แผนที่ราชบุรี
- แผนที่ราชบุรี
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
ราชบุรี ดินแดนวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ที่ราบต่ำ ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดม แหล่งเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า
จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง ของแคว้นสุวรรณภูมิมา ตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ห่างจากกรุงเทพมหานครเบื้องทิศตะวันตกราว 110 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของจังหวัดราชบุรี ดินแดนอันเป็นที่มาของโอ่งเคลือบลายมังกรและผ้าทอบ้านไร่หรือผ้าขาวม้าอันลือชื่อ สำหรับผู้ไม่ใช่ชาวบ้านพื้นถิ่นน้อยคนนักจะเข้าใจว่า อุตสาหกรรมเครื่องปั่นดินเผาและหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง เป็นเป็นเพียงผลงานบางส่วนที่สะท้อนความหลากหลายของราชบุรีที่ฝากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม
แท้จริงแล้วดินแดนแห่งนี้มิได้มีแค่เพียงสถานที่ท่องเที่ยว ทางธรรมชาติเท่านั้น โอ่งลายมังกรและผ้าตีนจกยังเป็น ตัวแทนที่ให้ภาพเคลื่อนไหวของวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในสังคมราชบุรีด้วยในมุมมองหนึ่ง
ในพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่ประมาณ 5,120 ตารางกิโลเมตรของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี้มีแม่น้ำแม่กลองตัดผ่าน เป็นสายใยเชื่อมโยงพื้นที่ด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อแดนฝั่งสมุทรอ่าวไทยเข้ากับพื้นที่ตอนในอันเป็นต้นแหล่งของสายน้ำแม่กลอง
ราชบุรีเป็นเมืองในเครือข่ายสัมพันธ์ของอารยธรรมชายฝั่งทะเลสยามโดยมีเมืองโบราณคูบัวเป็นเมืองท่าติดต่อทะเลด้ เช่นเดียวกับนครปฐมหรือเมืองนครชัยศรีโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ลงมา กล่าวได้ว่า คูบัวโดดเด่นยิ่งกว่านครชัยศรีโบราณเสียอีก เพราะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเมืองเพชรบุรี (หรือพริบพรี)เลย ตลอดไปถึงเขตชะอำ (ในปัจจุบัน) อู่ทอง นครปฐม คูบัว เป็นเครือข่ายของเมืองท่าโบราณแต่ครั้งสมัยวัฒนธรรมทวารวดีเฟื่องฟู และเมืองคูบัวนั้นนับเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาค
เมื่อย่างเข้าสมัยที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจและปรากฏศิลปะแบบลพบุรีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป ตัวเมืองได้โยกย้ายศูนย์กลางจากคูบัวมาตั้งใหม่ที่ราชบุรีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แต่สามารถตอบรับเงื่อนไขใหม่ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนได้เหมาะสมและดีกว่า
อย่างน้อยที่สุดเมืองราชบุรีต้องเกิดขึ้นและกลายเป็นเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่18-19 สันนิษฐานว่าคงเป็นประมาณพุทธศตวรรษที่15-16 เครื่องปั่นดินเผาห้าราชวงศ์และสมัยซ้องที่พบในท้องแม่น้ำแม่กลองและแหล่งชุมชนโบราณบางแห่ง ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าจากสังคมภายนอกภูมิภาค แต่บรรดาเครื่องปั่นดินเผาผลิตจากภายในพื้นภูมิภาคก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น หม้อดินเผาคอสูง ซึ่งผู้บางท่านว่าเป็นศิลปกรรมทวารวดีตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18
ตัวเมืองราชบุรีได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองมาหลายสมัย จนกระทั่งครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2440 ได้ย้ายเมืองมาตั้งยังที่เป็นศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
ทิศเหนือ ติดอำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ทิศใต้ ติดอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดอำเภอเมตตา จังหวัดทวาย ประเทศพม่า
การปกครองแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ 104 ตำบล 935 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอจอมบึง อำเภอสวนผึ้ง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่ง อำเภอบางแพ อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านคา
