แผนที่เพชรบูรณ์
- แผนที่เพชรบูรณ์
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่สร้าง มา 2 ยุค คือ สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมมีชื่อว่า "เพชรบุร" หรือ "พืชปุระ" อันหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 346 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,668.416 ตารางกิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 114 เมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเลย
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอเขาค้อ 47 กิโลเมตร
อำเภอหล่มสัก 15 กิโลเมตร
อำเภอหล่มเก่า 57 กิโลเมตร
อำเภอน้ำหนาว 141 กิโลเมตร
อำเภอวังโป่ง 70 กิโลเมตร
อำเภอชนแดน 52 กิโลเมตร
อำเภอหนองไผ่ 58 กิโลเมตร
อำเภอบึงสามพัน 84 กิโลเมตร
อำเภอวิเชียรบุรี 107 กิโลเมตร
อำเภอศรีเทพ 122 กิโลเมตร
346 kilometres from Bangkok, Phetchabun borders on three regions, the North, the Central and the Northeast. The central part of the province is on the Pa Sak river basin with mountain ranges running along both the western and eastern sectors. Because of the fertility of the land, Phetchabun has always been an agriculturally productive area. The very name of the province actually means the land of crops and foods.
Today, Phetchabun is a province with rich tourism potential. Its climate is pleasant due to the mountainous and forested areas and it has a history of richness and prosperity for more than 1,400 years. As and Sukhothai styles have been discovered.
Phetchabun is administratively divided into the following districts: Muang, Lom Sak, Lom Kao, Chon Daen, Nong Phai, Wichian Buri, Si Thep, Bueng Sam Phan, Wang Pong, Nam Nao and Khao Kho.
การเดินทาง
ทางรถยนต์
แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-เพชรบูรณ์
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรีเลยไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์ พุแค ตรงกิโลเมตรที่ 125 แยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ต่อไปอีกประมาณ 221 กิโลเมตร ถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมระยะทางประมาณ 346 กิโลเมตร ใฃ้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง
ทางรถประจำทาง
รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถปรับอากาศ ชั้น 2 และรถธรรมดากรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-หล่มสัก จากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ตั้งแต่เวลา 09.20-21.30 น. โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 เพชรบูรณ์ โทร. (056) 721581 และมีบริษัทเอกชนบริการเดินรถปรับอากาศชั้น 1 ในเส้นทางเดียวกัน ได้แก่ เพชรทัวร์ โทร. 936-3230 ที่เพชรบูรณ์ โทร. (056) 711195 และถิ่นสยามทัวร์ โทร. 513-9066, 513-9077 ที่เพชรบูรณ์ โทร. (056) 721913
งานมะขามหวานและงานกาชาด กำหนดจัดงานในช่วงปลายเดือนมกราคมของทุกปี ภายในงานจะมีการประกวดมะขามหวาน การแสดงทางวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ มากมาย
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จะแห่พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไปรอบเมือง จนถึงบริเวณหน้าวัดไตรภูมิ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเพชรบูรณ์ จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำทั้ง 4 ทิศ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด พิธีอุ้มพระดำน้ำจะทำในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่บนถนนนิกรบำรุง ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สูงประมาณ 3 วา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงสร้างมาแต่ในสมัยกรุงสุโขทัย
เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเทพารักษ์ หลักเมือง ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเสมาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำเรงราชานุภาพทรงนำมาจากเมืองศรีเทพเมื่อปี พ.ศ. 2447 เป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
