานว่าเนินแห่งนี้คือที่ตั้งของพระที่นั่งหรือปราสาทที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยในกาลก่อน แต่องค์ปราสาทหาชิ้นดีไม่ได้แล้ว เพราะคงจะสร้างด้วยเครื่องไม้ เดี๋ยวนี้มีแต่ซากกระเบื้องมุงหลังคากระจัดกระจายทั่วไป ณ เนินปราสาทแห่งนี้เองที่ได้ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงและพระแท่นมนังคศิลา
วัดตระพังเงิน (คำว่า "ตระพัง" หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ) เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูมเป็นประธาน บริเวณเรือนธาตุจะมีชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นวิหาร 7 ห้อง ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บริเวณตรงกลางตระพังเป็นเกาะขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ บริเวณตระพังจะมีดอกบัวขึ้นอยู่รอบสระสวยงามมาก
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่องทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้างๆ ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรมและเฉียบขาด ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นสถานที่รวบรวม และจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองสุโขทัย และที่ประชาชนมอบให้ บริเวณพิพิธภัณฑ์จะแบ่งส่วนการแสดงโบราณวัตถุไว้เป็น 3 ส่วนคือ
1. อาคารลายสือไท 700 ปี เป็นอาคารใหม่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม สังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ
2. อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แสดงศิลปวัตถุในยุดสมัยต่างๆ มากมาย อาทิ พระพุทธรูปสำริด โอ่ง สังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำระบบชลประทานสุโขทัย ฯลฯ
3. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะอยู่ด้านนอกโดยรอบอาคารใหญ่ เป็นที่ตั้งแสดงศิลปะวัตถุโบราณต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่างๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา เป็นต้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทยคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 10 บาท กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. (055) 612167
นอกกำแพงเมืองด้านเหนือ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดพระพายหลวง เป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย นักท่องเที่ยวควรเริ่มต้นชมอุทยานฯ จากจุดนี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสุโขทัยในอดีต
แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) อยู่ใกล้วัดพระพายหลวงบริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลกมีลักษณะคล้ายประทุนเกวียนขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามมีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่นสีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร
วัดพระพายหลวง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ทำด้วยศิลาแลง แบบศิลปะลพบุรี ยังคงเห็นลายปูนปั้นที่ปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าปรางค์มีฐานวิหารเจดีย์ที่ปรักหักพัง ทางด้านประติมากรรม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน นอน ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดแล้วประดิษฐานที่มณฑปและซุ้มเจดีย์
วัดศรีชุม ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และลักษณะของวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระอจนะนั้น สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายต่างๆ ไว้มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่อย่างนี้ เรื่องนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญและด้านอื่นๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็กๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้และพูดออกมาดังๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม
นอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก
วัดสะพานหิน โบราณสถานด้านทิศตะวันตกของกำแพงเมืองที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ย สูงประมาณ 200 เมตร มีทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆ จนถึงบริเวณลานวัด มีวิหารก่อด้วยอิฐ มีเสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"
เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า ทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อกักน้ำและชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมืองและพระราชวังในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่