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
- อำเภอวัดเพลง 15 กิโลเมตร
- อำเภอปากท่อ 22 กิโลเมตร
- อำเภอบางแพ 22 กิโลเมตร
- อำเภอโพธาราม 26 กิโลเมตร
- อำเภอจอมบึง 30 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านโป่ง 42 กิโลเมตร
- อำเภอดำเนินสะดวก 50 กิโลเมตร
- อำเภอสวนผึ้ง 60 กิโลเมตร
ราชบุรี ดินแดนวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ที่ราบต่ำ ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดม แหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาว ทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า
จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของ แคว้นสุวรรณภูมิมา ตั้งแต่สมัย ที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้ มีศูนย์กลาง การปกครองอยู่ ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ห่างจากกรุงเทพมหานครเบื้องทิศตะวันตกราว 110 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของจังหวัดราชบุรี ดินแดนอันเป็นที่มาของโอ่งเคลือบลายมังกร และผ้าทอบ้านไร่ หรือผ้าขาวม้าอันลือชื่อ สำหรับผู้ไม่ใช่ชาวบ้านพื้นถิ่นน้อยคนนัก จะเข้าใจว่า อุตสาหกรรมเครื่องปั่นดินเผา และหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง เป็นเป็นเพียงผลงาน บางส่วน ที่สะท้อนความหลากหลายของราชบุรีที่ฝากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม
แท้จริงแล้วดินแดนแห่งนี้มิได้มีแค่เพียงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเท่านั้น โอ่งลายมังกร และผ้าตีนจก ยังเป็นตัวแทนที่ให้ภาพเคลื่อนไหว ของวิวัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงในสังคมราชบุรีด้วยในมุมมองหนึ่ง
ในพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่ประมาณ 5,120 ตารางกิโลเมตรของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี้มีแม่น้ำแม่กลองตัดผ่าน เป็นสายใยเชื่อมโยงพื้นที่ ด้านตะวันออก ซึ่งติดกับเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อแดนฝั่งสมุทรอ่าวไทยเข้ากับพื้นที่ตอนในอันเป็นต้นแหล่งของสายน้ำแม่กลอง
ราชบุรีเป็นเมืองในเครือข่ายสัมพันธ์ของอารยธรรมชายฝั่งทะเลสยามโดยมีเมืองโบราณคูบัวเป็นเมืองท่าติดต่อทะเลด้ เช่นเดียวกับนครปฐม หรือเมือง นครชัยศรีโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ลงมา กล่าวได้ว่า คูบัวโดดเด่นยิ่งกว่านครชัยศรีโบราณเสียอีก เพราะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง กับเมืองเพชรบุรี (หรือพริบพรี)เลย ตลอดไปถึงเขตชะอำ (ในปัจจุบัน) อู่ทอง นครปฐม คูบัว เป็นเครือข่ายของเมืองท่าโบราณ แต่ครั้งสมัยวัฒนธรรม ทวารวดี เฟื่องฟู และเมืองคูบัวนั้นนับเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาค
เมื่อย่างเข้าสมัยที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจและปรากฏศิลปะแบบลพบุรีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป ตัวเมืองได้โยกย้าย ศูนย์กลางจากคูบัวมาตั้งใหม่ที่ราชบุรีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แต่สามารถตอบรับเงื่อนไขใหม่ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนได้เหมาะสมและดีกว่า
อย่างน้อยที่สุดเมืองราชบุรีต้องเกิดขึ้นและกลายเป็นเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่18-19 สันนิษฐานว่าคงเป็นประมาณพุทธศตวรรษที่15-16 เครื่องปั่นดินเผาห้าราชวงศ์และสมัยซ้องที่พบในท้องแม่น้ำแม่กลองและแหล่งชุมชนโบราณบางแห่ง ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าจาก สังคมภายนอกภูมิภาค แต่บรรดาเครื่องปั่นดินเผาผลิตจากภายในพื้นภูมิภาคก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น หม้อดินเผาคอสูง ซึ่งผู้บางท่านว่า เป็นศิลปกรรมทวารวดีตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18
การเดินทาง
ทางรถยนต์
ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางสายเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านนครปฐม เข้าราชบุรีหรือเส้นทางสายใหม่ (ทางหลวงหมายเลข 338) จากกรุงเทพฯ-พุทธมณฑลไปพบกับถนนเพชรเกษมก่อนถึงตัวเมืองนครปฐม 16 กิโลเมตร จากนั้นใช้ถนนเพชรเกษมตรงไปตัวเมือง รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
เดินทางโดยรถประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน วันละหลายเที่ยว รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 และที่จังหวัดราชบุรี โทร. (032) 338276, 338439
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ จังหวัดราชบุรีสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวัน ซึ่งมีทั้งรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690 สถานีรถไฟธนบุรี โทร. 0-2411-3102 และสถานีรถไฟราชบุรี โทร. (032) 337-002
นอกจากนี้ มีรถโดยสารประจำทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเพณีกินข้าวห่อ หรืออั้งหมี่ทอง เป็นพิธีสู่ขวัญมีขึ้นในเดือนเก้า ชาวกะเหรี่ยงถือว่าเดือนเก้าเป็นเดือนที่ไม่ดี บรรดาวิญญาณชั่วร้ายจะออกหากิน และก็จะกิน "ขวัญ" ทำให้เจ็บป่วย และอาจถสึงแก่ชีวิต นิยมจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ แต่ถ้าบางบ้านไม่สะดวกก็เปลี่ยนเป็นวันอื่นก็ได้ในเดือนเก้า ในพิธีมีการ "ต้มข้าวห่อ" เลี้ยงกัน ข้าวห่อ คือข้าวเหนียวห่อเป็นกรวย แล้วนำมาต้มให้สุกคล้ายขนมจ้างสมัยก่อนเวลารับประทานใช้จิ้มน้ำผึ้ง ปัจจุบันใช้จิ้มมะพร้าวขูด ในวันต้มข้าวห่อนี้จะมีพิธีสู่ขวัญด้วย เริ่มด้วยการเคาะไม้เป่าแคน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะใช้เชือกแดงผูกข้อมือให้ลูกหลาน เพื่อความเป็นสิริมงคล
งานเทศกาลองุ่นหวานและตลาดน้ำดำเนินสะดวก เป็นงานที่อำเภอดำเนินสะดวกจัดขึ้นมา เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะองุ่นที่มีปลูกกันมากในอำเภอดำเนินสะดวก และเป็นองุ่นที่มีรสหวานอร่อยที่สุดของประเทศ นอกจากจะเป็นการโชว์องุ่นที่มีคุณภาพแล้วยังมีสินค้าทางเกษตรอื่น ๆ ให้ได้ชมซื้อหาในราคาถูกอีกด้วย เช่น มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ ลิ้นจี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประกวดธิดาองุ่นหวาน การประกวดสินค้าทางการเกษตร งานนี้จะจัดในราวเดือนเมษายนของทุกปี
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแก่นจันทร์ ถนนเพชรเกษม นอกจากจะเป็นสถานที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปแล้ว ทางจังหวัดยังได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ในบริเวณกรมการทหารช่างราชบุรี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 600 เมตร เป็นหลักเมืองเก่าที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดหน้าพระธาตุ" ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่มีพระปรางค์สร้างด้วยอิฐฉาบปูน และมีฐานเป็นศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18 ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะจำลองแบบพระธาตุนครวัด รูปลักษณะตั้งอยู่ในระเบียงสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม บริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ ที่วิหารคตรอบลานพระปรางค์ มีพระพุทธรูปศิลา และสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่โดยรอบ มีบันไดและช่องคูหาเข้าไปถึงองค์พระปรางค์ มีความสูง 12 วา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 ศอก มีข้อสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นศาสนสถานของขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่มายังสุวรรณภูมิ สถานที่แห่งนี้จึงถูกดัดแปลงมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน
วัดหนองหอย เป็นที่ตั้งของพระวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม หรือ พระแม่กวนอิม อยู่บนยอดเขาตำบลเขาเหลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ไปทางถนนสายเขางู-เบิกไพร รถยนต์สามารถวิ่งขึ้นไปถึงบริเวณเชิงวิหารได้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ริมถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง มีลักษณะการจัดการแสดงทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา ธรณีวิทยา ศิลปะพื้นบ้าน รวมทั้งการาจัดแสดงตัวอย่างวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของลาวโซ่ง กระเหรี่ยง และไทยวน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างพร้อมมูล เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้น วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ คนละ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 321513
เมืองโบราณบ้านคูบัว อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว จากหลักฐานการขุดค้นพบปรากฏว่า ราชบุรีเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ซึ่งทาง กรมศิลปากรได้ขุดค้นและศึกษาเรื่องเมืองโบราณที่คูบัว ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ มากมาย เช่น เศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ ซึ่งหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ได้ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราฃบุรี และมีบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลง ตำบลคูบัว จากการศึกษาและค้นคว้าเมืองโบราณที่คูบัวนี้ ทำให้ทราบว่าได้รับอิทธิพลศิลปกรรมจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้ทราบว่า พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมากกว่า 1,000 ปี มาแล้ว
ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจก อยู่ในตำบลคูบัว เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะ ผ้าจกไท-ยวน เก็บตัวอย่างของผ้าจกที่มีลวดลายดั้งเดิม มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เปิดดูประวัติ เรื่องราวต่าง ๆ มีสาธิตการทอผ้า และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
เขาหลวง อยู่ในตำบลอ่างทอง ตั้งอยู่บนยอดเขามีพระพุทธรูปสร้างด้วยหิน ประชาชนเคารพนับถือมาก เป็นที่ชุมนุมนัดหมายกันมานมัสการในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เป็นเวลา 200 กว่าปีมาแล้ว
เขาน้อย อยู่เลยเขาหลวงไปตามถนนเพชรเกษมไม่ไกลนัก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 2 องค์ ประทับนั่งหันหลังให้กัน เป็นพระที่สร้างด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อเขาน้อย และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
เขาวัง เดิมชื่อว่า เขาวัดสัตตนาถ เป็นภูเขาลูกย่อมๆ สูงประมาณ 44 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร มีทางรถยนต์จากเชิงเขาถึงยอดเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังบนเขานี้ เหมือนอย่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้รับราชทูตฝั่งเศสที่นารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี
พระราชวังบนเขาวังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับครั้งเดียว เมื่อ พ.ศ. 2420 เพื่อออกรับราชทูตโปรตุเกส หลังจากนั้นไม่ได้เสด็จไปประทับอีกเลยจนตลอดรัชกาลต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ อุทิศให้เป็นธรณีสงฆ์ ซึ่งได้มีผู้มีศรัทธาได้ซ่อมแซมบางส่วนดัดแปลงตำหนักต่างๆ เป็นโบสถ์และกุฏิสงฆ์ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นวัดเรียกว่า วัดเขาวัง
เขาแก่นจันทน์ สูงประมาณ 141 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด มีถนนตัดขึ้นไปถึงยอดเขา บนยอดเขามีวิหารประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็น 1 ใน 4 องค์ ของพระ 4 มุมเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แล้วพระราชทานไปประดิษฐาน ณ เมืองรอบนอกพระนคร อันได้แก่ ราชบุรี ลำปาง ปราจีนบุรี และพัทลุง
หลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องลม ใกล้บริเวณเมืองเก่าริมถนนวรเดช อยู่ในใจกลางเมือง เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สร้างด้วยโลหะทองคำสัมฤทธิ์ ช่วงล่างสร้างด้วยไม้แก่นจันทร์ เป็นไม้เนื้อหอม สูงประมาณ2.26 เมตร
