แผนที่สิงห์บุรี
- แผนที่สิงห์บุรี
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
สิงห์บุรี เมืองอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้วยเรื่องราววีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 142 กิโลเมตร
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไว้ในสาสน์สมเด็จว่า "...เมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองใหญ่และเก่า มีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุ และของสำคัญ คือ พระนอนจักรสีห์ ใหญ่ยาวกว่าพระนอนองค์อื่น ๆ ในเมืองไทย ทำเป็นแบบพระนอนอินเดียเหมือนเช่นที่ถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข อำเภอเมืองยะลา คือ พระกรขวาศอกยื่นไปทางด้านหน้า ไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรแบบพระนอนไทย เมืองสิงห์เรียกชื่อต่าง ๆ ดังนี้ เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา เป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำจักรสีห์อันเป็นลำน้ำใหญ่ ห่างแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เส้น เพราะแม่น้ำจักรสีห์ตื้นเขิน เมืองสิงห์จึงกลายเป็นเมืองอยู่ลับลี้..." ก็แสดงว่า สิงห์บุรีเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีอดีตยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมาเป็นเวลานานหลายยุคหลายสมัย
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
พบร่องรอยหลักฐานมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี บ้านบางวัว ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน บ้านคู ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน คือ ขวานหิน แวดินเผา หินดุ ชิ้นส่วนกำไลสำริด เป็นต้น
สมัยทวารวดี
พบหลักฐานที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี เป็นการตั้งถิ่นฐานแบบ "เมืองคูคลอง" มีแผนผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ โบราณวัตถุที่ขุดพบ เช่น ภาชนะดินเผา ลูกปัด แท่นหินบด แวดินเผา ตะคัน ฯลฯ ส่วนหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเป็นสวนรุกขชาติและที่ตั้งหน่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้จังหวัดสิงห์บุรี
เมืองวัดพระนอนจักรสีห์ ที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี รูปแบบเมืองเป็นเมืองซ้อน มีเมืองชั้นในรูปค่อนข้างกลมและเมืองชั้นนอกล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมมน ไม่ปรากฏร่องรอยกำแพงเมือง (ที่ทำด้วยดินพูนสูง) แต่คูเมืองบางด้านยังปรากฏให้เห็น สิ่งที่พบคือ ลูกปัด แวดินเผา เศษภาชนะ ฯลฯ
แหล่งโบราณคดีบ้านคีม ที่ตำบลสระแจง อำเภอบางระจัน มีสภาพเป็นเนินดินรูปรี กว้าง 200 เมตร ยาว 500 เมตร มีคูน้ำขนาดกว้าง 5 เมตร
สมัยสุโขทัย
มีการค้นพบเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยตามวัดร้างและแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชุมชนต่าง ๆ นั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร เพราะในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้นได้มีอำนาจแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมในบริเวณภาคกลางและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
สมัยอยุธยา
ปรากฏเหตุการณ์ที่สำคัญคือ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ตั้งเมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองลูกหลวง และทรงตั้งเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเป็นเมืองหลานหลวง นอกจากนี้แล้ว เมืองทั้งสามยังเป็นหัวเมืองชั้นในและหัวเมืองหน้าด่านรายทางด้านทิศเหนืออีกด้วย โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลัก แสดงให้เห็นว่า เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี มีอยู่แล้วเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ก่อนหน้านั้นเมืองทั้งสามอาจอยู่ในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยก็ได้ แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเมืองทั้งสามสร้างขึ้นในสมัยไหน
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองชั้นในเป็นหัวเมืองจัตวา ดังนั้น เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี และเมืองสิงห์บุรีจึงเปลี่ยนฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ. 2086 เมืองสิงห์เป็นเมืองที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้ทหารไปสืบข่าวเรืองศึกสงครามกับพม่า ขณะเดียวกันก็ได้ยกกองทัพไปตั้งที่เมืองอินทร์บุรี เพื่อหยั่งเชิงดูข้าศึกอีกด้วย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา
