แผนที่อยุธยา
- แผนที่อยุธยา
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
พระนครศรีอยุธยา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อยุธยา” ตั้งอยู่ในภาคกลาง เป็นเมืองหลวงเก่าของไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ..ศ. 1893 โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีกษัตริย์ปกครอง 34 พระองค์จาก 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับเป็นราชธานีของไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อยู่ในดินแดนแหลมทองแห่งนี้
พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกันในลักษณะล้อมรอบผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของตัวเมืองไว้ ตัวจังหวัดจึงเป็นเกาะที่มีบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร
อาณาเขต
ทิศเหนือ จดจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และ สระบุรี
ทิศใต้ จดจังหวัดปทุมธานี และ นนทบุรี
ทิศตะวันออก จดจังหวัดสระบุรี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดสุพรรณบุรี
แบ่งการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอท่าเรือ ระยะทาง 60 กิโลเมตร
อำเภอนครหลวง ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอบางไทร ระยะทาง 45 กิโลเมตร
อำเภอบางบาล ระยะทาง 10 กิโลเมตร
อำเภอบางปะอิน ระยะทาง 17 กิโลเมตร
อำเภอบางปะหัน ระยะทาง 13 กิโลเมตร
อำเภอผักไห่ ระยะทาง 29 กิโลเมตร
อำเภอภาชี ระยะทาง 35 กิโลเมตร
อำเภอลาดบัวหลวง ระยะทาง 65 กิโลเมตร
อำเภอวังน้อย ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอเสนา ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอบางซ้าย ระยะทาง 34 กิโลเมตร
อำเภออุทัย ระยะทาง 15 กิโลเมตร
อำเภอมหาราช ระยะทาง 25 กิโลเมตร
อำเภอบ้านแพรก ระยะทาง 53 กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดอยุธยาไปยังจังหวัดใกล้เคียง
กรุงเทพฯ ระยะทาง 76 กิโลเมตร
สระบุรี ระยะทาง 63 กิโลเมตร
สุพรรณบุรี ระยะทาง 53 กิโลเมตร
พระนครศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานี (เมืองหลวง) ของอาณาจักรอยุธยา หรืออาณาจักรสยาม ตลอดระยะเวลา 417 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 กระทั่งเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้นเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรี กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้กลายเป็นเมืองร้าง ยังมีคนที่รักถิ่นฐานบ้านเดิมอาศัยอยู่และมีราษฎรที่หลบหนี้ไปอยู่ตามป่ากลับเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ เมือง รวมกันเข้าเป็นเมือง จนทางการยกเป็นเมืองจัตวาเรียกว่า "เมืองกรุงเก่า" เมื่อ พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกเมืองกรุงเก่าขึ้นเป็น หัวเมืองจัตวา เช่นเดียวกับในสมัยกรุงธนบุรี หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3-4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 ทรงโปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี พระพุทธบาท ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี รวมเมืองพระพุทธบาทเข้ากับเมืองสระบุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา และในปี พ.ศ. 2469 เปลี่ยนชื่อจาก "มณฑลกรุงเก่า" เป็น "มณฑลอยุธยา" ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายบูรณะโบราณสถานภายในเมืองอยุธยา เพื่อเป็นการฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ประจวบกับในปี พ.ศ. 2498 นายกรัฐมนตรีประเทศพม่าเดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้มอบเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อปฏิสังขรณ์วัดและองค์พระมงคลบพิตร เป็นการเริ่มต้นบูรณะโบราณสถานในอยุธยาอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมากรมศิลปากรเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการ จนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกมีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็น "มรดกโลก" เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีพื้นที่ครอบคลุมในบริเวณโบราณสถานเมืองอยุธยา
การเดินทาง
ทางรถยนต์
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี หรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 ไปยังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา
- ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางรถประจำทาง
ทางรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวันๆ ละหลายเที่ยว รถธรรมดาและรถปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2936-2852-66
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ สามารถใช้ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนคร ศรีอยุธยา อำเภอวาชี ทางรถไฟจะแยกไปสายเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี เส้นทางสายเหนือจะผ่านอำเภอท่าเรือด้วย ในแต่ละวันจะมีรถไฟบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังจัดขบวนรถจักรไอน้ำเดินระหว่างกรุงเทพฯ- สถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ ในโอกาสพิเศษ ปีละ 4 ขบวน คือวันที่ 26 มีนาคม (วันสถาปนาการรถไฟและวันที่ระลึกถึงการเปิดทางรถไฟสายแรกที่เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2433) วันที่ 12 สิงหาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดกิจการรถไฟ) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 0-2223-7010, 0-2223-7020
งานประจำปีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จัดเป็นประจำทุกปี ปลายเดือนมกราคมภายในบริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร มีการแสดงแลละประกวดผลงานด้านศิลปาชีพ สินค้าพื้นเมืองทั่วไป การแสดงศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม
งานลอยกระทงตามประทีปและแข่งเรือยาวประเพณีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จัดเป็นประจำทุกปี ปลายเดือนพฤศจิกายน ภายในบริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดขบวนแห่ ประกวดกระทง ประกวดโคมแขวน การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน การแข่งเรือยาวประเพณี เรือยาวนานาชาติ การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ
งานเทศกาลสงกรานต์ จัดในวันที่ 13 เมษายน เป็นประจำทุกปี หน้าวิหารพระมงคลบพิตร อำเภอพระนคร ศรีอยุธยา มีขบวนแห่ตามประเพณีของชาวอยุธยาและขบวนแห่เถิดเทิง สรงน้ำพระมงคลบพิตรจำลอง ประกวดนางสงกรานต์
พิธีไหว้ครูบูชาเตา เป็น “พิธีไหว้ครู” ช่างตีมีดตีดาบ ของชาวบ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนอง และบ้านสาไล ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง ซึ่งมีอาชีพในการตีมีดที่รู้จักกันทั่วไปว่า “มีดอรัญญิก” บรรพชนของชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวงนั้นเป็นชาวเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีอาชีพในการตีทองและตีเหล็ก แต่ต่อมาเลิกทำทองจึงเหลือแต่การตีเหล็กอย่างเดียว เหล็กที่ตีนี้ส่วนใหญ่ทำเป็นมีด ดาบ และอาวุธ ตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งมีคุณภาพดีมากเมื่อทำเสร็จแล้วก็นำมาขายที่หมู่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จึงเรียกว่ามีด “อรัญญิก” สิ่งที่ชาวตำบลท่าช้างทุกคนยังคงถือสืบต่อมาตามขนบประเพณีเดิมคือการ “ไหว้ครูบูชาเตา” ซึ่งทุกบ้านจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 7 ค่ำ 9 ค่ำ ฯลฯ เดือน 5 (ประมาณเมษายน-พฤษภาคม) ตามแต่ความสะดวก เพื่อระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์และเพื่อความเป็นสิริมงคลของตน ทั้งยังเป็นการปัดเป่าอุปัทวเหตุต่างๆ ในการตีเหล็กอีกด้วย
งานแสดงแสงเสียงอยุธยามรดกโลก เนื่องจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกปี ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลา 7 วัน ในงานจะมีการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ศิลปหัตถกรรม วัฒนธรรมและประเพณีของไทย รวมทั้งการแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาตร์ของกรุงศรีอยุธยา
.อยุธยามหามงคล (ไหว้พระเก้าวัด) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต ๖ ได้จัดงานอยุธยามหามงคล (ไหว้พระเก้าวัด) เป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหรือตามที่กำหนดในแต่ละปี โดยนักท่องเที่ยวสามารถเจ้าร่วมโครงการได้โดยขอรับหนังสืออยุธยามหามงคลที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้วได้ที่ ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา(ศาลากลางหลังเก่า)หรือที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค โรงแรม/ ร้านอาหารในจังหวัดที่มีป้ายโครงการ จากนั้นเดินทางนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์และประทับตราอยุธยามหามงคลในแต่ละสถานที่ตามเอกสารแผนที่ที่ได้จัดทำไว้โดยมีรายชื่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พร้อมแผนที่ในการเดินทาง เมื่อไหว้พระครบ ๙ วัด หรือครบตามกำหนด จะได้รับเหรียญอยุธยามหามงคลและลุ้นรับของรางวัล สอบถามข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร.๐ ๓๕๒๑ ๓๘๒๘-๙ ต่อ ๑๐๑
สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เพียงเป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุด ของชนชาติไทย เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษย์ชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจาก การสงครามจาก ประเทศเพื่อนบ้านและจากน้ำมือการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเองแล้ว ส่วนที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นอัจฉริยภาพ และความสามารถยิ่งใหญ่ของ บรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักร ผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยหรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งใจกลางกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย- ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ซึ่งจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆ ได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนคนรุ่นหลังน่าที่จะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวของพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานได้แก่ วัดและพระราชวังต่างๆ พระราชวังในพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้าและวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักซึ่งเป็นที่สำหรับ เสด็จประพาสอยู่นอก พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ที่อำเภอนครหลวง