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ตลาดน้ำคลองลัดพลี มีมานานกว่า 100 ปีเศษมาแล้ว ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออก 500 เมตร ตลาดน้ำดำเนินสะดวกตั้งอยู่ที่คลองดำเนินสะดวก เหมาะที่จะไปเที่ยวชมในเวลาเช้า เนื่องจากแดดไม่ร้อนและมีเรือขายสินค้าเป็นจำนวนมาก
คลองดำเนินสะดวก เป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เริ่มตั้งแต่ประตูน้ำบางยาง แม่น้ำท่าจีน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก แม่น้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ประชาชนในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อถึงกันโดยสะดวกขึ้น
ตลอดสองฝั่งคลองดำเนินสะดวกที่มีความยาว 32 กิโลเมตร นี้มีคลองซอยsคลองเล็ก คลองน้อย แยกออกไปประมาณ 200 คลอง เช่น คลองสี่หมื่น คลองทองหลาง คลองโพธิ์หัก คลองขุนพิทักษ์ คลองศรีราษฎร์ คลองลัดราชบุรี คลองฮกเกี้ยน ฯลฯ
- การเดินทางโดยทางรถยนต์ ใช้เส้นทางปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 338) แยกขวาเข้าอำเภอดำเนินสะดวก
หรือไปตามทางหลวงสายเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านบางแค สวนสามพราน นครชัยศรี นครปฐม เลยกิโลเมตรที่ 83 ไปเล็กน้อย จะมีทางแยกซ้ายมือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 อีก 25 กิโลเมตร รวมระยะทาง 81 กิโลเมตร
หรือจากกรุงเทพฯ ไปตามสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านสมุทรสาคร รวมระยะทาง 63 กิโลเมตร จะมีแยกขวามือไปสมุทรสงคราม (ทางหลวงหมายเลข 326) สิ้นสุดที่ตัวเมือง รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 325 อีก 12 กิโลเมตร ถึงเขตดำเนินสะดวก ก่อนถึงสะพานธนะรัชต์ 200 เมตร จะมีป้ายบอกทางเข้าชมตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นทางเดียวกับทางเข้าวัดโชติธรรมยการาม เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ที่นี่มีท่าเรือพจวรรณ ซึ่งอยู่ติดกับตลาดน้ำคลองต้นเข็ม รวมระยะทาง 80 กิโลเมตร หรือ ถ้าไม่แวะเข้าที่แยกนี้ จะเลยสะพานธนะรัชต์ไปเลี้ยวขวาบริเวณที่จอดรถ บขส. จะมีท่าเรือเสรีเคมีเกษตร เป็นท่าเรือใหญ่มีเรือให้เช่าทั้งเรือหางยาวขนาดใหญ่จุได้ 22 คน และเรือหางยาวขนาดเล็กที่เรียกว่าเรือสองตอน จุ 6-8 คน โดยทั่วไปคิดชั่วโมงละ 200-300 บาท/ลำ
- รถประจำทาง มีรถธรรดาและปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490
นักท่องเที่ยวสามารถจะเดินทางไปกับรถยนต์ บขส. สายอื่นๆ ก็ได้เช่น สายกรุงเทพฯ -เพชรบุรี
กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-ประจวบฯ แล้วลงที่ตรงทางแยกบางแพ ต่อจากนั้นก็นั่งรถสองแถวซึ่งวิ่งระหว่างทางแยกบางแพไปดำเนินสะดวก มีตลอดเวลาทุกๆ 10 นาที
ตลาดน้ำที่มีชื่อในอำเภอดำเนินสะดวก มีดังนี้ คือ
ตลาดน้ำคลองโพธิ์หัก อยู่ในเขตตำบลประสาทสิทธิ์ เป็นคลองเล็ก ๆ ที่แยกจากคลองดำเนินสะดวกที่บริเวณหลัก 5 มีความยาวประมาณ 500 เมตร ตลาดน้ำคลองโพธิ์หักมีหลายชื่อ เช่น ตลาดน้ำบัวงาม ตลาดน้ำประสาทสิทธิ์ ตลาดน้ำหลักห้า ตลาดน้ำแห่งนี้มีเรือพ่อค้าแม่ค้ามาขายของทุกวัน (แม้แต่ในวันพระ แต่มีจำนวนน้อย) โดยปกติจะเริ่มติดตลาด เวลา 05.00 น. เรื่อยไป เรือจะมากที่สุดช่วงเวลา 06.30-08.00 น. จนถึงเวลา 11.00 น. ตลาดจะวาย เรือพ่อค้าแม่ค้าที่นำของมาขาย ในตลาดน้ำคลองโพธิ์หักนี้ มีมากตลอดลำคลอง ซึ่งทอดตัวผ่านบ้านหลักห้า มีที่สังเกตคือ ตลาดน้ำคลองโพธิ์หักนี้จะอยู่เยื้องกับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาหลักห้า ไปประมาณ 100 เมตร เรือแล่นจากท่าเรือเสรีเคมีเกษตรไปถึงตลาดน้ำคลองโพธิ์หัก ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม เป็นตลาดน้ำที่เดินทางเข้าไปได้ง่ายที่สุด เพราะอยู่ติดกับถนนสุขาภิบาล 1 ที่บริเวณท่าเรือพจวรรณและเป็นตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุด ตลาดน้ำนี้มีอาณาบริเวณตลาดคลองต้นเข็ม ปากคลองด้านที่บรรจบกับคลองเฮียกุ่ย จะมีร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ที่ไปชมตลาดน้ำนี้ สามารถเดินชมไปตามแนวคอนกรีตข้างลำคลอง ได้จนตลอดถึงปากคลองอีกด้านหนึ่งที่บรรจบกับคลองดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำแห่งนี้สามารถเดินทางไปได้โดยรถยนต์ เข้าไปตามถนนสายสุขาภิบาล 1 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวขวาเข้าท่าเรือพจวรรณซึ่งติดต่อกับตลาดน้ำคลองต้นเข็ม