ในปี พ.ศ. 2127 หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพได้ไม่นาน พม่าก็ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ครั้งนี้พม่ายกกองทัพมาสองทาง คือ ทางเหนือมีพระเจ้าเชียงใหม่เป็นแม่ทัพ และทางตะวันตกมีพระยาพะสิมเป็นแม่ทัพ แต่ทัพของพระยาพะสิมถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกไปก่อน โดยที่พระเจ้าเชียงใหม่ยังไม่ทราบ เมื่อกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาถึงเมืองชัยนาท ก็ให้แต่งทัพหน้ามาตั้งที่บางพุทรา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ภายหลังคือ ตัวจังหวัดสิงห์บุรี)
พ.ศ. 2308 สมัยพระเจ้าเอกทัศ ในขณะที่พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ ชาวบ้านบางระจันได้รวมตัวกันต่อสู้กับพม่าที่บ้านบางระจัน เมืองสิงห์บุรี ซึ่งมีผู้นำสำคัญของชาวบ้านและปรากฏชื่อ คือ
พระอาจารย์ธรรมโชติ
นายแท่น
นายโชติ
นายอิน
นายเมือง
นายทองแก้ว
นายดอก
นายจันหนวดเขี้ยว
นายทองแสงใหญ่
นายทองเหม็น
ขุนสรรค์
พันเรือง
โดยชาวบ้านบางระจันได้ต่อสู้กับพม่าและสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8 ชาวบ้านบางระจันจึงพ่ายแพ้ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 รวมเวลาที่ไทยรบกับพม่าทั้งสิ้น 5 เดือน คือ ตั้งแต่เดือน 4 ปลายปีระกา พ.ศ. 2308 ถึงเดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วีรชนบ้านบางระจัน)
สมัยธนบุรี
เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี ขึ้นกับกรุงธนบุรี ในประชุมพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงสำเนาท้องตรา พ.ศ. 2316 เกณฑ์ผู้รักษาเมืองสิงห์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองอินทร์บุรี ยกทัพไปสกัดข้าศึกด้านตะวันออกและคุมพรรคพวกซ่องสุมกำลังยกไปขุดคูเลนพระนครกรุงธนบุรี
สมัยรัตนโกสินทร์
มีหลักฐานที่ปรากฏคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองมณฑลเทศาภิบาล เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรีเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า (ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา) และปี พ.ศ. 2439 ยุบเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเป็นอำเภออินทร์บุรีและอำเภอพรหมบุรีขึ้นกับเมืองสิงห์บุรี พร้อมกับตั้งเมืองสิงห์บุรีขึ้นใหม่ที่ตำบลบางพุทรา ส่วนเมืองสิงห์บุรีเดิมยุบเป็น "อำเภอสิงห์" และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางระจัน
ปี พ.ศ. 2444 อำเภอเมืองสิงห์บุรีเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบางพุทรา และในปี พ.ศ. 2481 ทางราชการสั่งให้เปลี่ยนชื่อที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่ในเมืองให้เป็นชื่อของจังหวัดนั้น ๆ อำเภอบางพุทราจึงได้กลับไปใช้ชื่ออำเภอเมืองสิงห์บุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันจังหวัดสิงห์บุรีมีเนื้อที่ประมาณ 822 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอไชโย อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านหมี่ และอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอพรหมบุรี 16 กิโลเมตร
อำเภอค่ายบางระจัน 16 กิโลเมตร
อำเภออินทร์บุรี 17 กิโลเมตร
อำเภอบางระจัน 10 กิโลเมตร
อำเภอท่าช้าง 18 กิโลเมตร
ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี 356 กิโลเมตร
จังหวัดตรัง 131 กิโลเมตร
จังหวัดพัทลุง 193 กิโลเมตร
จังหวัดสงขลา 313 กิโลเมตร
จังหวัดกระบี่ 336 กิโลเมตร
การเดินทาง
ทางรถยนต์
แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สิงห์บุรี
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปสิงห์บุรีสามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางแรก ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี เข้าไปในตัวเมืองลพบุรี มีถนนตัดผ่านไปจังหวัดสิงห์บุรี รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 179 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 ตามทางหลวงหมายเลข 1 แยกเข้าถนนหมายเลข 32 (ถนนสายเอเซีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง จนถึงจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 142 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 3 จากทางหลวงหมายเลข 1 แยกเข้าถนนหมายเลข 32 (ถนนสายเอเซีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเดินทางต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 309 จะผ่านตัวเมืองจังหวัดอ่างทอง และตรงไปจนถึงจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถ.กำแพงเพชร 2 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-16.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 และยังมีรถเอกชนวิ่งบริการ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ออกเดินทางทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-20.00 น. รายละเอียดติดต่อ บริษัท ส. วิริยะทรานสปอร์ต จำกัด สำนักงานสิงห์บุรี โทร. (036) 511259