วัดไตรภูมิ ตั้งอยู่บนถนนเพชรรัตน์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานของพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะสมัยลพบุรี ชาวบ้านพบในแม่น้ำป่าสักบริเวณหน้าวัด จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดนี้ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไป และมีผู้พบในแม่น้ำตรงที่พบครั้งแรกอีก จึงถือกันเป็นประเพณีของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย จะมีการแห่พระพุทธมหาธรรมราชาไปรอบเมืองจนถึงบริเวณที่พบพระพุทธรูป จากนั้นตัวแทนของชาวเมืองเพชรบูรณ์ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้อุ้มพระพุทธรูปลงดำไปยังก้นแม่น้ำ แล้วโผล่ขึ้นมา ทำเช่นนี้จนครบทั้ง 4 ทิศ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และถ้าไม่ได้กระทำพิธีอุ้มพระดำน้ำจะเกิดฝนแล้ง พิธีอุ้มพระดำน้ำนี้จะทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์และวัดเสือ ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่เรียงกัน โดยวัดพระสิงห์อยู่ทางทิศเหนือ วัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง และวัดพระเสืออยู่ทางทิศใต้ มีโบราณสถานสำคัญคือ "พระปรางค์" ที่วัดพระแก้ว และพระเจดีย์หลังพระอุโบสถในวัดพระสิงห์ กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปที่ขุดพบนั้นสร้างมานานกว่าเจ็ดร้อยปี ขณะนี้พระปรางค์และพระเจดีย์ยังมีให้เห็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีกรุและโอ่งพระพุทธรูปและของสำคัญต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปทองคำเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเงิน แผ่นทองคำ และพระผงดินเผา แบบสุโขทัย
บริษัทจุลไหมไทย จำกัด ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ ประมาณ 21 กิโลเมตร ใกล้สามแยกวังชมภู เป็นบริษัทที่ผลิตเส้นใยไหม กรรมวิธีการผลิตยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก เริ่มจากการฟักไข่ไหมเป็นตัวหนอนและเข้าดักแด้ จากนั้นจึงนำมาสาวใยไหมออกเป็นเส้น นอกจากนี้ยังมีไร่หม่อนกว่า 2,000 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถขอเข้าชมการผลิตเส้นใยไหมได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมวิทยากรบรรยายที่ โทร. (056) 771102-6
เขารัง เป็นจุดชมวิวที่กว้างไกล อากาศดี ตั้งอยู่บนเส้นทางสายเพชรบูรณ์-ตะพานหิน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดเมืองเพชรบูรณ์ ถนนสายนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนที่สร้างทางจำนวนมาก โดยเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
สวนรุกขชาติผาเมือง ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ "หนองนารี" ตั้งอยู่ริมถนนนารีพัฒนา หมู่ที่ 5 ตำบลสะเดียง หลังสนามกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากตัวเมือง 2 กิโลเมตร มีบึงน้ำขนาดใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหาร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเพชรบูรณ์
อ่างเก็บน้ำชลประทางห้วยป่าแดง เป็นอ่าเก็บน้ำที่กรมชลประทานสร้างกั้นห้วยป่าแดงในเขตตำบลป่าเล่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กิโลเมตร ชาวเมืองเพชรบูรณ์ เรียกอ่างเก็บแห่งนี้ว่า “ทะเลสาบเพชรบูรณ์” เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีความสวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำ มีเพิงขายอาหารประเภทข้าวเหนียวส้มตำ และที่มีชื่อที่สุดคือ ปลานิลทอดและปลานิลเผา ห้วยป่าแดง
น้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก ลักษณะเป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงมาทั้งหมด 12 ชั้น ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลนาป่า ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 37 กิโลเมตร โดยใช้ถนนเพชรเจริญ สู่บ้านเฉลียงลับ ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสายห้วยใหญ่ บ้านน้ำร้อน จนมาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 2275 จากจุดนี้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 300 เมตร จะเห็นทางเข้าน้ำตกทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามไหล่เขาประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 1,800 เมตร
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองไผ่
สวนรุกขชาติซับชมพู แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ที่บ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ไปอีก 8 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดของชาวเพชรบูรณ์
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอวิเชียรบุรี และชาวเมืองใกล้เคียงเป็นอันมาก ทางอำเภอจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันกองทัพไทย เป็นเวลา 3 วัน คือในวันที่ 25-27 มกราคม ของทุกปี เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับจังหวัด
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เมืองเก่าศรีเทพ เดิมชื่อ "เมืองอภัยสาลี" ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น "เมืองศรีเทพ" เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เมืองศรีเทพเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 2,889 ไร่ หรือ 4.7 ตารางกิโลเมตร ภายในตัวเมืองศรีเทพแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เมืองส่วนใน มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 8 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และมีโบราณสถานที่ขุดแต่งแล้ว และยังไม่ได้ขุดแต่งประมาณ 70 แห่ง ส่วนเมืองส่วนนอก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน มีขนาดเป็น 2 เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 7 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และมีโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกับเมืองส่วนใน
โบราณสถานและสถานที่สำคัญ มีดังนี้
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อยทางด้านขวามือศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)
โบราณสถานเขาคลังใน เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า “เขาคลัง” ก่อสร้างประมาณพุทธศตรวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวาราวดี มีลักษณะของศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี โบราณสถานโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งเป็นลักษณะของทับหลัง และเสาประดับกรอบประตู เป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวน ต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระหว่างตัวปราสาททั้งสองแห่ง คือ ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ มีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
โบราณสถานอื่นๆ นอกจากโบราณสถานหลักแล้วยังมีโบราณสถานย่อยๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้เขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลงมีพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น มีโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี และมาก่อสร้างทัพในระยะที่มีการรับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ
สระแก้วสระขวัญ สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรนำชมและบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. (056) 799466 การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ด้านขวามือ
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเขาค้อ
ไร่ บี เอ็น จากบ้านแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 (ทางหลวงหมายเลข 12) มีทางหลวงหมายเลข 2196 เข้าไปอีก 3 กิโลเมตร จะเห็นป้ายชี้ทางเข้าไร่อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ในบริเวณไร่มีการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวนานาชนิด เช่น บรอคเคอรี่ หอมห่อ ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ ฯลฯ ดอกไม้ เช่น คาร์เนชั่น แกลดิโอลัส แอสเตอร์ ฯลฯ และมีการขายผลิตผลหลากหลายประเภททั้งของสดและของแปรรูป
เขาค้อ เป็นชื่อเรียกรวมบริเวณเทือกเขาน้อยใหญ่ของทิวเขาเพชรบูรณ์ด้านใต้ มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ภูเขาที่สำคัญในเทือกนี้ได้แก่ เขาค้อ มียอดเขาสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่า มียอดสูงประมาณ 1,290 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และเขาใหญ่ สูงประมาณ 865 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นก็มีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย เขาอุ้มแพ เป็นต้น ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้มีเขตป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ในเขตเขาค้อก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดปี และค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาว
สถานที่ท่องเที่ยวบนเขาค้อ
