แผนที่ยะลา
- แผนที่ยะลา
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
ยะลา คำว่า ยะลา มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า ยะลอ ซึ่งแปลว่า “แห” เพราะสถานที่ตั้งเมืองเดิมคือ บ้านยะลอ มีภูเขารูปร่างคล้ายแหตั้งอยู่บริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม ได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองใหม่หลายครั้ง ในที่สุดมาอยู่ที่เมืองนิบง (นิบง แปลว่า ไม้หลาวชะโอน) จนถึงปัจจุบัน
จังหวัดยะลา แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทย ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2310 หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในบริเวณแถบนี้ต่างก็ประกาศตัวเป็นอิสระ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับสั่งให้กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท เสด็จยกทัพหลวงไปปราบ และตีเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. 2332 เมืองยะลาก็ยังเป็นท้องที่ในเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. 2351 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ เมืองรามัน และเมืองยะลา สำหรับเมืองยะลานั้น มีต่วนยาลอ เป็นพระยาลอ และได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองกันมาหลายครั้ง จังหวัดยะลาจึงเป็นจังหวัดๆ หนึ่งของประเทศไทย ก่อนที่จะมีการประกาศยุบเลิกมณฑล ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบแห่งราชอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2476
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถไฟ 1,055 กิโลเมตร ทางรถยนต์ 1,084 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 4,521 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ราบมีน้อย ประชากรของจังหวัดยะลาส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาชีพที่สำคัญได้แก่การทำสวนยาง การเพาะปลูกพืชไร่ ทรัพยากรที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ดีบุก และป่าไม้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยระหว่าง 21-27 องศาเซลเซียส มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และประเทศมาเลเซีย
การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 56 ตำบล 341 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง อำเภอกรงปินัง
การเดินทาง
ทางรถยนต์
ทางรถยนต์ ยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ผ่านชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา-ปัตตานี-ยะลา รวมระยะทาง 1,084 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
สำหรับบริการรถโดยสารประจำทางติดต่อได้ที่ บริษัทขนส่ง จำกัด สถานีเดินรถภาคใต้ เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ - ยะลา ทุกวัน วันละ 1 เที่ยว เวลา 18.30 น. (รถธรรมดา) และ 18.00 น. (รถปรับอากาศ) รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 www.transport.co.th และบริษัทเอกชน บริการระหว่างกรุงเทพฯ – ยะลา – เบตง ติดต่อบริษัท ไทยเดินรถ โทร. 0 2435 5015 และบริษัท ปิยะทัวร์ โทร. 0 2435 5014
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถ กรุงเทพฯ - ยะลา ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690 รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2220 4334 www.railway.co.th สถานีรถไฟยะลา โทร. 0 7321 4207
ทางเครื่องบิน
ทางอากาศ บริษัท การบินไทย มีบริการเครื่องบินระหว่าง กรุงเทพฯ - ปัตตานี จากนั้นต้องไปต่อรถโดยสารปัตตานี-ยะลา ระยะทาง 35 กม. หรือใช้เครื่องบินระหว่างกรุงเทพฯ - หาดใหญ่ สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 สำนักงานหาดใหญ่ โทร. 0 7423 3433 www.thaiairways.com ยะลาอยู่ห่างจากหาดใหญ่ 132 กิโลเมตร (ตามทางรถยนต์) จากหาดใหญ่-ยะลา สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถไฟ รถประจำทาง รถแท็กซี่ (ไม่ปรับอากาศ) และรถตู้ปรับอากาศ ค่ารถประจำทาง คนละ 35 บาท ค่ารถแท็กซี่ 60 บาท และรถตู้ปรับอากาศ 80 บาท คิวรถอยู่บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 และถนนชีอุทิศ ส่วนรถไฟ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่
งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาอาเซี่ยน ยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง ที่นิยมเสียงของนกเขาและยังเชื่อว่า นกเขาเป็นสัตว์มงคลที่จะนำโชคลาภมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะหากเป็นนกเขาที่มีลักษณะถูกต้องตามตำรา ด้วยเหตุนี้ทางเทศบาลเมืองยะลา ร่วมกับชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาจังหวัดยะลา จึงจัดให้มีการแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงแชมป์อาเซี่ยน ครั้งที่ 1 ขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2529 ต่อมาได้จัดเป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัดยะลา ณ บริเวณสนามสวนขวัญเมือง กำหนดการจัดงานคือ วันเสาร์-อาทิตย์ แรกของเดือนมีนาคม ทุกปี
งานสมโภชหลักเมืองยะลา กำหนดการจัดงานคือ ทุกวันที่ 25 พฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายนของทุปี สถานที่จัดคือบริเวณเทศบาลเมืองยะลา
งานประเพณีของดีเมืองยะลา กำหนดจัด เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม บริเวณเทศบาลเมือง ยะลา
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่ตั้งของหลักเมืองจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ชาวจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยอดเสาหลักเมืองให้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2505 ภายในศาลประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งสร้างด้วยแก่นไม้ชัยพฤกษ์สูง 50 เซนติเมตร วัดโดยรอบที่ฐาน 43 นิ้ว ที่ปลาย 36 นิ้ว พระเศียรยอดเสาเป็นรูปพรหมจตุรพักตร์และเปลวไฟ บริเวณโดยรอบเป็นสวนสาธารณะ ร่มรื่น สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป และทุกๆ ปี จะมีการจัดงานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคม
สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา มีพื้นที่ 80 ไร่ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือก “พระเศวตสุรคชาธาร” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2511 ปัจจุบันได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ใบ และไม้ประดับไว้อย่างสวยงาม มีสระน้ำ มีศาลากลางน้ำ รูปปั้นจำลองของสัตว์ต่างๆ หลายชนิด ประชาชนนิยมไปพักผ่อนในยามว่างเป็นจำนวนมาก และในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เทศบาลจัดให้มีการแสดงดนตรีเพื่อให้ประชาชนที่ไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะได้รับความเพลิดเพลินอีกด้วย
สวนขวัญเมือง เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองยะลา ดัดแปลงมาจากสวนสาธารณะพรุบาโกย อยู่ห่างจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประมาณ 300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 207 ไร่ จัดให้เป็นสนามกีฬา สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง โดยเฉพาะทะเลสาบ มีเนื้อที่ 69 ไร่ เนื่องจากจังหวัดยะลาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าเขา ไม่มีชายทะเลเลย ทางเทศบาลเมืองยะลาจึงได้จัดทำชายหาดจำลองขึ้น มีสนามแข่งขันนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นสนามมาตรฐานใหญ่ที่สุดในจังหวัดภาคใต้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ทำพิธีเปิด “สวนขวัญเมือง” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2529
น้ำตกบูเก๊ะปิโล หรือน้ำตกตะวันรัศมี อยู่ระหว่างตำบลบุดี กับตำบลบันนังสาเร็ง อำเภอเมืองยะลา ที่สันเขาลูกนี้มีน้ำตกซึ่งตามประวัติเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเจ้าผู้ครองนครเมืองรามัน ในสมัยที่เมืองชายแดนภาคใต้ยังแยกตัวเป็น 7 หัวเมือง อยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินสายยะลา-รามัน 1 กม.
พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าถ้ำ อ.เมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ห่างจากตัวเมือง 6 กม. ตามเส้นทางไปสู่อำเภอยะหา ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหน้าถ้ำ เพราะภายในวัดนี้มีถ้ำใหญ่แห่งหนึ่ง มีพระพุทธไสยาสน์ของโบราณขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายใน สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ปี พ.ศ.1300 เป็นพระพุทธไสยาสน์สมัยศรีวิชัย มีขนาดความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน พระพุทธไสยาสน์วัดหน้าถ้ำแห่งนี้ชาวภาคใต้ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 3 ของดินแดนภาคใต้ คือ พระบรมธาตุเมืองนครฯ พระธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี และพระพุทธไสยาสน์วัดหน้าถ้ำ นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ในบริเวณใกล้ๆ กัน มีถ้ำอีกแห่งหนึ่งเรียกว่าถ้ำมืด ซึ่งภายในมีหินงอกหินย้อยเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น ม่าน เศียรช้างเอราวัณ ฯลฯ มีน้ำเย็นใสสะอาดไหลจากโขดหินธรรมชาติ มีไฟฟ้าติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวที่จะชมถ้ำมืดแห่งนี้
ถ้ำคนโท อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 6 กิโลเมตร บนถนนสายยะลา-ยะหา ด้านขวามือ หรือถึงก่อนวัดถ้ำคูหาภิมุขเพียง 1 กิโลเมตร มีรถประจำทางจากตัวเมืองผ่านทุกครึ่งชั่วโมง เมื่อลงจากรถแล้วเดินเข้าไปตามถนนเล็กๆ ประมาณ 50 เมตร ผ่านป่าละเมาะไปยังทิวเขากำปั่นอันเป็นที่ตั้งของถ้ำสำเภาทอง และถ้ำคนโท เมื่อผ่านถ้ำสำเภาทองแล้วเดินเลียบเชิงเขาไปอีก 15 นาที จึงถึงถ้ำคนโท ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในภูเขากำปั่น เป็นภูเขาหินอ่อน ภายในถ้ำมีหินงอกสูงประมาณ 120 เมตร มีลักษณะคล้ายผู้หญิงนั่งสมาธิใครๆ เรียกเธอว่า “แม่นางมณโฑ” ซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อถ้ำนั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ขุดพบพระพิมพ์เก่าแก่มากมาย โดยเฉพาะพระพิมพ์อวโลกิเตศวรแบบศรีวิชัย ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่มีลักษณะดีและเนื้อสวยที่สุดในบรรดาที่ขุดพบได้ทั้งหมด
ถ้ำศิลป์ ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลหน้าถ้ำในเขตอำเภอเมืองไม่ไกลจากถ้ำคูหาภิมุข การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับวัดถ้ำคูหาภิมุข แต่ต้องเดินทางต่อไปอีก 2 กิโลเมตร สภาพถนนลาดยางจนถึงเชิงเขา มีบันไดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปยังปากถ้ำได้โดยสะดวก (ปากถ้ำสูงจากเชิงเขา 28 เมตร) จุดเด่นของถ้ำศิลป์อยู่ที่ภายในถ้ำมีจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภาพคนล่าสัตว์ เขียนด้วยสีดำ และจิตรกรรมสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาพพระพุทธประวัติตอนธิดาพระยามารยั่วยวนพระพุทธเจ้า ภาพนี้มีขนาด ยาว 8 เมตร สูง 5 เมตร แต่สภาพของจิตรกรรมค่อนข้างลบเลือน จิตรกรรมนี้ไดรับการยกย่องว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย และเป็นงานศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยชิ้นเดียวที่เป็นภาพจิตรกรรม การเข้าชมแจ้งความจำนงต่อครูใหญ่โรงเรียน บ้านบันนังลูวาที่อยู่ใกล้ถ้ำ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจประตูถ้ำ
