แผนที่สมุทรสาคร

  • แผนที่สมุทรสาคร
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์

สมุทรสาคร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “มหาชัย” เป็นจังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่บนปากน้ำท่าจีน ห่างจากทะเลเพียง 2 กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและการประมง เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำทะเล จึงมีการประกอบอาชีพด้านการประมงอย่างกว้างขวาง มีเรือประมงที่ทันสมัยกว่า 1,000 ลำ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละปี นับได้ว่าอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีนาเกลือมากที่สุดด้วย และในอดีตยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค
สมุทรสาคร เดิมเรียกกันว่า “ท่าจีน” เพราะเป็นตำบลใหญ่อยู่ติดอ่าวไทย มีชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนนำสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายกันมาก จึงเรียกติดปากว่า “ท่าจีน” จนกลายเป็นชื่อตำบล เมื่อปี พ.ศ. 2091 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง ด้วยมีพระราชประสงค์จะใช้เป็นที่ระดมพลสำหรับสู้รบกับพม่า บ้านท่าจีนจึงยกฐานะเป็นเมือง “สาครบุรี” ตั้งแต่นั้นมา จนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีเป็นเมืองสมุทรสาคร ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครอง มีการจัดระบบราชการส่วนภูมิภาคเป็นมณฑล เทศาภิบาล และมีการประกาศจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม เมื่อปี พ.ศ. 2449 ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินตำบลท่าฉลอมถึงสองครั้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วทุกแห่ง เมืองสมุทรสาคร จึงได้เปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรสาคร” มาจนทุกวันนี้ ส่วนคำว่า “มหาชัย” ที่คนชอบเรียกกันนั้น เป็นชื่อของคลองที่ขุดขึ้นเพื่อตัดความคดเคี้ยวของคลองโคกขามแต่เดิม มาทะลุออกตัวเมืองท่าจีน

จังหวัดสมุทรสาครมีเนื้อที่ 851 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดนครปฐม
ทิศใต้ ติดต่ออ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดต่อกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดสมุทรสงคราม และราชบุรี

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สมุทรสาคร

ทางรถยนต์ การเดินทางไปสมุทรสาครจากกรุงเทพฯ โดยเส้นทางรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินสามารถไปได้หลายเส้นทาง ดังนี้
1. จากสามแยกบางปะแก้ว ไปตามทางหลวงหมายเลข 35 ถนนธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระรามที่ 2) ผ่านที่ทำการเขตบางขุนเทียน ด่านชั่งน้ำหนักเอกชัย ถึงสี่แยกมหาชัย (กิโลเมตรที่ 28) เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองสมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังสามารถแยกจากถนนธนบุรี-ปากท่อ ที่กิโลเมตรที่ 34 ถึงที่ว่าการอำเภอบ้านแพ้ว ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
2. จากศูนย์การค้าดาวคะนองไปตามถนนเอกชัย ผ่านสะพานบางขุนเทียน วัดสิงห์ แยกบางบอน โรงเรียนศึกษานารีวิทยา วัดโพธิ์แจ้ ตำบลดอกกระบือ ด่านชั่งน้ำหนักเอกชัย เคหะชุมชนมหาชัย เข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร
3. จากแยกท่าพระไปตามทางหลวงหมายเลข4 ถนนเพชรเกษม ถึงหนองแขมเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม 81 ถึงแยกถนนเอกชัย เลี้ยวขวาไปตามถนนเอกชัย ผ่านโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ด่านชั่งน้ำหนักเอกชัย เข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม เลยบางแคแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวงแหวนรอบนอกจะไปตัดกับถนนเอกชัย วกรถกลับเข้าถนนเอกชัย หรือตรงไปเข้าถนนธนบุรี-ปากท่อก็ได้ หรือจากถนนเพชรเกษม ผ่านอ้อมน้อย แยกเข้าถนนเศรษฐกิจ 1 ที่กิโลเมตรที่ 25 ผ่านอำเภอกระทุ่มแบน ได้อีกเส้นทางหนึ่ง
4. จากสะพานพระปิ่นเกล้า ไปตามถนนบรมราชชนนี ตัดเข้าถนนเพชรเกษมได้ 3 ทาง คือ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 สาย 4 และสาย 5 จากนั้นเลือกเข้าตัวเมืองสมุทรสาครได้ 2 ทาง คือ จากสาย 2 ออกถนนเอกชัย เลี้ยวขวา ผ่านโรงเรียนศึกษานารี ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร หรือใช้สาย4 สาย 5 เข้าถนนเศรษฐกิจ 1 ที่แยกอ้อมน้อย ผ่านอำเภอกระทุ่มแบน ระยะประมาณ 50 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งตัดผ่านถนนเอกชัยและถนนธนบุรี-ปากท่อได้อีกด้วย