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นได้ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น และสร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นมาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยส่วนรวมและได้รับงบประมาณ ช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี อาคารหลักตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน ส่วนอาคารผนวกตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนซึ่งเคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่น เปิดทำการทุกวัน เว้นวันจันทร์-วันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. (วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดเวลา 17.00 น.) อัตราค่าเข้าชมสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ในเครื่องแบบ 5 บาท ประชาชนทั่วไป 20 บาท และชาวต่างประเทศ 100 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (035) 245123-4 นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯนี้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศคือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยนำวิชาการเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาจัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น 5 หัวข้อ คือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ชีวิตชุมชนชาวบ้านไทยและความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติ ทั้งนี้นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ศึกษาฯ ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการฯ มาแล้ว จึงน่าที่จะแวะชมเพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และจินตภาพซึ่งจะทำให้การเที่ยวชมในสถานที่จริงมีรสชาติและสนุกยิ่งขึ้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ปลายถนนขุนเมืองใจ ใกล้ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ซึ่งขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (พระเจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “สามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2504 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่คือนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงไม่มากจนแน่น และได้นำหลักการใช้แสงสีมาใช้ทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจมาก สิ่งที่สำคัญน่าชมได้แก่ พระพุทธรูประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ซึ่งกรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์ได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเพราะในโลกมีเพียง 6 องค์เท่านั้น
เศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอู่ทอง มีขนาดใหญ่มาก ได้จากวัดธรรมมิกราช แสดงถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมายโดยเฉพาะที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำทองกรพาหุรัตน์ ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆ เป็นต้น แสดงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษามาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเปิดทำการตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมการเข้าชมผู้ใหญ่คนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 10 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 241587
คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้รับการปรับปรุงตกแต่งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2483 บริเวณที่ตั้งคุ้มขุนแผนเคยเป็นคุกนครบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้
พระราชวังหลวง ที่ปรากฏในพระนครศรี อยุธยาปัจจุบันนี้คงเหลือแต่ฐานอาคารให้เห็นเท่านั้น สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อ พ.ศ. 1890 และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จใน พ.ศ. 1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายปราสาทเดิมเป็นวัดในเขตพระราชวังแล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดริมน้ำ พระที่นั่งต่างๆ ในเขตพระราชวังหลวงหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า พระราชวังโบราณ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล อยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยา ทางด้านเหนือมีถนนสายรอบกรุงผ่านจากวังจันทรเกษมไปเพียง 2 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 242501, 244570
บริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุกหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2186 เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียก “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีมุขเด็จยื่นออกมาเพื่อเสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกกระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลง อยู่ติดกำแพงริมน้ำ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อ “พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทก่อสร้างเป็นปราสาทจตุรมุขยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2175 พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์” คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในหน้าพระราชวัง เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกซ้อมทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
พระที่นั่งตรีมุข อยู่ข้างหลังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายในและเป็นที่ประทับในอุทยาน
พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ (พระที่นั่งท้ายสระ) เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จ พระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระราชหฤทัย เมื่อ พ.ศ. 2231 และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