มัสยิดกลางจังหวัดยะลา เป็นมัสยิดใหญ่ประจำจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ด้านซ้ายของถนนสาย ปัตตานี-ยะลา ในเขตเทศบาล เมืองยะลา โดยผ่านบริเวณที่ทางรถไฟตัดข้ามถนนไปเพียง 200 เมตร มัสยิดแห่งนี้เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2527 รูปทรงงดงาม เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สอดแทรกเส้นกรอบทรงสุเหร่าไว้ได้อย่างกลมกลืน ด้านหน้าเป็นบันไดกว้าง สูงประมาณ 30 ขั้น ทอดสู่ลานชั้นบน หลังคาทรงสี่เหลี่ยมมีโดมใหญ่อยู่กลาง นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมได้ด้วยความสำรวม
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอยะหา
ศาลาดูดวงจันทร์ ตั้งอยู่บนเนินเขายุพราช หลังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ต.ยะหา อ.ยะหา ในแต่ละปีจะมีชาวมุสลิมจากจังหวัดต่างๆ เดินทางขึ้นไปบนเนินเขา เพื่อเป็นสักขีพยานในการดูดวงจันทร์ เพราะทางทิศตะวันตกของเนินเขาเป็นที่โล่งกว้าง ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง ทำให้สามารถเห็นการเคลื่อนคล้อยของดวงอาทิตย์ที่ค่อยๆ เคลื่อนลับสายตาไป
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอบันนังสตา
เขื่อนบางลาง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ สร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานีที่บริเวณบ้านบางลาง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง แกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 422 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 1,420 ล้านลูกบาศก์เมตร บริเวณเหนือเขื่อนมีศาลาชมวิวมองเห็นทัศนียภาพโดยทั่วไปของเขื่อนอย่างชัดเจน ประชาชนนิยมไปพักผ่อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนบางลาง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2524 เขื่อนบางลางอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาไปตามถนนสายยะลา-เบตง ประมาณ 58 กม. ตรงหลัก กม. ที่ 46 เลี้ยวเข้าเขื่อนไปอีกราว 12.5 กม. เขื่อนบางลางมีบ้านพักรับรองหลายหลังหลายรูปแบบ ราคา 120-1,200 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่ คุณสมโชค สังข์ประดิษฐ์ และคุณกาญจนี ธงไชย โทร. (073) 213699, 214211 ที่เขื่อนบางลางมีบริการล่องแพชมทิวทัศน์ทะเลสาบเหนือเขื่อน ใช้เวลาล่องประมาณ 4 ชม. ค่าบริการ 4 ชั่วโมง 1,000 บาท ชั่วโมงต่อไป 125 บาท ติดต่อได้ที่เดียวกับที่ติดต่อบ้านพัก
ถ้ำกระแชง เป็นถ้ำที่สวยงามตามธรรมชาติ เพดานของถ้ำมีหินย้อยมากมาย ถ้ำที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำกระแชงอีก 3 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำลูกอม ถ้ำน้ำลอด และถ้ำพระ ถ้ำเหล่านี้อยู่ในเขตอำเภอบันนังสตา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดยะลา 50 กม. ห่างจากที่ว่าการอำเภอบันนังสตา 8 กม. ใช้เส้นทางเดียวกับการไปเขื่อนบางลาง ลักษณะเด่นของถ้ำกระแชงคือ มีลำธารไหลผ่านลอดถ้ำ ปากถ้ำเป็นโพรงขนาดใหญ่มองออกไปภายนอกเห็นป่าไม้ร่มรื่น และทิวทัศน์งดงามเหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อน
น้ำตกกือลอง (สุขทาลัย) อยู่ในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอบันนังสตา บนเขาปกโย๊ะ เขานี้เป็นที่ตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กม. ตามเส้นทางสายยะลา-เบตง แยกซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 8 กม. น้ำตกนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2507 ประกอบด้วยน้ำตก 5 ชั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงประทานนามน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกสุขทาลัย” มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก เหมาะสำหรับเล่นน้ำในแอ่งน้ำและพักรับประทานอาหาร ณ ศาลาที่สร้างไว้