ทางรถประจำทาง

บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร ทุกวันตั้งแต่เวลา 04.30-21.30 น. จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ทุกวันๆ ละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 05.30-20.00 น. สุดปลายทางสถานีมหาชัย ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ โทร. 465-2017

ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี โดยจะมีการอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองลงมาจากศาลที่ประทับ เพื่อแห่ไปตามถนนสายต่างๆ ในจังหวัด ด้วยริ้วขบวนอันสวยงามแล้วอัญเชิญไปลงเรือประมงซึ่งประดับธงทิวอย่างสวยงาม แห่ข้ามฟากแม่น้ำท่าจีนจากฝั่งมหาชัยไปฝั่งท่าฉลอม ให้ชาวท่าฉลอมชมขบวนแห่และสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

นากุ้งนาเกลือ เขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร มีชายฝั่งทะเลที่เหมาะกับการทำนาเกลือนากุ้งหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ตำบลกาหลง นาโคก บ้านบ่อ บางโทรัด โคกขาม พันท้ายนรสิงห์ และบริเวณ 2 ข้างทางสายธนบุรี-ปากท่อ ต่อเขตจังหวัดสมุทรสงคราม และมีนาเกลือ มีเกลือกองสีขาว มีนกหลายชนิดบินผ่านไปมา มีกังหันวิดน้ำเข้านาเกลือหมุนเล่นลม เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ผู้คนที่ใช้เส้นทางสายนี้สัญจรไปมามักหยุดชมอยู่เสมอ
แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของจังหวัด ต้นแม่น้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ตลาดมหาชัย (ท่าเรือเทศบาล) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน นับเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมของสมุทรสาคร ตลาดมหาชัยนี้มีท่าเรือหลายแห่ง เป็นท่าเรือเมล์ที่ไปสู่ท้องที่ตำบลต่างๆ และสามารถเช่าเรือหางยาวไปเที่ยวคลองโคกขามได้ มีทั้งเช่าเหมาลำ และเรือประจำทาง
วัดใหญ่จอมปราสาท หรือวัดใหญ่สาครบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง สิ่งที่น่าชมในวัดนี้ได้แก่ พระอุโบสถทั้งหลังเก่าและหลังใหม่ บานประตูและหน้าต่างรอบพระอุโบสถแกะสลักอย่างสวยงามและประณีตมาก สันนิษฐานว่าช่างผู้แกะสลักบานประตูและหน้าต่างนี้เป็นช่างชาวจีนที่มากับเรือสำเภา เพราะลวดลายนั้นมีต้นไม้จีนปนอยู่ด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นฝีมืองานช่างศิลปะที่ล้ำค่า จัดเป็นโบราณสถานของชาติ การเดินทางไปวัดใหญ่จอมปราสาท เมื่อลงจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนราว 100 เมตร จะมีทางลูกรังแยกซ้ายเข้าวัด
หมู่บ้านชาวประมงท่าฉลอม เป็นตำบลใหญ่เรียกว่า ตำบลท่าฉลอม เป็นเขตสุขาภิบาลแห่งแรกในประเทศไทย มีผู้ประกอบอาชีพประมงเป็นจำนวนมาก มีตลาดและกิจการต่อเรือที่ตั้งเรียงรายอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน การเดินทางไปบ้านท่าฉลอม สามารถข้ามฟากที่ท่าเรือเทศบาลฝั่งมหาชัยใกล้กับศาลหลักเมือง หรือทางรถยนต์ ตามเส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ เลยสี่แยกเข้าตำบลมหาชัยไปทางจังหวัดสมุทรสงคราม ประมาณ 3 กิโลเมตร ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนแล้วแยกซ้ายเข้าตำบลท่าฉลอม
วัดสุทธิวาตวราราม หรือวัดช่องลม เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงปากอ่าวสมุทรสาคร ตำบลท่าฉลอม ตรงข้ามกับตัวเมือง วัดช่องลมนี้ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามและยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง นอกจากเป็นศาสนสถานแล้วยังเป็นสถานที่ตากอากาศได้เป็นอย่างดี ด้านหน้าวัดมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ ยามเย็นที่วัดช่องลมจะแลเห็นทัศนียภาพที่งามมาก การเดินทาง สามารถลงเรือได้ที่ท่าเรือเทศบาล ข้ามฟากไปฝั่งท่าฉลอมและขึ้นรถสองแถวต่อไปอีกประมาณ 10 นาที
สะพานปลา เป็นสะพานปลาที่ใหญ่และทันสมัยแห่งหนึ่งรองจากกรุงเทพฯ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสาคร มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่ใช้ในการลำเลียงขนถ่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทางทะเลทุกอย่างเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางการค้าปลาทะเล เป็นแหล่งที่เงินตราสะพัดหมุนเวียนวันละหลายล้านบาท
สนามกอล์ฟ (เอกชัยกอล์ฟคันทรีคลับ) เป็นสนามกอล์ฟที่กว้างขวางสวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพลิดเพลินกับการเล่นกีฬา อยู่ที่ตำบลบางน้ำจืด ห่างจากตัวจังหวัดสมุทรสาคร 13 กิโลเมตร