อนุสาวรีย์จีนฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ ตั้งอยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย อยู่ทางด้านซ้ายมือติดกับถนนใหญ่
ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์ เป็นฐานสำคัญฐานหนึ่งในการเข้ายึดพื้นที่ ปัจจุบันทางการได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ เปิดให้คนได้เข้าชมทุกวัน โดยการนำอาวุธปืนใหญ่ ซากรถถัง และอาวุธที่ใช้สู้รบในการรบที่บนเขาค้อมากมาย รวมทั้งการจัดห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย คิดค่าชมคนละ 10 บาท การเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2169 เลยกิโลเมตรที่ 28 ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ สร้างขึ้นเพื่อยกย่องวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2525 โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ และทหาร ฐานกว้าง 11 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีที่เริ่มปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ความสูงจากแท่นบูชาถึงยอดสูง 24 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่เริ่มยุทธการครั้งใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีสิ้นสุดการรบ ความกว้างฐานสามเหลี่ยมด้านละ 2.6 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นปีที่สร้างอนุสรณ์สถาน ผนังภายในบันทึกประวัติ และรายชื่อวีรชนผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) อยู่เลยไปอีก 1 กิโลเมตร
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ ตั้งอยู่บนยอดเขาติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริธาตุ ซึ่งอันเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน เป็นประจำ
หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ บริเวณด้านนอกของหอสมุดตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจักงาน “วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ” ซึ่งมีเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนเขาย่า ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเขาค้อ ทางขึ้นค่อนข้างชันมาก พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริ และทรงตรวจเยี่ยมราษฎร อำเภอเขาค้อ และอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลม มีทั้งหมด 15 ห้อง เป็นพระตำหนักที่มีรูปทรงแปลกกว่าพระตำหนักอื่นๆ บริเวณโดยรอบของพระตำหนัก ได้จัดตกแต่งด้วยพันธุ์พืช ไม้ดอกเมืองหนาวหลากชนิด การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2196 ถึงกิโลเมตรที่ 29 สี่แยกสะเดาะพง เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2258 ขึ้นไปอีก 4 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายขึ้นพระตำหนัก ทางขึ้นค่อนข้างชัน
อ่างเก็บน้ำรัตนัย หรืออ่างเก็บน้ำบ้านรัตนัย 1 อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2325 เลยกิโลเมตรที่ 5 ไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางเข้าอ่างเก็บน้ำทางด้านซ้ายมือ เข้าไปตามทางเดินอีกประมาณ 400 เมตร อ่างเก็บน้ำรัตนัยเป็นอ่างเก็บน้ำความจุ 2,020,000 ลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มีอาคารระบายน้ำล้น กว้าง 15 เมตร พร้อมทำนบดิน สูง 15 เมตร ยาว 250 เมตร ในบริเวณอ่างเก็บน้ำมีลักษณะคล้ายทะเลสาบ ในตอนเย็นจะมีลมพัดเย็นสบายเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน
น้ำตกศรีดิษฐ์ เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดทั้งปี เคยเป็นที่อยู่ของ ผกค. มาก่อน มีครกตำข้าวที่ ผกค. สร้างขึ้นโดยใช้พลังน้ำตก เป็นที่พักผ่อนรับประทานอาหารและเล่นน้ำได้ การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2196 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าน้ำตก
สวนสัตว์เปิดเขาค้อ มีทั้งสัตว์ที่ปล่อยตามธรรมชาติและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในกรง หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าโครงการสวนสัตว์เปิดเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรี ดิษฐุ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร
เนินมหัศจรรย์ อยู่ตรงกลางกิโลเมตรที่ 17.5 ถนนสายนางั่ว-สะเดาะพง (หมายเลข 2258) เมื่อขับรถมาถึงตรงนี้แล้ว และดับเครื่องรถจะถอยหลังขึ้นเนินได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาพลวงตา เนื่องจากวัดระดับความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็นทางขึ้นเนิน การเดินทางและสถานที่พัก จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร หรือเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างเล็กและลาดชัน ควรใช้รถปิคกระบะหรือรถตู้สภาพดี นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ปากทางขึ้นเขาค้อ บริเวณแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 ในราคาวันละประมาณ 600 บาท รถจะมีตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หรือที่บริเวณตลาดเทศบาล ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ราคาวันละประมาณ 800 บาท บนเขาค้อมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ บ้านพักทหารม้า กิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงสาย 2196 กองพลทหารม้าที่ 28 และเรือนพักผู้ติดตาม บริเวณพระตำหนักเขาค้อ ติดต่อ กองพลทหารม้าที่ 1 โทร. (056) 721934-6 ต่อ 3120, 722011 นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางขึ้นเขาค้ออีกหลายแห่ง
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหล่มสัก
ถ้ำฤาษีสมบัติ บนทางหลวงหมายเลข 21 บริเวณกิโลเมตรที่ 251-252 อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ราว 36 กิโลเมตร มีทางราดยางแยกเข้าไป 4 กิโลเมตร ปากทางมีป้ายบอกทางเข้าถ้ำสมบัติ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำเอาทองคำแท่งจำนวนมากจากกระทรวงการคลังมาเก็บซ่อนไว้ในถ้ำนี้ แต่ปัจจุบันได้ขนย้ายออกไปหมดแล้ว การเข้าชมภายในถ้ำควรมีไฟฉายหรือตะเกียงนำทางด้วย
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ค่ายลูกเสือพ่อขุนผาเมือง อำเภอหล่มสัก อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสักประมาณ 3 กิโลเมตร พระรูปทำด้วยโลหะ ประดิษฐานในอิริยาบทยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น อนุสาวรีย์นี้เป็นที่สักการะของชาวเพชรบูรณ์และผู้เดินทางผ่านไปมาในเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกและสวยงาม ทั้งยังเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิที่สำคัญอันเนื่องจากความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิดทางการเมือง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าจึงเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่รักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ของการสู้รบ
และความสวยงามทางธรรมชาติที่สมบูรณ์
ลักษณะภูมิอากาศ ภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้ายภูกระดึงและภูหลวง เนื่องจากมีความสูงในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบาย ฝนตกชุกในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ
เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาผิดจากอุทยานแห่งชาติโดยทั่วไป ดังนั้นจุดที่น่าสนใจต่างๆ จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ด้านประวัติศาสตร์
สถานที่ที่อดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ
พิพิธภัณฑ์การสู้รบ (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบ มีสภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมจุได้ 80 คน ใช้ในการบรรยายสรุปหรือประชุมสัมมนา และเป็นสถานที่ติดต่อขอข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ
โรงเรียนการเมืองการทหาร ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 ถูกปกคลุมด้วยป่ารกครึ้มหนาแน่น เมื่อปี 2513 เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ปี พ.ศ. 2520 ก่อตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น ให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการกับการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่
โรงพยาบาลรัฐ อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเกือบครบถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างดี โดยเฉพาะการผ่าตัด สามารถผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลจากหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2522 เพิ่มแผนกทำฟัน วิจัยยา และเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมือง การรักษายังคงมีการฝังเข็ม และใช้สมุนไพรอยู่ด้วย
ลานอเนกประสงค์ เป็นบริเวณลานหินที่กว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐ ใช้เป็นที่พักผ่อนและสังสรรค์ในหมู่สมาชิกในโอกาสสำคัญต่างๆ
สุสาน ทปท. เป็นสถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้บริเวณลานอเนกประสงค์