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ มีขบวนรถเร็ว และรถด่วน กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช ออกจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงนครศรีธรรมราช ระยะทาง 832 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีขบวนรถด่วน และรถเร็วอีกหลายขบวนผ่านสถานีชุมทางทุ่งสง ซึ่งสามารถจะต่อรถไฟ หรือรถยนต์เข้าสู่นครศรีธรรมราชได้อีกต่อหนึ่ง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690 หรือที่ สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โทร. (075) 356364
ประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวน ที่บ้านบางน้ำเชี่ยวและบ้านดอนคา อำเภอพรหมบุรี จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ โดยหนุ่มสาวจะช่วยกันตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) และข้าวจี่ ข้าวหลาม ไว้สำหรับทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น พิธีจะมีในตอนเย็น ชาวบ้านจะนำข้าวสารเหนียว ไข่ น้ำตาล ไปเข้ามงคลในพิธีเจริญพุทธมนต์ กลางคืนจะมีมหรสพแสดงกันเป็นที่สนุกสนาน ตกดึกจะพากันนึ่งข้าวเหนียว ทำขนม ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันกำฟ้า ชาวบ้านก็จะนำไทยทานและอาหารที่เตรียมไว้ไปร่วมทำบุญที่วัด เมื่อพ้นกำฟ้า 7 วันแล้ว จะต้องกำฟ้าอีกครึ่งวัน และนับต่อไปอีก 5 วัน จะมีการจัดอาหารถวายพระ เสร็จแล้วนำไฟดุ้นหนึ่งไปทำพิธีเลียแล้ง โดยการนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง ถือเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพเจ้า เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้า
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาสนี้มักจะจัดขึ้นที่หมู่บ้านวัดกุฎีทอง บ้านโภคาภิวัฒน์ วัดอุตมะพิชัย อำเภอพรหมบุรี วันทำพิธีกวนข้าวทิพย์มิได้กำหนดไว้เป็นที่แน่นอน มักจะทำกันในช่วงที่ข้าวกำลังเป็นน้ำนม โดยการปลูกปะรำพิธีแล้วใช้ด้ายสายสิญจน์วนรอบปะรำพิธี นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วให้หญิงสาวพรหมจารีย์นำเครื่องต่างๆ ที่เตรียมไว้ ได้แก่ ถั่ว งา นม เนย และน้ำที่คั้นได้จากข้าวน้ำนม ใส่ลงในกระทะที่ติดไฟด้วยฟืนไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทรา ขณะใส่ของต่างๆ ลงในกระทะ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง ย่ำกลอง จากนั้นจึงช่วยกันกวนข้าวทิพย์ ใช้เวลากวนประมาณ 6 ชั่วโมง เสร็จแล้วตักใส่ภาชนะเตรียมถวายพระในวันรุ่งขึ้น
ประเพณีตีข้าวบิณฑ์ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ทำกันอยู่แห่งเดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี นิยมทำในช่วงวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดงมาหุงหรือนึ่งพอสุกนำมาใส่ใบตอง พับเป็นรูปกรวย นำไปถวายถวายหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ วัดพระนอนจักรสีห์ ด้วยการนำพานใส่กรวยข้าวเหนียวที่เตรียมวางไว้ด้านหน้าองค์พระนอนเพื่อทำพิธีถวายข้าวเหนียว เมื่อเห็นว่าเวลาผ่านไปพอสมควรจะทำพิธีลาข้าว ทุกคนจะตรงไปที่พานข้าวของตน แบ่งข้าวเหนียวในกรวยใส่กระทง แล้วนำไปวางไว้ที่หน้าองค์พระนอนพอเป็นสังเขป จากนั้นชาวบ้านจะแยกกันนั่งเป็นวงๆ ละ 6-7 คน แบ่งกันรับประทานข้าวที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นข้าวบิณฑ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์
การแข่งเรือยาวประเพณี การแข่งขันเรือยาวจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ริมเขื่อนหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งมีเรือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดต่างๆ ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับเป็นงานประเพณีที่ตื่นเต้นสนุกสนานและเร้าใจ ประกอบการความสวยงามของเรือแต่ละลำที่ตกแต่งประชันกันอย่างเต็มที่
งานวันวีรชนค่ายบางระจัน จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่บริเวณอุทยานค่ายบางระจัน ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน ประกอบไปด้วยพิธีสักการะรูปจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ และวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน การแสดงละครประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรกรรมวีรชนค่ายบางระจัน ประกอบแสง สี เสียง และมหรสพ การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ มากมาย
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
ศาลากลางและศาลจังหวัดสิงห์บุรี นับเป็นโบราณสถานที่มีความสวยงามและมีคุณค่าทางสถาปัตย กรรมมาก ศาลจังหวัดสิงห์บุรีสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 129 และศาลากลางจังหวัดสร้างขึ้นในปี ร.ศ. 130 ตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2533