นอกกำแพงเมืองด้านใต้
วัดเจดีย์สี่ห้อง โบราณสถานที่น่าสนใจ คือ เจดีย์ที่เข้าใจว่าเป็นทรงลังกา ที่ฐานมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ขี่ช้าง รูปเทวดาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ถือแจกัน ดอกไม้ ลวดลายสวยงามมาก วัดเชตุพน ศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือ มณฑปสร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปแบบนั่ง ยืน เดิน นอน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้างที่ประสานกันอย่างกลมกลืน ได้มีการพบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกในปี พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้
นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก
วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ
วัดตระพังทองหลาง ศิลปกรรมที่สำคัญ คือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร และมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมอีกมากมาย กรณีนักท่องเที่ยวมีเวลามาก โบราณสถานที่ควรชม นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น มีดังนี้
ทิศตะวันออก วัดเจดีย์สูง วัดเกาะไม้แดง วัดหอดพยอม
ทิศตะวันตก วัดพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดมังกร วัดอรัญญิก วัดช้างรอบ
ทิศใต้ วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม วัดต้นจัน วัดอโศการาม
อัตราการเข้าชมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 20 บาท และการนำยานพาหนะ 4-6 ล้อ เข้าเขตโบราณสถาน ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 30 บาท ส่วนพาหนะเกิน 6 ล้อ ไม่อนุญาตให้นำเข้า กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถาม รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานฯ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต. เมืองเก่า อ. เมือง จ. สุโขทัย 64210 โทร. (055) 613241
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอคีรีมาศ
อุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง จังหวัดสุโขทัย) อุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์แห่งแรก ของเมืองไทย ที่น่าสนใจและน่าศึกษา เพราะเป็นการอนุรักษ์ป่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัย กรุงสุโขทัยไว้พร้อมกับธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 341 ตารางกิโลเมตร หรือ 213,215 ไร่ ในสมัยก่อนเรียกป่านี้ว่า "ป่าเขาหลวง" แต่เมื่อทางการเข้ามาดำเนินการสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้นได้ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า "รามคำแหง" ซึ่งเป็นมงคลนาม เพราะมาจากพระนามของกษัตริย์อัจฉริยะของชาติไทย คือ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ผู้ครองกรุงสุโขทัย เพราะชื่อเดิมนั้น (เขาหลวง) ซ้ำกับ "ป่าเขาหลวง" ซึ่งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อุทยานฯ แห่งนี้ประกอบด้วยขุนเขาที่เด่นเป็นสง่าท้าทายนักปีนเขาทั้งหลาย คือ ยอดเขาหลวงซึ่งประกอบด้วย ยอดเขาถึง 4 ยอดด้วยกัน มีหน้าผาสูงชัน ทิวทัศน์สวยงามมาก เมื่อมองลงมาจากยอดเขาเหล่านี้ มีสัตว์ป่านานาชนิด มีน้ำตกที่สวยงามและถ้ำต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์สมัยก่อน จึงเหมาะสมแก่การไปพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ด้วย อุทยานแห่งชาติรามคำแหงได้รับการประกาศ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของป่าเขาหลวงหรืออุทยานแห่งชาติรามคำแหงอยู่ในท้องที่ตำบลด่าน ตำบลลานหอย อำเภอด่านลานหอย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ตำบลบ้านป้อม ตำบลคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย จุดสูงสุดของเขาหลวงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร เขาหลวงนี้ประกอบด้วยยอดเขาถึง 4 ยอดด้วยกัน คือยอดเขานารายณ์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,160 เมตร ยอดเขาพระแม่ย่า สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ยอดเขาภูกาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และยอดเขาพระเจดีย์สูงจากระดับน้ำทะเล 1,185 เมตร ดังนั้น เมื่อมองจากยอดเขาเหล่านี้ลงไปจึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงาม จะเห็นทำนบกั้นน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยที่เรียกกันว่า "สรีดภงค์" และตัวจังหวัดสุโขทัยได้อย่างชัดเจน