ที่หลบภัยทางอากาศ เป็นสถานที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดทางอากาศจากทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นโพรงถ้ำที่ซ่อนตัวในแนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทางอากาศ มีอยู่หลายแห่งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน
หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชน มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอำเภอหล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบางๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
- ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหินซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่ม เป็นปม ขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นคนไข้ของโรงพยาบาล เนื่องจากอยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะภาพวิวพระอาทิตย์ตกดินจะสวยงามไม่แพ้จุดชมวิวอื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งเมื่อรบชนะ
น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตก ระยะทางประมาณ 400 เมตร จะถึงน้ำตกร่มเกล้าก่อน และเดินลงไปอีกประมาณ 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภารดรซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำตกร่มเกล้า เกิดจากลำธารเดียวกันแต่มีความสูงน้อยกว่าและกระแสน้ำแรงกว่า
น้ำตกศรีพัชรินทร์ ตั้งชื้อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะคล้ายน้ำตกเหวสุวัตที่เขาใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า บริเวณน้ำตกมีแอ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับเล่นน้ำ
น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตก 32 ชั้น มีต้นน้ำจากยอดเขาภูหมันไปตามห้วยน้ำหมัน ซึ่งมีน้ำตลอดปี น้ำตกหมันแดงจะมีชื่อแต่ละชั้นที่คล้องจองกันตามสภาพความสวยงามแปลกตา ห้อมล้อมด้วยป่าดงดิบอันสมบูรณ์ การเดินทางใช้เส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า ถึงหลักกิโลเมตรที่ 18 มีทางแยกซ้ายเป็นทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ผ่านป่าเขามีพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ป่า ป่าเมเปิ้ล และทุ่งหญ้า
น้ำตกผาดลาด ตั้งอยู่ด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ ทางเข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของการพลังงานแห่งชาติ จากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตกและลำน้ำสายใหญ่ มักจะเป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนักแต่มีน้ำมากตลอดปี ดังนั้นการพลังงานแห่งชาติจึงสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในบริเวณใกล้เคียง
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่มีความสูงมากแห่งหนึ่งในเขตอุทยานฯ ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางเข้าสู่ตัวน้ำตกต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจึงเดินตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะได้ยินเสียงน้ำตก เดินไปตามเสียงอีกไม่นานก็จะถึงด้านบนของน้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็กๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือเรียกชื่อพื้นเมืองว่า “น้ำตกด่าน-กอซาง” ซึ่งหมายถึงด่านตรวจของ ผกค. ที่มีกอของไม้ไผ่ซาง
ธารพายุ (จุกชมวิว) อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 32 ตามเส้นทางภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเลภูเขาและทะเลหมอกได้อย่างสวยงามมีสวนรัชมังคลาภิเษก สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางและที่พัก การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีหลายเส้นทาง แต่ทางที่ดีที่สุดคือ เส้นทางจากทางหลวงหมายเลข 12 ตรงสามแยกบ้านแยง เลี้ยวขวาไปสู่บ้านห้วยตีนตั่ง-บ้านห้วยน้ำไซ-ฐานพัชรินทร์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร เป็นเส้นราดยางตลอดสาย อีกเส้นทางหนึ่งคือ ตามทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาล บ้านเหมืองแบ่ง บ้านม้งทับเบิก ถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นทางราดยาง ค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยวมาก ควรใช้รถสภาพดีมีกำลังสูงและใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีรถสองแถวบริการขึ้นภูหินร่องกล้าทุกวัน วิ่งวันละ 7 เที่ยว ออกเวลา 08.00, 09.30, 11.00, 12.30, 14.00, 15.30 และ 17.00 น. รถจะจอดอยู่บริเวณตลาดสมใจ (ท่ารถนครไทย) ค่าโดยสารคนละ 20 บาท หรือเช่าเหมาคันละประมาณ 550 บาท ถ้าค้างแรมประมาณ 750 บาท ติดต่อจองที่พัก อาหาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานบริการบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223 และ 579-5734