พระที่นั่งทรงปืน อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ สร้างเป็นรูปยาวรี น่าจะใช้เป็นที่ฝึกซ้อมเพลงอาวุธ และในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพฯ หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่แล้วโปรดยกให้เป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออกเพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. 2035 องค์กลางบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเชษฐาธิราช ในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารและในปีถัดมาทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมดและองค์พระพังยับเยิน เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาด้านทิศตะวันตกเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์องค์ใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย เดิมอยู่ทางทิศตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ย้ายมาไว้ทางด้านตะวันตก ที่ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ ครั้นถึงแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปเกิดไฟไหม้เพราะอสนีบาตทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดให้ก่อสร้างใหม่ แปลงเป็นพระวิหารแทน เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรได้ถูกไฟไหม้ พระวิหารและองค์พระพุทธรูปได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ ฝีมือไม่งดงามอ่อนช้อยเหมือนเก่า บริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ
วัดพระราม อยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอู่ทองพระราชบิดา วัดนี้มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด เดิมเรียกว่า “หนองโสน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” ปัจจุบันคือ “สวนสาธารณะบึงพระราม” ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกด้วย
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงหน้าพระราชวังด้านทิศตะวันออกเชิงสะพานป่าถ่าน สร้างในสมัยของสมเด็จพระราเมศวรเมื่อ พ.ศ. 1927 ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระมหาธาตุ (ปรางค์) เป็นแบบแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งมีอิทธิพลของขอมปนมาก ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง แต่ที่เสริมใหม่ปัจจุบันเป็นอิฐปูนสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ปฏิ สังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ ได้ของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูป 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมนและทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า
วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1967 ณ ที่ซึ่งใช้ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายกับเจ้ายี่ชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย และโปรดให้ก่อเจดีย์ 2 องค์ สวมทับบริเวณที่ชนช้าง ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอยู่กลางวงเวียนหน้าวัด ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก พระปรางค์ที่เหลืออยู่เป็นศิลปะอยุธยาสมัยที่ 1 ซึ่งนิยมตามแบบขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด คราวเสียกรุง วัดนี้ถูกเผาเสียหายหมด แม้พระปรางค์ใหญ่จะยังคงเหลืออยู่แต่ได้ถูกคนร้ายลักขุดของมีค่าในกรุไปส่วนหนึ่ง จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ขุดกรุเอาโบราณวัตถุที่มีค่าไปรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้เป็นของชำร่วย เมื่อปี พ.ศ. 2500
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือเรียกกันว่าสวนสมเด็จฯ ตั้งอยู่บนถนนอู่ทอง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ประกอบด้วยต้นไม้ในวรรณคดีโบราณสถาน และศาลาไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนป่าสมุนไพรอีกด้วย
วังจันทรเกษมหรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2112 เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราช แลละพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้างจนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรี อยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลอยุธยา และรัชกาลที่ 7 โปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดจนกระทั่งได้สร้างศาลากลางใหม่แล้ว กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. (035) 251586
โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้
กำแพงและประตูวัง เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่งนอกกำแพงวัด ด้านในและพบซากอิฐในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง
พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนศาลาใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลาเสด็จประพาส ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องชามลายครามของจีน อาวุธสมัยโบราณ และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันแสดงพระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้จำหลักสมัยอยุธยา
พระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ (หอส่องกล้อง) เป็นหอสูงสี่ชั้นอยู่ที่ริมพระราชวังด้านทิศตะวันตก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หอที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามรากฐานเดิม ทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว
วัดเสนาสนาราม อยู่หลังวังจันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ "วัดเสื่อ" มีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือ "พระสัมพุทธมุนี" เป็นพระประธานในอุโบสถและ "พระอินทรแปลง" ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกตอนใต้ ริมป้อมเพชร เดิมชื่อวัดทองเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างไว้ครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรี ได้ทรงสร้างเพิ่มเติมและปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องกันมาเกือบทุกรัชกาล ผนังภายในพระอุโบสถตอนบนมีภาพเขียนเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ตอนหน้าสุดเขียนภาพมารวิชัย พระวิหารมีรูปเขียนแสดงพระราชวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นต้นแบบลอกแพร่หลายออกไปหลายแห่ง
วังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก (ในเขตโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต) เดิมเป็นอุทยานสำหรับเสด็จประพาสเป็นครั้งคราวเรียกว่า สวนหลวง และคงจะปลูกแต่เพียงตำหนักที่พักเท่านั้น ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดให้สร้างเพิ่มเติมเป็นพระราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาวังหลังได้กลายเป็นที่ประทับของเจ้านายในพระราชวงศ์เท่านั้น จึงไม่ปรากฏสิ่งสำคัญหลงเหลืออยู่นอกจากเจดีย์พระศรีสุริโยทัย
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพราะสถานที่นี้มิได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรกเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาลอีกด้วย เรื่องมีอยู่ว่า ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนอง ยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกโดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปร ด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนาง และสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่า "วัดสบสวรรค์" (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสอบสวนหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร เพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจึงเป็นเหตุให้ทราบตำแหน่งของวัดสบสวรรค์ ซึ่งยังคงพบเจดีย์แบบย่อไม้สิบสองสูงใหญ่ปรากฏตามที่ตั้งในปัจจุบันนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขนานนามเรียกชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์พระศรีสุริโยทัย" ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากร และกรป.กลาง ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมรูปทรงพระเจดีย์ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นที่น่ายินดีว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2533 กรมศิลปากรได้พบศิลปวัตถุโบราณ เช่น พระพุทธรูปผลึกแก้วสีขาวปางมารวิชัย พระเจดีย์จำลอง ผอบทองคำบรรจุพระธาตุ เป็นต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
สวนศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ประกอบด้วยศาลาอเนกประสงค์ พลับพลาสมเด็จพระสุริโยทัย เนินเสมาหินอ่อนโบราณอายุกว่า 400 ปี บรรจุชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่ชำรุดอัญเชิญมาจากวัดพุทไธสวรรค์ (พระตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง) ฯลฯ องค์การสุราเป็นผู้สร้างสวนนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ในที่ดินซึ่งเคยเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อ “สวนศรีสุริโยทัย” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 และองค์การฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสวนนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
วัดโลกยสุธา อยู่ถัดจากเจดีย์พระศรีสุริโยทัยเข้าไปทางด้านหลังประมาณกิโลเมตรเศษ บริเวณวัดอยู่ติดกับวัดวรเชษฐาราม ถ้าจะเดินทางไปชมจะไปทางรถยนต์ผ่านไปตามถนนในบริเวณโรงงานสุรา หรือจะเข้าไปตามถนนหลังพลับพลาตรีมุข ในบริเวณพระราชวังโบราณ ผ่านวัดวรโพธิ์และวัดวรเชษฐารามเข้าไปจนถึงพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ของวัดได้ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ก่อด้วยอิฐถือปูนยาวประมาณ 29 เมตร มีซากพระวิหารเป็น 6 เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่ชิดองค์พระ เหลืออยู่หลายต้นเข้าใจว่าเป็นซากพระอุโบสถ
ป้อมและปราการรอบกรุง กำแพงเมืองที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างครั้งแรกนั้นเป็นเพียงเชิงเทินดิน และมีเสาไม้ระเนียดปักข้างบน ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ก่ออิฐถือปูน ป้อมตามพระราชพงศาวดีมี อาทิ ป้อมมหาชัย ป้อมซัดกบ ป้อมเพชร ป้อมหอราชคฤห์ และป้อมจำปาพล เป็นต้น ป้อมใหญ่ๆ มักตั้งอยู่ตรงทางแยกระหว่างแม่น้ำ เช่น ป้อมเพชร อยู่ตรงที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ป้อมมหาไชยอยู่มุมวังจันทรเกษมในที่ซึ่งเป็นตลาดหัวรอในปัจจุบัน ซึ่งตัวป้อมถูกรื้อนำอิฐไปสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 1
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพระปรางค์ใหญ่เป็นหลักประธานของวัด
วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้น ปัจจุบันเป็นวัดร้าง สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่มีพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุและเจดีย์รายตามพระระเบียงคดรอบพระปรางค์ ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกศ วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และกรมศิลปากรโดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจุบันไม่มีสภาพรกร้างอยู่ในป่าอีกแล้ว และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง อนึ่ง การเดินทางไปชมวัดสำคัญในประวัติศาสตร์บริเวณนี้ ท่านอาจเช่าเหมาเรือหางยาวจากบริเวณหลังลานจอดรถฝั่งตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษมด้านตะวันออกของเกาะเมือง ล่องไปตามลำน้ำป่าสักลงไปทางใต้ผ่านวิทยาลัยการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพุทไธสวรรค์ โบสถ์โปรตุเกส วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราช และเจดีย์พระศรีสุริโยทัยอันสง่างามอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การเดินทางมีรสชาติไปอีกแบบหนึ่งโดยเฉพาะเวลาพลบค่ำจะเห็นภาพบริเวณวัดไชยวัฒนารามสวยงามมาก