สถานที่น่าสนใจ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
ยอดเขานารายณ์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,160 เมตร เป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเขานารายณ์ ของกองทัพอากาศมีเนื้อที่ 25 ไร่ บริเวณเขานารายณ์มีหน้าผาที่สวยงามและสูงชันเป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจ สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเขาในเวลากลางคืน จะเห็นแสงไฟจากจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี
ยอดเขาพระแม่ย่า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ตามประวัติความเป็นมาในสมัยก่อนเป็นที่ประทับและจำศีลภาวนาของพระแม่ย่า
ยอดเขาพระเจดีย์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,185 เมตร ซึ่งจุดเด่นของยอดเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยหน้าผาที่สวยงามและป่าดิบสลับกับทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าผืนใหญ่ที่ทอดไปตามแนวทิวเขา
ประตูธรรมชาติ ทางประวัติศาสตร์ที่มีปรากฏอยู่ดังนี้คือ "ประตูป่า" อยู่ทางทิศเหนือของสวนลุ่ม หรือบริเวณที่ตั้งสำนักงานของอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน "ประตูเปลือย" อยู่ทางทิศตะวันออกของสวนลุ่ม ตั้งอยู่บริเวณด่านตรวจของอุทยานฯ "ประตูพระร่วง" อยู่ทางทิศใต้ของสวนลุ่มและมีเรื่องเล่ามาว่าเป็นประตูที่พระร่วงเข้ามาเล่นว่าว ณ ที่แห่งนี้
สวนลุ่มหรือสวนลุมพินีวัน เป็นสวนว่านยาสมุนไพรอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เชิงเขาหลวง ปัจจุบันคือ ที่ตั้งสำนักงานอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาหลวง
เบิกภัย เป็นสถานที่ของคนสมัยก่อนสร้างไว้เป็นที่พักระหว่างทางขึ้นยอดเขาหลวง และเป็นที่หลบภัยของพรานในสมัยพระร่วง นอกจากนี้ยังมีลานพม่าลับหอกเป็นสถานที่เล่าว่าสมัยก่อนพม่าเข้ามาทำสงครามกับกรุงสุโขทัยได้ใช้ลับหอกให้คมมีรอยบุ๋มเป็นร่องๆ ให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
น้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงและสวยงามมากที่สุด อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง ไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านพุ อำเภอคีรีมาศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 101 (สายสุโขทัย-กำแพงเพชร) กิโลเมตรที่ 400 มีป้ายบอกทาง แยกเข้าไปประมาณ 13 กิโลเมตร ถนนเข้าเป็นทางลูกรังสลับทางราดยางบางช่วง มีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ในบริเวณมีที่จอดรถ น้ำตกมี 4 ชั้น ต้องเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขึ้นไปตามธารน้ำไหล มีระยะทาง 880 เมตร 960 เมตร 1,160 เมตร และ 1,200 เมตร ตามลำดับ
น้ำตกลำเกลียว อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาหลวง ไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านโว้งบ่อ และนอกจากนี้ยังมีน้ำตกน้ำฟู น้ำตกผาน้ำริน และน้ำตกช่างทอง เป็นต้น นอกจากนี้ มีถ้ำต่าง ๆ ให้ชม เช่น ถ้ำพระนารายณ์ ถ้ำพระแม่ย่า ถ้ำมเหรก ถ้ำรอยพระบาท ถ้ำพระนอน ถ้ำสำเร็จ และปล่องนางนาค
การเดินทางและที่พัก
สำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหงนั้น หากจะเริ่มต้นออกจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ถึงสุโขทัย โดยผ่านทางนครสวรรค์ กำแพงเพชร คีรีมาศ (อำเภอคีรีมาศ) ก่อนถึงจังหวัดสุโขทัย 20 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 414 จะเห็นยอดเขาสูงอยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรัง ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงที่ทำการของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ต่อจากนั้นต้องเดินทางโดยทางเท้าจากที่ทำการไปยังสถานที่เที่ยวต่างๆ รายละเอียดที่พัก ติดต่อได้ที่ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่ ตู้ ปณ. 1 อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 64160
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสวรรคโลก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก ตั้งอยู่ที่ตำบลวังไม้ขอน หลังวัดสวรรคาราม (วัดกลาง) ห่างจากสุโขทัย 38 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ชั้นบนจัดแสดงประติมากรรมสมัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมบัติของพระสวรรควรนายก และบางส่วนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย จนถึงศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนบริเวณชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องถ้วยสังคโลก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เรื่องเครื่องถ้วยสังคโลก ซึ่งขุดค้นพบมากที่แหล่งโบราณคดี เครื่องถ้วยสังคโลกบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งแสดงเครื่องถ้วยสมบัติใต้ทะเลที่งมได้มาจากแหล่งเรือจม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท ในกรณีเข้าเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชม ติดต่อได้ที่พิพิธภัณฑ์สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย โทร. (055) 641571