ป้อมวิเชียรโชฎก ตั้งอยู่ที่ตำบลมหาชัย ในตัวเมืองสมุทรสาคร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2370 ก่อด้วยอิฐถือปูน กว้างประมาณศอกเศษ สูง 7 ศอก ในปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นเพียงบางส่วน ป้อมนี้สร้างไว้กันข้าศึกที่ยกเข้ามาทางทะเล ปืนใหญ่ที่ป้อมวิเชียรโชฎกปัจจุบันเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดและศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
คลองโคกขาม เป็นคลองในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร มีความคดเคี้ยวมาก กระแสน้ำเชี่ยวมากยากต่อการเดินเรือ ครั้งที่พระเจ้าเสือหรือสมเด็จพระสรรเพชรที่ 8 (พ.ศ. 2246-2252) เสด็จประพาสต้นไปตามลำคลองโคกขามด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ดังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “ลุศักราช 1066 ปีวอก ขณะนั้นเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขามและคลองที่นั่นคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์ที่ถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทัน และหัวเรือพระที่นั่งโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้าก็หักลง จึงดำรัสให้นายเพชฌฆาตประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือที่หักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น” สำหรับเกร็ดที่เล่าเกี่ยวกับพันท้ายนรสิงห์นั้นเล่าว่า เป็นเพราะพันท้ายนรสิงห์รู้ว่าทางข้างหน้าที่พระเจ้าเสือจะเสด็จผ่านนั้น มีพวกกบฏคอยซุ่มจะทำอันตรายอยู่ มีวิธีเดียวที่ปลอดภัยคือ ทำให้เสด็จไปไม่ถึงจุดนั้น โดยการแกล้งคัดท้ายเรือ จนกระทั่งโขนเรือเอกชัยชนกิ่งไม้หัก แล้วยอมถวายชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือทรงทราบจึงทรงให้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในพงศาวดาร และโปรดให้สร้างศาลขึ้น ณ ตรงที่ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ ทั้งโปรดให้ขุดคลองลัดตัดทางคดเคี้ยวของคลองโคกขามเสียให้ตรง โดยให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมไพร่พลจำนวน 3,000 คน ขุดคลองตัดจากคลองโคกขามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2248 ตรงมาเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน ขนาดคลองกว้าง 5 วา ลึกโดยเฉลี่ย 6 ศอก เสร็จในปี พ.ศ. 2252 ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า “คลองสนามไชย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คลองมหาชัย” แต่บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า “คลองถ่าน” ที่ปากคลองมหาชัยติดต่อกับคลองโคกขาม จะมีศาลของพันท้ายนรสิงห์ตั้งอยู่เป็นศาลไม้ ศาลนี้เป็นศาลใหม่ที่มีผู้มาสร้างไว้ภายหลัง ศาลเดิมอยู่ที่วัดโคกขาม เป็นบริเวณที่หัวเรือพระที่นั่งเอกชัยชนกิ่งไม้หัก แต่เนื่องจากคลองโคกขามตื้นเขินมาก ประกอบกับสถานที่เดิมอยู่ห่างไกลมาก จึงมีผู้ย้ายศาลไปไว้บริเวณปากคลองมหาชัยต่อกับคลองโคกขาม บริเวณที่หัวเรือพระที่นั่งเอกชัยชนกิ่งไม้หักนั้น สภาพคลองโคกขามมีลักษณะเป็นโค้งข้อศอกน้ำไหลเชี่ยวมาก กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้ประมาณ 100 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานสถานพันท้ายนรสิงห์ ภายในศาลใหม่มีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในย่านนั้น
วัดโคกขาม ตั้งอยู่ริมคลอง เป็นวัดเก่าแก่มีบริเวณกว้างขวาง มีท่าเทียบเรือให้ขึ้นชมได้ สิ่งที่น่าชมในวัดนี้คือ พระอุโบสถหลังเก่าด้านหน้ามีพระเจดีย์เก่าที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม สถาปัตยกรรมการก่อสร้างศิลปะแบบอยุธยา ลวดลายการแกะสลักไม้ที่หน้าบันนั้นงดงาม นอกจากนั้นที่วัดนี้ยังเก็บโบราณวัตถุที่เล่ากันว่าเกี่ยวพันกับเรื่องของพันท้ายนรสิงห์ไว้หลายอย่าง เช่น ชิ้นส่วนของเรือพระที่นั่งเอกชัย และศาลเพียงตาของเดิม เป็นต้น การเดินทางล่องคลองโคกขาม สามารถเช่าเรือหรือโดยสารเรือเมล์ได้ที่ ท่าเรือตลาดสังวาลย์ (ท่าเรือตลาดมหาชัย) หรือที่ท่าเรือบ้านไร่ก็ได้ ราคาเช่าเหมาขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ และสถานที่ที่จะให้แวะชม เช่น เรือขนาดบรรทุก 10-15 คน จากท่าเรือตลาดสังวาลย์-เที่ยวคลองโคกขาม-วัดโคกขาม-ศาลพันท้ายนรสิงห์ ไป-กลับ ราว 2-3 ชั่วโมง ค่าเช่าเหมาตกลำละประมาณ 400-500 บาท
วัดป่าชัยรังสี ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าบางปลา เป็นวัดที่สร้างอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือใช้ศิลปะการก่อสร้างหลายแบบแปลกตาบนเนื้อที่ 200 ไร่ การเดินทางใช้เส้นทางถนนเศรษฐกิจ (มหาชัย-กระทุ่มแบน) ห่างจากตำบลมหาชัยประมาณ 5 กิโลเมตร แยกซ้ายตรงข้ามกับสถานีไฟฟ้าย่อยเข้าไป 1.5 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน

วัดนางสาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ มีโบสถ์ลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “โบสถ์มหาอุตฆ์” มีประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบเก่า ชื่อใช้ไม้ซุง ผนังโบสถ์ก่ออิฐถือปูน วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดพรหมจารีย์ราม” ต่อมาชาวบ้านเรียกใหม่ว่า “วัดน้องสาว” แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว”
ปล่องเหลี่ยม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าไม้ เป็นปล่องเตาไฟของโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของฝรั่งชาติโปรตุเกส ชื่อ กัปตันฮิท สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2367 ปล่องก่อด้วยอิฐทรงแปดเหลี่ยม กว้างด้านละ 1 เมตร แล้วค่อยๆ เรียวขึ้นไปจนถึงปลาย สูงประมาณ 30 เมตร มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว

วัดราษฎร์ศรัทธากระยาราม อยู่ในเขตตำบลหลักสาม สิ่งที่น่าสนใจนั้น นอกจากศาสนสถานในวัดแล้ว ตามสุมทุมพุ่มไม้ในบริเวณวัดยังเป็นที่อาศัยของนกกาน้ำ นกกระยางขาวเป็นจำนวนมาก
ชมสวนผลไม้-ดอกไม้ ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว ชาวบ้านทำสวนทั้งผลไม้ สวนผัก สวนกล้วยไม้ สวนมะพร้าว ในเขตอำเภอกระทุ่มแบนมีชื่อในการทำสวนมะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ และสวนกล้วยไม้ ส่วนในเขตอำเภอบ้านแพ้ว มีสวนองุ่น สวนฝรั่ง นอกจากจะชมสวนแล้ว ยังมีโอกาสชมการทำน้ำตาลจากมะพร้าวอีกด้วย




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สมุทรสาคร