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหล่มเก่า
วัดนาทราย เป็นวัดเก่าแก่ ปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "วัดศรีมงคล" ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ความน่าสนใจของวัดนี้อยู่ที่ผนังภายในโบสถ์ทั้งสี่ด้าน ซึ่งมีภาพเขียนสวยงามตามแบบโบราณ เกี่ยวกับประวัติพระเจ้าสิบชาติ และภาพสะท้อนให้เห็นชีวิตของสังคม เช่น การประกอบอาชีพโดยการค้าขายทางเรือ และมีภาพนรก-สวรรค์ การเดินทาง ใช้ทางหลวงสายหล่มเก่า-วังบาล ระยะทางจากอำเภอหล่มเก่าประมาณ 3 กิโลเมตร และจากทางแยกเข้าหมู่บ้านนาทราย หมู่ที่ 2 เป็นระยะทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอน้ำหนาว
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 อยู่ในท้องที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น กระทิง ช้าง กวาง เก้ง หมาไน เสือ กระต่ายป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ และนกชนิดต่างๆ เทือกเขาสูงบางแห่งยังประกอบด้วยหน้าผาสูงชันที่สวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง ผามัดพริก ผาป่าเล่า นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงาม เช่น ถ้ำห้วยประหลาด หรือถ้ำมรกต ถ้ำผาหงษ์ ถ้ำน้ำหนาว น้ำตกเหวทราย น้ำตกทรายทอง น้ำตกพรานนก
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอุทยานฯ
ทุ่งหญ้ากงวัง หรือ ทุ่งกงวัง จากหน่วยพิทักษ์ถ้ำห้วยประหลาด บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงสายหล่มสัก-ชุมแพ ลึกเข้าไปทางด้านหลังของหน่วยพิทักษ์ถ้ำห้วยประหลาดประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีทุ่งหญ้าตามธรรมชาติที่กว้างหลายตารางกิโลเมตร เรียกว่า ทุ่งหญ้ากงวัง เป็นทุ่งหญ้าที่มีหญ้าขึ้นอยู่นานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่มากมาย
ถ้ำผาหงษ์ ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นเขาสูง มีทางเดินเท้าขึ้นยอดเขาประมาณ 100 เมตร เพื่อชมวิวทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม
สวนสนบ้านแปก ทางเข้าอยู่ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบ ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก
สวนสมภูกุ่มข้าว ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) มีทางลูกรังระยะทาง 15 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสามใบ ลำต้นขนาดสูงใหญ่ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เมื่อยืนอยู่บนเนินเขาภูกุ่มข้าว จะเห็นยอดสนอยู่ในระดับสายตาเป็นแนวติดต่อกันทั้งสี่ด้าน ส่วนทางทิศใต้ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์หรือเขื่อนน้ำพรม
น้ำตกซำผักคาว อยู่ตอนบนของลำห้วยสนามทราย มีทางเดินเท้าเข้าไปได้ตรงหลักกิโลเมตรที่ 64 ของถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ ระยะทางเดินเท้าประมาณ 400 เมตร น้ำตกมีความสูงประมาณ 3 เมตร
น้ำตกทรายแก้ว อยู่ห่างจากน้ำตกซำผักคาวประมาณ 500 เมตร มีทางเท้าซึ่งเดินจากถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ ตรงกิโลเมตร 67.5 น้ำตกมีความสูงประมาณ 5 เมตร
น้ำตกทรายเงิน อยู่ห่างจาก น้ำตกทรายแก้ว ประมาณ 700 เมตร มีทางเท้า จากถนนสาย หล่มสัก-ชุมแพ เช่นเดียวกัน ปากทางเข้าน้ำตก อยู่บริเวณ หลักกิโลเมตร ที่ 64.5 น้ำตก มีความสูง ประมาณ 5 เมตร
น้ำตกเหวทราย ทางเข้า อยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตก ที่เกิดขึ้นจาก ห้วยสนามทราย ซึ่งต้นห้วย อยู่ที่ป่าดงดิบ ที่เรียกว่า ดงแหน่ง ไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้ เป็นแนวธรรมชาติ ที่แบ่งเขตแดน ระหว่าง อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ น้ำในห้วยสนามทราย จะไหลไปลง ลำน้ำเชิญ และลำน้ำเชิญ จะไหลผ่าน ลงแม่น้ำพอง จนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น น้ำตกเหวทรายนี้ เป็นต้นน้ำตก ที่มีความสูงสุด ในบรรดาน้ำตก ทั้ง 5 แห่ง ซึ่งเกิดจาก ลำห้วยสนามทราย มีความสูง 20 เมตร บริเวณลำห้วย ใต้น้ำตก มีแอ่งน้ำ สามารถเล่นน้ำได้ มีบริเวณ สำหรับตั้งแคมป์ หรือเต็นท์พักแรมได้ ใต้น้ำตก มีชะง่อนหิน เป็นเพิง สามารถหลบฝน หรือพักแรมได้ บรรยากาศ ตามบริเวณลำน้ำ น่าเดินเล่น เพราะมีต้นไม้ ปกคลุมตลอด