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บนฝั่งขวาของแม่น้ำยม เดิมชื่อว่า "เมืองเชลียง" เปลี่ยนชื่อเป็น "ศรีสัชนาลัย" ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มากมาย สำรวจค้นพบแล้ว 134 แห่ง ที่สำคัญๆ ก็ได้แก่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียงหรือวัดพระปรางค์ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่า ศรีสัช นาลัย ลงไปทางด้านใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร สิ่งสำคัญภายในวัด มีพระปรางค์องค์ใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 22.50 เมตร ด้านหน้าพระปรางค์มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้มประตูเข้าองค์ปรางค์ ซึ่งมีพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู่กลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกเตี้ยๆ ของเมืองเก่าศรีสัชนาลัย สิ่งที่สำคัญของวัดนี้อยู่ที่ตัวพระเจดีย์ศิลาแลง และวิหารใหญ่ด้านหน้า ด้านหลังของเจดีย์มีมณฑปเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่ ที่วิหารมีเสาศิลาแลงและพระพุทธรูปซึ่งตั้งเป็นประธานแต่ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระประธานในวิหารประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยศิลาแลงเป็นชั้นๆ นำมาต่อกัน และตกแต่งพอกปูนภายนอกอีกทีหนึ่ง
วัดเขาสุวรรณคีรี อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากยอดเขาพนมเพลิง 200 เมตร และมีความสูงกว่ายอดเขาพนมเพลิงเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ที่มีรูปเป็นองค์ระฆังคว่ำใหญ่โตและสูงมาก ฐานของเจดีย์ทำสูงขึ้นไปถึง 5 ชั้น มีบันไดศิลาแลงเตี้ยๆ สำหรับเดินขึ้นไปบริเวณทักษิณของเจดีย์ได้ ที่ด้านหลังของเจดีย์ใหญ่มีวิหารน้อยและเจดีย์ขนาดเล็กๆ และตรงกำแพงแก้วชั้นในทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีรูปยักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ และรูปสิงห์ รูปปูนปั้นเหล่านี้ชำรุดและล้มอยู่กับพื้นดิน ลักษณะของรูปยักษ์คล้ายรูปยักษ์วัดช้างล้อมมาก สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างวัดนี้
วัดช้างล้อม อยู่ในเขตตัวเมืองศรีสัชนาลัย เป็นวัดสำคัญของเมือง มีเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่เป็นหลักของวัด ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่องตัวใหญ่สวยงามกว่าช้างเชือกอื่นๆ โดยรอบเหนือฐานเจดีย์จะมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทุกซุ้ม
วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ นับว่ามีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่างๆ กันมากมายเป็นศิลปะสุโขทัยแท้ก็มี เป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัยก็มี นอกจากนี้ภายในเจดีย์บางองค์ยังมีภาพเขียนผนังอีกด้วย แต่ในปัจจุบันลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว
วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ อยู่ไม่ห่างจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวนัก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ สิ่งสำคัญของวัดนี้ก็คือ เจดีย์ทรงลังกา ที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ทำให้ดูแปลกตากว่าเจดีย์ทรงลังกาวัดอื่นๆ
วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า วัดสระแก้ว มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นหลักของวัด ด้านหน้าของซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ทางด้านทิศตะวันตกมีสระน้ำอยู่สระหนึ่งทำให้สันนิษฐานว่าวัดนี้คือ วัดแก้วราชประดิษฐานที่มีกล่าวถึงในพงศาวดารเหนือนั่นเอง
วัดนางพญา เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพนมและลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ของวัดก่อด้วยศิลาแลงสูงใหญ่ และมีสภาพสมบูรณ์รอบฐานเจดีย์ มีเสาโคมไฟโดยตลอด มีบันไดขึ้นไปบนเจดีย์
การเดินทาง