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านโป่ง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านม่วง เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกเข้าไปอำเภอบ้านโป่ง ผ่านทางหลวงหมายเลข 3089 (โคกสูง-เบิกไพร) และข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองไปเพียงเล็กน้อย ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านม่วง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านม่วงนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทางวัดม่วง และชาวบ้านบ้านม่วง ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จะให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากบรรดาโบราณศิลปวัตถุ คัมภีร์ใบลาน รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงนี้ ได้จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำคัญของลุ่มน้ำแม่กลองในอดีต และจัดแสดงภาพถ่ายที่บอกเรื่องราวเกี่ยกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น ความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ - สังคม วัฒนธรรมของชุมชนบ้านม่วงกับชุมชนตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และชุมชนใกล้เคียง จัดแสดงเอกลักษณ์ของชาวมอญและเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านม่วงนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์ เสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทางพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (01) 316-0431
สระน้ำโกสินารายณ์ เป็นสระน้ำโบราณ ใกล้ที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง จากหลักฐานการค้นคว้าทางโบราณคดีแสดงว่า เคยเป็นเมืองโบราณมาแต่สมัยเก่าซึ่งได้ขุดพบพระกรของพระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวรทำด้วยหินทรายแดง 5 พระกรถือพระคัมภีร์ ลูกประคำ และดอกบัวกับพระบาทของพระโพธิสัตย์คู่หนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
บึงกระจับ ตั้งอยู่ในเขตสองอำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม แต่สะดวกที่จะเดินทางเข้าไปทางอำเภอบ้านโป่ง ในเส้นทางเบิกไพร-เขางู แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามคลองชลประทาน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร บึงกระจับแห่งนี้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก และจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโพธาราม
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยูหัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคต มีเรื่องกล่าว่าบริเวณนี้ เคยเป็นค่ายฝึกซ้อมรบเสือป่า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกิจการลูกเสือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และทางราชการเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญ จึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ไว้ เป็นที่ระลึก
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี องค์อัครราชูปถัมภก อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามประมาณ 10 กิโลเมตร ผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์หนังใหญ่ คือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน เป็นที่เก็บรักษาหนังใหญ่ 313 ตัว ที่ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทางวัดได้จัดแสดงหนังใหญ่ทุก ๆ วันเสาร์ เวลา 10.00 น. และสาธิตการแกะสลักตัวหนังใหญ่ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ พระอนุชิตวชิรวุฑโฒ วัดขนอน โทร. (032) 233386