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เดินทางไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของคู่บ้านคู่เมืององค์พระยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ภายในพระวิหารมี พระกาฬและพระแก้ว ซึ่งเป็นพระศิลาลงรักปิดทอง และพระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม วัดนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางถนนสิงห์บุรี-ค่ายบางระจัน 4 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมและนมัสการทุกวัน
วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตหมู่บ้านพลับ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่าวัดหัวเมือง สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์เก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ มีพระปรางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น สูงประมาณ 8 วา ฐานก่อด้วยศิลาแลง ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ มีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางทิศใต้ ตามลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นแหล่งปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลช่างบ้านช่างหล่อธนบุรี และวัดนี้ยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และยังสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว นอกจากนี้ยังมีเรือหางยาวอันเก่าแก่ที่เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือของจังหวัดสิงห์บุรี เช่น เรือหงษ์ทอง ที่ทางวัดได้เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชมอีกด้วย
วัดประโชติการาม อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีไปตามเส้นทางสิงห์บุรี-ชัยนาท (สายเก่า) ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีพระพุทธรูปยืนอยู่ 2 องค์คือ หลวงพ่อทรัพย์และหลวงพ่อสิน ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
วัดกระดังงาบุปผาราม อยู่เลยจากวัดประโชติการามไปเล็กน้อย อยู่ในเขตตำบลบางกระบือ ซึ่งมีโบสถ์รูปทรงสมัยใหม่อันงดงามไม่เหมือนโบสถ์แห่งไหน สร้างอยู่บนฐานศาลาการเปรียญหลังเก่า และวัดนี้ยังมีเจดีย์โบราณรูปทรงคล้ายเจดีย์สมัยอยุธยา อยู่ทางด้านหลังของวิหารอันเก่าแก่ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจยิ่ง
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพรหมบุรี
วัดกุฎีทอง อยู่ในเขตตำบลบางน้ำเชี่ยวบริเวณกิโลเมตรที่ 17 จากตัวเมืองบนเส้นทางสาย 32 เลยจากอำเภอพรหมบุรีไปเล็กน้อย ในวัดมีเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด และภายในองค์พระเจดีย์นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทโลหะจำลองไว้เป็นที่เคารพสักการะ บริเวณวัดกุฎีทองยังมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (ไทยพวน) ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่างๆ ของชาวไทยพวน เครื่องมือทำนา ดักสัตว์ จับปลา ตลอดจนยวดยานพาหนะต่างๆ ทั้งทางบกทางน้ำอันเป็นของเก่าแก่ไว้ให้ชมอีกด้วย ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ พระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง และ น.อ.เถลิง อินทร์พงศ์พันธุ์ ผู้ดูแลรักษาศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัดกุฎีทอง ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี หรือติดต่อคุณวลัยวรรณ สุทธิโพธิ์ ในเวลาราชการ โทร. (036) 512320 เสาร์-อาทิตย์ โทร. (036) 511902
วัดพระปรางคมุนี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สู่อำเภอพรหมบุรี ประมาณกิโลเมตรที่ 8 เป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายในโบสถ์ เขียนขึ้นในราวปี พ.ศ. 2462 เป็นภาพเขียนฝีมือระดับชาวบ้าน แต่ยังคงความงดงามไม่แพ้กันกับที่อื่น
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอค่ายบางระจัน
อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย 3032 มีพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ เป็นสวนรุกขชาติที่พักผ่อนหย่อนใจ และมีอนุสาวรีย์วีรชนบางระจันซึ่งสร้างโดยกรมศิลปากร ปรากฏสวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในสวนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทยที่เกิดขึ้นราว พ.ศ. 2308 ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลาถึง 5 เดือน จึงเอาชนะได้ ค่ายบางระจันในปัจจุบันนี้ ได้สร้างจำลองโดยอาศัยรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ บนเนินสูงหน้าค่ายนั้นมีรูปหล่อของวีรชนค่ายบางระจันที่เป็นหัวหน้าทั้ง 11 คน นับเป็นอนุสาวรีย์ที่สำคัญยิ่งของชาติแห่งหนึ่ง