ถ้ำทะลุ อยู่ในเขตตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางตามเส้นทางหลวงสายยะลา-บันนังสตา-เบตง และมีทางแยกสู่แหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุอยู่ขวามือ จุดเด่นคือถ้ำหินปูนซึ่งทะลุลอดไปอีกด้านหนึ่ง ของภูเขา ที่มีศาลประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในช่วงเดือนยี่ทางจันทรคติของจีน ซึ่งจัดให้มีเทศกาลกินเจขึ้นที่บริเวณศาลแห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวและผู้นับถือ ศรัทธาเจ้าแม่กวนอิม เดินทางมาร่วมสักการะและกินเจมากกว่าในช่วงอื่นๆ ของปี
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอธารโต
วนอุทยานน้ำตกธารโต อยู่ที่ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต เป็นวนอุทยานและป่าสงวน มีเนื้อที่ 1,000 ไร่ เป็นน้ำตกที่สวยงามลดหลั่นกันลงมาถึง 9 ชั้น ห่างจากตัวเมืองออกไปตามถนนยะลา-เบตง ประมาณ กม. ที่ 57-58 มีทางลูกรังแยกเข้าไป 2 กิโลเมตร ประกาศเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503
น้ำตกละอองรุ้ง เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตติดต่อ อำเภอธารโตและอำเภอเบตง ห่างจาก จ.ยะลา ประมาณ 90 กิโลเมตร ใช้เส้นทางยะลา-เบตง ถนนราดยางตลอด ก่อนถึงอำเภอเบตงประมาณ 40 กม. จะมีถนนดินแยกเข้าน้ำตก ประมาณ 100 เมตร น้ำตกแห่งนี้มีความงดงามอันเกิดจากละอองน้ำตกกระทบแสงแดด มองเห็นเป็นสีรุ้งอยู่เบื้องล่างริมภูผา บริเวณร่มรื่นตลอดทั้งวัน
หมู่บ้านซาไก อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปทางเบตงประมาณ 80 กม. และห่างจากถนนใหญ่ลึกเข้าไปกลางขุนเขาประมาณ 4 กม. เป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองที่เรานิยมเรียกว่า “เงาะ” หรือ “เงาะซาไก” บ้านเรือนของซาไกสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาจาก มีประมาณ 20-30 หลังคาเรือน มีอาชีพในการทำไร่และหาของป่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยกรมประชาสงเคราะห์รวบรวมให้อยู่ในบริเวณเดียวกันได้ จำนวน 21 ครอบครัว 52 คน ได้จัดสร้างบ้านให้อยู่อาศัยที่ดีขึ้น ปลูกยางพาราพันธุ์ดีให้จำนวน 300 ไร่ และได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขอใช้คำว่า “ศรีธารโต” ให้ทุกคนใช้เป็นนามสกุล เด็กๆ สามารถเรียนรู้และมีการศึกษาที่ก้าวหน้ามากขึ้น มีครูจากจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปให้ความรู้ ทำให้ชาวซาไกมีความเจริญขึ้นมาก
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอรามัน
บึงน้ำใส แหล่งกำเนิดปลามังกร อยู่ที่อำเภอรามัน ห่างจากตัวเมืองยะลาราว 26 กม. ผ่าน อ.รามันไปทาง อ.รือเสาะ ประมาณ 8 กม. เลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่เข้าสู่บ้านบึงน้ำใส หมู่ที่ 5 ต.ตะโละ-หะลอ อ.รามัน ปลาชนิดนี้มีมากในแถบอินโดจีน มาเลเซีย และประเทศไทยตอนล่าง เชื่อกันว่าใครเลี้ยงปลามังกร จะมีโชคลาภ ราคาซื้อขายจึงค่อนข้างสูง
น้ำตกตะวันรัศมี เป็นน้ำตกที่สวยงามแตกต่างจากน้ำตกอื่นๆ เพราะเมื่อแสงแดดกระทบกับสายน้ำ จะทำให้สีของหินใต้แอ่งน้ำเป็นสีเหลืองสวยงาม น้ำตกนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 อำเภอรามัน ตั้งบนภูเขาบ้านบือมัง ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 19 กิโลเมตร ใช้เส้นทางยะลา-โกตาบารู ถนนราดยางตลอด 15 กม. เลี้ยวเข้า ต.โกตาบารู ถึง ต.ท่าเรือ ประมาณ 2 กม. เลี้ยวเข้าถนนหมู่บ้านประมาณ 2 กม. จะถึงทางเข้าน้ำตก เข้าไปประมาณ 500 เมตร
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเบตง
เบตงเมืองในหมอก เมื่อท่านดูแผนที่ประเทศไทยแล้ววัดระยะทางจากจุดเริ่มต้น กรุงเทพมหานครลง ไปทางใต้สุดเป็นระยะทางไกลสุดผืนแผ่นดินไทยตรงจุดที่เป็นแหลมยื่นเข้าไปในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย อาณาบริเวณนั้นคือ “เบตง” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลา ภูมิประเทศในเขตเทศบาลเมืองเบตง มีภูเขาปกคลุมอยู่ทั่วไป บางคนเรียกอำเภอเบตงว่า “เมืองในหมอก” ช่วงเช้าจะมีหมอกปกคลุมไปทั่วทั้งอำเภอ เบตงเป็นเมืองชายแดนที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่ง เพราะมีคนเกือบทุกชาติทุกภาษาพักอยู่ในเบตง โดยเฉพาะในเขตเทศบาล มีคนจีนมาอาศัยอยู่หลายพวก เช่น คนกวางใส กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ฯลฯ ส่วนคนไทยมีทั้งไทยเหนือ ไทยใต้ ไทยกลางทุกภาค นอกจากนี้ก็มีไทยอิสลาม ตลอดจนชาวญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งชาติต่างๆ เข้ามาทำค้าขาย ผู้ที่มีความสนใจด้านภาษาแล้วจะเรียนรู้ได้หลายภาษาทีเดียว โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ชาวเบตงมีโอกาสใช้มาก เพราะเป็นเมืองชายแดนมีแขกชาวต่างประเทศเข้าออกเป็นประจำ และชาวเบตงก็มีโอกาสออกต่างประเทศด้านมาเลเซีย สิงคโปร์ ชาวเบตงเป็นคนขยันในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ดี มีความสามัคคี รักความสงบ
บ่อน้ำร้อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของเบตงที่มีน้ำพุเดือดขึ้นมาจากพื้นดินในหมู่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตาเนาะ-แมเราะ ห่างจากอำเภอเบตงประมาณ 4 กิโลเมตร แยกขวาเข้าไปอีก 6 กม. ตรงจุดบริเวณที่น้ำเดือดสามารถต้มไข่สุกภายใน 7 นาที และเชื่อกันว่าน้ำแร่นี้สามารถรักษาโรคผิวหนังได้
น้ำตกอินทรศร อยู่ห่างจากบ่อน้ำร้อนเข้าไป 2 กม. เป็นน้ำตกธรรมชาติที่สวยงามมาก ทางอำเภอเบตงได้พยายามรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด
ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอเบตงในเขตเทศบาลมุมถนนสุขยางค์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยคุณสงวน จิระจินดา อดีตนายไปรษณีย์โทรเลข อำเภอเบตง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอเบตงในเรื่องการติดต่อสื่อสาร ลักษณะของตู้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นรูปกลมทรงกระบอก แยกได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนฐาน และส่วนตัวตู้ ส่วนสูงของตู้คือ 290 ซม. นับจากฐานขึ้นไปรวมความสูงของตู้ด้วย วัดได้ 320 ซม. ปัจจุบันตู้ไปรษณีย์ใบนี้ยังใช้งานอยู่
ไก่เบตง-ปลาเบตง ไก่เบตง ชาวบ้านเรียกว่า “ไก่กวางใส” เป็นไก่พันธุ์เนื้อมีรสอร่อยมาก มีผู้นำไก่พันธุ์เบตงไปเลี้ยงที่ท้องถิ่นอื่น แต่มิอาจที่จะนำไปเลี้ยงได้ เพราะอากาศไม่เหมือนที่เบตง ไก่พันธุ์ดังกล่าวจะไม่เติบโต และอาหารที่ขึ้นชื่อลือชาของเบตงอีกอย่างหนึ่ง คือ ปลาเบตง ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า เฉาฮื้อ หลีฮื้อ เนื้อปลามีรสมัน เนื้อละเอียดชวนรับประทานยิ่งนัก
นกนางแอ่นเบตง เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองเบตง คือเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงคือระยะที่ต้นยางพาราผลัดใบ (ประมาณเดือนกันยายน-มีนาคม) ในยามเย็นก่อนที่พระอาทิตย์จะลับไป เมืองเบตงจะดำทะมึนไปหมด นกนางแอ่นเหล่านี้จะบินมาจากป่าดงอย่างมืดฟ้ามัวดิน นกนางแอ่นนับหมื่นนับแสนจะเกาะนอนอยู่บนสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ เบียดตัวกันแน่นขนัด ซึ่งถ้าหากไปเบตงตอนกลางวันท่านจะไม่ได้เห็นนกนางแอ่นหลงเหลืออยู่เลย