น้ำตกทรายทอง เป็นน้ำตก ที่มีความกว้างที่สุด คือ ประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่น น่านั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะ ในฤดูฝน คือประมาณ เดือนมิถุนายน - ตุลาคม ของทุกปี มีทางเดินเท้า มาทางน้ำตกเหวทราย ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร
น้ำผุด จากน้ำตกทรายทองไปไม่ไกล จะพบกับธรรมชาติที่พิสดารและสวยงาม คือมีน้ำไหลซึมตามก้อนหินผุดออกมาเป็นบ่อๆ คล้ายๆ กับบ่อน้ำร้อนที่ผุดออก
ภูผาจิต (ภูด่านอีป้อง) ทางเข้าอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 69 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 6-7 กิโลเมตร สภาพป่าสวยงามมีลักษณะเด่นคือ ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสัณฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มีที่ราบคล้ายภูกระดึง มีไม้สนขึ้นอยู่ที่เดียวกัน ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว คือสูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเล
หนองปลาไหล อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ชำบอนประมาณ 5 กิโลเมตร หนองปลาไหล เป็นหนองน้ำที่อยู่ใจกลางของป่าสน มีน้ำอยู่ตลอดปี เป็นหนองน้ำที่มีปลาไหลอยู่ชุกชุม จึงได้ชื่อว่าหนองปลาไหล ในฤดูแล้งบริเวณทุ่งหญ้าหนองปลาไหลจะถูกไฟไหม้เกือบทุกปี พอฤดูฝนมาถึงรอบบริเวณหนองน้ำ พรรณไม้ต่างๆ ก็จะเริ่มผลิดอกออกช่อ ทุ่งหญ้าก็แลดูเขียวชอุ่มมีชีวิตชีวาขึ้นหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป
หนองน้ำขุ่น หนองขุ่นเป็นหนองน้ำซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ตัวหนองน้ำอยู่บริเวณข้างลำห้วย น้ำพรม ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ บริเวณหนองน้ำขุ่นมีป่าสนสลับกับป่าดงดิบ ห่างจากสำนักงานอุทยานฯ น้ำหนาว ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน จึงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และสัตว์ปาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวข้ามไปมาโดยอาศัยหนองน้ำขุ่นนี้เป็นแหล่งน้ำ
น้ำตกตาดพรานบา ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตรที่ 20 ทางหลวงบ้านห้วยสนามทราย อำเภอหล่มเก่า เป็นทางลูกรัง รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ จะมีน้ำตกขนาดใหญ่ตกลงจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำจะตกจากหน้าผาพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่าง โดยลำน้ำจะตกลงสู่เบื้องล่างเป็นสองชั้น น้ำตกแห่งนี้มีน้ำตกตลอดทั้งปี อันเกิดจากลำน้ำเชิญ สาเหตุที่มีชื่อว่าตาดพรานบาเป็นผุ้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก
ผาล้อม ผากอง ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5-7 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่สูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,134 เมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีค่ามาก บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 874 เมตร ผาต้นฮอมมีความสูงประมาณ 900 ฟุต และผาอื่นๆ อีกหลายแห่ง
ถ้ำใหญ่น้ำหนาว (ภูน้ำริน) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีทางลูกรังเข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ถ้ำใหญ่น้ำหนาวอยู่บนเขาสูงประมาณ 955 เมตร ลักษณะเป็นหินปูน เป็นถ้ำใหญ่ที่มีความวิจิตรพิสดารของธรรมชาติ มีหินงอกหินย้อยและแปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำริน ภายในถ้ำจะมีปล่องธรรมชาติที่แสงแดดสามารถส่องไปในถ้ำซึ่งมีอยู่เป็นช่วง ภายในถ้ำเป็นที่อาศัยของค้างคาวนับเป็นจำนวนแสนตัว ความลึกของตัวถ้ำนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีความลึกมาก และยังไม่มีผู้ใดเข้าไปทำการสำรวจอย่างทั่วถึง การเดินทางและที่พัก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 50 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) การเดินทางจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสี่แยกหล่มสักระยะทางประมาณ 39 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ รายละเอียดเรื่องบ้านพักและอาหาร ติดต่อแผนกจองบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน โทร. 579-7223, 579-5734