วัดโพธิ์เก้าต้น ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายบางระจัน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ณ ที่แห่งนี้วีรชนชาวไทยได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านข้าศึกที่มารุกราน ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณมีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น และชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย ในบริเวณวัดมี “วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ” ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่งของชาวบ้านบางระจัน และใกล้ๆ กันก็มี “สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ” มีปลาอยู่ชุกชุมเพราะชาวบ้านถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์จึงไม่จับไปรับประทาน ส่วนหน้าวัดได้มีการจำลองค่ายบางระจันตามประวัติศาสตร์ไว้ด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภออินทร์บุรี
วัดม่วง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้เส้นทางมาจากถนนสายเอเซียจะสะดวกที่สุด เมื่อเลี้ยวขวาเข้าตัวตลาดอำเภออินทร์บุรีจะมีทางเลี้ยวซ้ายไปอีก 2.5 กิโลเมตร วัดม่วงนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจที่วิหารเก่าแก่สมัยอยุธยา ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ฝีมือวาดชั้นครูที่งดงามสมบูรณ์มากที่สุดของภาคกลาง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว
วัดสุทธาวาส อยู่ในตำบลทับยา เลยจากวัดกระดังงาบุปผารามไป 5 กิโลเมตร ภายในวิหารหลังเก่าซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติที่ยังคงงดงามมาก
เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ในเขตตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวอำเภอตามเส้นทางสายอินทร์บุรี-ชัยนาท ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายมน มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่างๆ ปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ภายในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันทางจังหวัดจัดให้เป็นสวนรุกขชาติ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโบสถ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดโดยเส้นทางถนนสายสิงห์บุรี-ชัยนาท ประมาณ 15 กิโลเมตร มีโบราณวัตถุที่สำคัญและเป็นที่รวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เช่น โบราณวัตถุที่ขุดพบได้จากแหล่งโบราณบ้านคูเมือง เครื่องประดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ พัดยศเครื่องถ้วยศิลปะไทยและจีน เครื่องดนตรีไทย พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เป็นต้น ในบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานเป็นที่ตั้งของวัดโบสถ์ ซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีการสร้างอย่างประหลาดที่สุด คือ เอารางรถไฟเป็นแกนกลางข้างล่าง บานประตูหน้าต่างแกะสลัก ฝีมือช่างชื่นหัตถโกศล ช่างแกะฝีมือเยี่ยมแห่งสิงห์บุรีที่ทุ่มเทชีวิตงานแกะสลักไว้โดยใช้เวลาทั้งหมดรวม 10 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรีนี้จะเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 5 บาท (ยกเว้น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ภิกษุ) ชาวต่างประเทศคนละ 10 บาท
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางระจัน
วัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) อยู่ที่บ้านโคกหม้อ ตำบลเชิงกลัด ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรค์บุรี ประมาณ 16 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดมีพระปรางค์ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์ปรางค์สูง 30 วา ฐานกว้าง 10 วา ก่อด้วยอิฐแบบปรางค์ไทย สูงชะลูดคล้ายฝักข้าวโพด ฐานเตี้ยภายในกลวง มีคูหาสี่เหลี่ยมจัตุรัส บนผนังคูหามีร่องรอยภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เล็กน้อย มีภูเขาและรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขา นอกจากนั้นยังมีร่องรอยของเตาเผาปรากฏอยู่ประมาณ 3-4 เตา วัดพระปรางค์ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งเตาเผาภาชนะดินสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ที่ขุดได้บริเวณแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สามารถชมได้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียง แต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิคอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลา คำว่า “แม่ลา” เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลา โดยรอบๆ บริเวณอาคารทางการได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนผู้แวะเข้ามาเยี่ยมชม อนึ่ง โครงการนี้เป็นการถวายราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าช้าง
วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยโมเสดทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค รอบๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสวนธรรมะและสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศร่มรื่นสงบ