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดคงคาราม เป็นวัดของพวกมอญซึ่งได้สร้างขึ้นโดยพญามอญ มีอายุประมาณ 100 กว่าปี ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร แต่เดิมได้ชื่อว่า วัดกลาง หรือ เภี้ยโต้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นผู้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดคงคาราม ภายในอุโบสถมีพระประธาน แกนในทำด้วยศิลาแลงและปิดทอง ฐานชุกชีทำเป็นบัวคว่ำ บัวหงาย จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพละเอียดอ่อน ภาพที่ออกมาแต่ละภาพเหมือนถ่ายทอดจากต้นแบบที่มีชีวิตจริง ซึ่งได้เขียนขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ ที่หาชมยาก
ถ้ำค้างคาว เขาช่องพราน ตั้งอยู่ตำบลเตาปูน มีเขาช่องพรานตั้งอยู่เบื้องหลัง อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ถ้าจะมาจากตัวเมืองราชบุรีสามารถไปได้ โดยใช้เส้นทางเขางู-เบิกไพร ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร เขาช่องพรานมีถ้ำที่สวยงาม คือ ถ้ำพระนอน มีพระพุทธรูปภายในถ้ำมากกว่าร้อยองค์และภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ มีความยาวถึง 9 เมตรเศษ สูง 1 เมตรเศษ มีพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนั้นยังมีถ้ำค้างคาว ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทุกวันในยามใกล้พลบค่ำ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป จะมีฝูงค้างคาวจำนวนมากบินออกจากถ้ำดูคล้ายกับควันที่ลอยออกมาจากปล่องไฟและจะบินกลับเข้าถ้ำในเวลาเช้า
ถ้ำสาริกา จากถ้ำค้างคาวเขาช่องพรานจะมีทางแยกซ้ายมือไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ในตำบลธรรมเสน มีเขาลูกเล็ก ๆ ภายในมีถ้ำสาริกา ซึ่งมีความสวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเมื่อคราวเสด็จประพาส และทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไว้บริเวณปากถ้ำ
สถานที่น่าสนใจ บริเวณในเขตอำเภอจอมบึง
พระพุทธฉายถ้ำฤๅษีเขางู จากตัวเมืองใช้เส้นทางสายราชบุรี-จอมบึง-สวนผึ้ง หรือทางหลวงหมายเลข 3087 ไป 7 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปถ้ำเขางู ตั้งอยู่ในเทือกเขางู สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปสลักในหินปางปฐมเทศนา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในจำนวน 4 องค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี มีงานนมัสการพระพุทธฉายเป็นประจำทุกปี ในวัน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11
นอกจากนี้ในบริเวณเทือกเขางู ยังมีถ้ำระฆัง และ เขาพระบาท ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานบนยอดเขาด้วย ปัจจุบันทางจังหวัดได้ปรับปรุงเป็นอุทยานหินเขางู
ถ้ำเขาบิน ตั้งอยู่บนรอยต่อของอำเภอเมือง และอำเภอจอมบึง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเส้นทางราชบุรี-จอมบึง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากปากทางจะมีถนนราดยางเข้าสู่บริเวณถ้ำอีก 1.7 กิโลเมตร ถ้ำเขาบินตั้งอยู่ในเทือกเขาบิน ซึ่งมีความสูงประมาณ 200 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินย้อยสวยงามมาก สามารถจินตนาการเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หลายชนิด สุดปลายถ้ำมีหินย้อยเป็นรูปนกตัวใหญ่กำลังกางปีกอันเป็นที่มาของชื่อถ้ำเขาบิน
สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล อยู่ห่างจากถ้ำเขาบินไป 11 กิโลเมตร ถ้ำจอมพลอยู่ในบริเวณสวนรุกขชาติ เดิมถ้ำจอมพลมีชื่อว่า ถ้ำมุจลินทร์ อยู่ในเขาชื่อ เขากลางเมือง มีความสูง 191 เมตร มีฝูงลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีป้ายบอกชื่อไว้อย่างชัดเจน เช่น สร้อยระย้า ผาวิจิตร แส้จามรี บรมอาสน์ ธาตุเนรมิต มัสยาสถิตย์ ประสิทธิ์เทวา และเกศาสยาม
นอกจากนี้ภายในถ้ำยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ มีงานฉลองกันเป็นประจำทุกปีในหน้าแล้ง เมื่อปี พ.ศ. 2483 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จประพาสถ้ำนี้ ทรงพอพระทัยหินงอกหินย้อยภายในถ้ำมาก โดยเฉพาะหินย้อยผาวิจิตร ซึ่งทำให้ทรงจินตนาการว่าเหมือนกับได้จับริ้วไหมอินทรธนูบนป่าของจอมพล จึงทรงพระราชทานนามถ้ำเสียใหม่ว่า "ถ้ำจอมพล"
สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล ได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้มอบให้กรมป่าไม้สงวนเนื้อที่ป่าบริเวณถ้ำจอมพลเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสวนผึ้ง
น้ำตกห้วยผาก อยู่ก่อนถึงธารน้ำร้อนบ่อคลึงประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้าย เข้าไปทางวัดห้วยผากประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกสายเล็ก ๆ เชิงเทือกเขาตะนาวศรี ชั้นของน้ำตกสามารถเดินเที่ยวชมได้
ธารน้ำร้อนบ่อคลึง อยู่ห่างจากตัวอำเภอสวนผึ้งไปตามถนนใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าสู่เหมืองบ่อคลึงประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นธารน้ำร้อนธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี เกิดจากสายน้ำไหลผ่านกรวด หิน ดิน ทราย ใต้ผิวโลกแล้วไหลเป็นธารน้ำ ซึ่งจะมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี เป็นน้ำร้อนบริสุทธิ์ ในบางวันน้ำร้อนจะมีอุณหภูมิอยู่ในระดับประมาณ 136 องศาฟาเรนไฮต์ และในบางวันก็ลดลงมาประมาณ 120 องศาฟาเรนไฮต์ ธารน้ำร้อนบ่อคลึงในช่วงฤดูหนาว ไอน้ำร้อนจะลอยกรุ่นเป็นหมอกผสมกับหมอกในอากาศตอนเช้า เป็นธารน้ำร้อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง
น้ำตกเก้าโจน หรือ น้ำตกเก้าชั้น ตั้งอยู่ที่บ้านผาปก อยู่ถัดจากธารน้ำร้อนบ่อคลึงไปประมาณ 3 กิโลเมตร จากลานจอดรถซึ่งอยู่ด้านล่าง ให้เดินทางด้วยเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงบริเวณตัวน้ำตก ตอนล่างของลำห้วยบ่อคลึงบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีมีน้ำตกเก้าโจน หรือ น้ำตกเก้าชั้นเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูง 9 ชั้น ตั้งอยู่ในหุบเขา ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ระยะทางเดินจากชั้นล่างจนถึงชั้นบนประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
น้ำพุร้อนโป่งกระทิง อยู่บนถนนสายชัฏป่าหวาย-โป่งกระทิง-ปากท่อ เป็นบ่อน้ำพุร้อน แบบบ่อธรรมดา ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร เมื่อมีคนจำนวนมากมายืนล้อมรอบบ่อและช่วยกันปรบมือ หรือ เคาะทำเสียงดัง น้ำในบ่อจะเริ่มเดือดจนมีพรายน้ำพุ่งมาเหนือผิวน้ำ
โป่งยุบ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเคย ก่อนถึงตัวอำเภอสวยผึ้ง 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร เกิดจากยุบตัวของแผ่นดิน ทำให้เกิดลักษณะหน้าผาสูงชัน มีลักษณะคล้ายกับแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่ หรือ ฮ่อมจ๊อม อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน โป่งยุบนี้มีอาณาบริเวณกว้างกว่า 10 ไร่ ซึ่งแต่เดิมท้องที่นี้เคยเป็นไร่นามาก่อน นับเป็นสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
สำนักสงฆ์หินสูง ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลตะนาวศรี เลยโป่งยุบไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักความสงบและเหมาะแก่การไปเที่ยวชม เพราะมีสวนเสาหินและหมู่หินรูปร่างต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ไร่กุหลาบอุษาวดี จากตัวอำเภอสวนผึ้งประมาณ 16 กิโลเมตร แยกเข้าไปห้วยน้ำใสอีกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นไร่เอกชนซึ่งปลูกกุหลาบพันธุ์ต่าง ๆ พื้นที่ไร่อยู่บนพื้นที่สูงและหุบเขาฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัด
พิพิธภัณฑ์ภโวทัย หรือ สวนภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นเรือนไทยประยุกต์ เดินทางจากหน้าสถานีตำรวจสวยผึ้งแยกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านวัดสวนผึ้งแล้วแยกขวาไปอีกจนข้ามสะพานก็จะถึงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ รวบรวมวัตถุโบราณสยามในอดีต รวมทั้งมีรถม้า พันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับของไทยชนิดต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบให้ทำจดหมายก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 211-189, (01) 486-9804