การเดินทางไปยังอำเภอศรีสัชนาลัยจากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย) ถึงบริเวณกิโลเมตร 64 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร ระยะทาง 68 กิโลเมตร หรือโดยสารรถประจำทาง สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ได้ที่คิวรถ บริเวณตลาดเทศบาล นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางจากสวรรคโลกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท นักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. (055) 679211
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะน้อย อยู่เหนือเมืองศรีสัชนาลัยไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีเตาเผาที่ขุดพบแล้วกว่า 500 เตา ในบริเวณยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถือได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเมืองศรีสัชนาลัย มีการขุดพบเครื่องสังคโลกทั้งในสภาพสมบูรณ์และแตกหักเป็นจำนวนมาก ลักษณะเตาเผาจะเป็นรูปยาวรีคล้ายประทุนเรือจ้างยาวประมาณ 7-8 เมตร ศูนย์ศึกษาฯ ดังกล่าว ปัจจุบันมีอยู่ 2 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเตาที่ใช้เป็นที่ศึกษา มีหมายเลขเตาที่ใช้เรียกในการศึกษา คือ เตาที่ 42 และเตาที่ 61 ภายในตัวอาคารจะมีการตั้งแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ ตลอดจนวิวัฒนาการเครื่องถ้วยสมัยโบราณให้นักท่องเที่ยวชมอีกด้วย โดยศูนย์ฯ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และเวลา 13.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท
การเดินทาง
จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือ ทางประตูหม้อไปถึงบ้านเกาะน้อยราว 5 กิโลเมตร จะเห็นซากเตาเผาโบราณเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หรือจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1201 ลงมาที่บ้านเกาะน้อย ประมาณ 7 กิโลเมตร จะเห็นอาคารศูนย์ฯ อยู่ทางซ้ายมือ
อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เดิมชื่อป่าคา เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก มีความหมายถึงป่าคาหลวง หรือสันกลางแม่วังช้าง มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าแพ ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ น้ำตกตาดเดือน น้ำตกตาดดาว น้ำตกทรายขาว ถ้ำธาราสันต์ โป่งเดือด ถ้ำค้างคาว บริเวณอุทยานมีเนื้อที่ทั้งหมด 133,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2524 ติดต่อจองที่พัก หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย ตู้ ปณ. 10 ต. บ้านแก่ง อ. ศรี สัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. (055) 611179 ต่อ 163 หรือที่งานบริการบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
การเดินทาง
โดยรถยนต์จากจังหวัดสุโขทัย ตามถนนสายสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย (สายเก่า) จะเข้าสู่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยได้ 2 ทางคือ สายเก่า จากอำเภอสวรรคโลกเลี้ยวซ้ายไปอำเภอทุ่งเสลี่ยม ข้ามสะพานแม่น้ำยมไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางสายใหม่ สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงบ้านเมืองเก่า เลี้ยวซ้ายลงทางลูกรังถึงบ้านสารจิตรอีก 9 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อผ่านบ้านแก่ง บ้านปากคะยางและบ้านป่าคา ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และสายที่ 2 จากอำเภอศรีสัชนาลัยเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีสัชนาลัย ข้ามสะพานแม่น้ำยม ผ่านหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย เลี้ยวซ้ายไปตามทางสายใหม่ ศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก ถึงบ้านหนองอ้อ เลี้ยวขวาลงทางลูกรังไปเชื่อมกับทางสายแรกที่บ้านสารจิตร รวมระยะทางถึงอุทยานแห่งชาติฯ ประมาณ 45 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางชัดเจน สภาพเส้นทางจะเป็นทางราดยาง ขนาดสองทางวิ่ง ก่อนจะเข้าอุทยานฯ จะต้องผ่านห้วยซึ่งมีสะพานข้ามอยู่แล้ว สำหรับการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จะมีรถออกจากอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นรถสองแถวขนาดใหญ่ จอดที่ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธร อำเภอศรีสัชนาลัย มีป้ายเขียนนอกรถว่า "บ้านโป" จำนวน 1 คัน และมี "แม่เรืองทรัพย์" อีก 1 คัน ซึ่งรถทั้ง 2 คันจะออกเวลา 11.00 น. ค่าโดยสารถึงอุทยานฯ คนละ 30 บาท ในกรณีที่เดินทางเป็นหมู่คณะ อาจจ้างเหมาจากท่ารถดังกล่าวเข้าไปอุทยานฯ ได้ ราคาค่าจ้างเหมาต่อเที่ยวประมาณ 600 บาท