วัดพุทไธสวรรค์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง หากเดินทางโดยรถยนต์ และใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ทางทิศตะวันตกของเกาะเมือง ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชแล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทไธสวรรค์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองอพยพมาสร้างเมืองใหม่ เดิมบริเวณนี้เรียกว่า “เวียงเล็ก” หรือ “เวียงเหล็ก” ซึ่งเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่เป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น
หมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมือง ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2054 อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา มีชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา และสร้างโบสถ์ขึ้น เพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตร หรือ โบสถ์ในคณะโดมินิกัน มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ และเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา
วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตร (ทางเดียวกันกับเส้นทางไปจังหวัดอ่างทอง ทางหลวงหมายเลข 309) จะมีป้ายบอกทางแยกซ้ายไปวัดภูเขาทอง วัดภูเขาทองนี้ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า สมเด็จพระราเมศวร ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 1930 เมื่อบุเรงนองยกมาตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ. 2112 ได้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองขึ้นไว้เป็นที่ระลึก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดให้ซ่อมองค์พระเจดีย์ตอนบนเป็นแบบไทยพร้อมๆ กันกับการบูรณะวัด ขณะนี้จึงปรากฏว่าฝีมือช่างมอญเดิมเหลือเพียงฐานทักษิณ สูงขึ้นไปเป็นพระเจดีย์ย่อไม้สิบสองฝีมือช่างไทย
พระที่นั่งเพนียด ตั้งอยู่ในตำบลสวนพริก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 309 (ทางเดียวกับวัดภูเขาทอง) สร้างขึ้นเป็นที่สำหรับพระราชาธิบดีประทับทอดพระเนตรการจับช้างเถื่อนในเพนียด หรือการจับช้างกลางแปลง เป็นประเพณีที่เคยทำกันมาแต่โบราณ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในราชการในเวลาปกติและในเวลาสงคราม พระที่นั่งของเดิมซึ่งสร้างสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้น ถูกพม่าเผาทำลายเมื่อเสียกรุงครั้งหลัง พ.ศ. 2310 พระที่นั่งเพนียดและตัวเพนียดที่เห็นในปัจจุบันนั้นลักษณะเป็นคอกล้อมด้วยซุงทั้งต้น มีปีกกาแยกเป็นรั้วไปสองข้าง รอบเพนียดเป็นกำแพงดินประกอบอิฐเสมอยอดเสาด้านหลังคอก ตรงข้ามแนวปีกกาเป็นพลับพลาที่ประทับ ซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2500 และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังได้สนับสนุนเงินงบประมาณแก่กรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2531 เพื่อบูรณะเพนียดให้อยู่ในสภาพเดิมอีกด้วย
วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” พระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2046 เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่ไม่ถูกพม่าทำลายและยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาทีหลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่ง แต่เล็กกว่าคือพระศรีอริยเมตไตรย์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปฏิสังขรณ์โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้ และได้เชิญพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารน้อย ซึ่งอยู่ฝั่งขวาของพระอุโบสถอีกด้วย พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 6 องค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ามาก
วัดกุฎีดาว อยู่หน้าสถานีรถไฟฝั่งตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่ ฝีมือการสร้างงดงามยิ่ง แต่ปรักหักพังไปมากแล้ว ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง
วัดสมณโกศ อยู่ใกล้วัดกุฎีดาว เป็นวัดที่เจ้า พระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่รูปทรงสันฐานแปลกตากว่าแห่งอื่น เข้าใจว่าเลียนแบบเจดีย์เจ็ดยอดของเชียงใหม่
วัดใหญ่ชัยมงคล (วัดเจ้าพระยาไท หรือ วัดป่าแก้ว) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ถ้ามาจากตัวเมืองข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วจะเห็นพระเจดีย์วัดสามปลื้มอยู่กลางสี่แยก เลี้ยวขวาไปไม่ไกลก็จะเห็นป้าย มีทางแยกซ้ายมือหรือหากมาทางถนนสายเอเซีย เลี้ยวเข้าแยกอยุธยาแล้ว พบพระเจดีย์ใหญ่กลางถนนก็เลี้ยวซ้าย วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 1900 พระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง “วัดป่าแก้ว” ขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพ “เจ้าแก้วเจ้าไท” ในการสร้างวัดป่าแก้วครั้งนี้ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นคู่กับพระวิหารด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่และสูงขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่ายจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติเมื่อคราวทรงชนะศึกยุทธหัตถี พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดชัยมงคล” ต่อมาเปลี่ยนเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหญ่ชัยมงคล วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย แล้วเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้
วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคลถึงถนนใหญ่แล้วเลี้ยวซ้าย วัดนี้เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร ชื่อพระเจ้าพนัญเชิงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1867 นับเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีอายุมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 20.17 เมตร และสูงจากชายพระชงฆ์ถึงรัศมี 19 เมตร ฝีมือปั้นงดงาม เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัด ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง
ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีน เป็นที่ประดิษฐานรูปเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย” เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป
หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก ในสมัยนั้นทางการญี่ปุ่น ได้อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นค้าขายกับชาวต่างชาติได้โดยให้มีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตน นับแต่นั้นมา ก็มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยมากขึ้น หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในขณะนั้นคือ นากามาซา ยามาดา เป็นผู้มีอำนาจ และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็น ออกญาเสนาภิมุข รับราชการต่อมา จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จนสิ้นชีวิต ปัจจุบันสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ได้จารึกประวัติความเป็นมา ของหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยามาตั้งไว้ภายในหมู่บ้าน และปรับปรุงบริเวณหมู่บ้าน ให้เป็นอาคารผนวกของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดแสดงเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ การเดินทางสามารถเดินทางจากวัดพนัญเชิงวรวิหารไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะเห็นอาคารผนวกหมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ทางด้านขวามือ
ปางช้างอยุธยาและเพนียด มีบริการขี่ช้างชมเมืองตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ราคา 200-500 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. (035) 211001 ปางช้างอยุธยาและเพนียด มีบริการขี่ช้างชมเมืองตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ราคา 200-500 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. (035) 211001
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนครหลวง
ปราสาทนครหลวง อยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ตำบลนครหลวง เป็นตำหนักที่ประทับในระหว่างเสด็จไปพระพุทธบาทที่สระบุรีและเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่มาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในแผ่นดินนี้พระองค์โปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทศิลาที่เรียกว่า “พระนครหลวง” ในกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2147 มาสร้างใกล้วัดเทพจันทร์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยประการใดไม่ปรากฏ ต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและพระบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ ส่วนตำหนักที่สร้างข้างปราสาทนี้ได้ปรักหักพังหมดแล้ว
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางปะอิน
พระราชวังบางปะอิน ตั้งอยู่ในอำเภอบางปะอิน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางที่แยกจากเจดีย์วัดสามปลื้มผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง ไปยังบางปะอิน หากมาจากกรุงเทพฯ ตามถนนพหลโยธิน จะมีทางแยกซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 ไปพระราชวังบางปะอินเป็นระยะทางอีก 7 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีบริการรถโดยสารจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ และรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมายังอำเภอบางปะอินทุกวัน พระราชวังบางปะอินเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก-นิสิต นักศึกษา (ในเครื่องแบบ) พระภิกษุ สามเณร 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 50 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักพระราชวังบางปะอิน โทร. (035) 261044, 261549
ภายในพระราชวังบางปะอินมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นปราสาทอยู่กลางสระ สร้างในรัชกาลที่ 5 เดิมสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดฯให้เปลี่ยนเสาและพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นท้องพระโรงอยู่ทางตอนเหนือของ “สะพานเสด็จ” ซึ่งเป็นท่าน้ำสำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นลง เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกัน ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดฯให้รื้อสร้างใหม่เป็นอาคารทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก ขุนนางในงานพระราชพิธี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2419 เคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง เช่นปี พ.ศ. 2436 รับรองพระเจ้าชาร์นิโคลัส แห่งประเทศรัสเซีย ปี พ.ศ. 2436 รับรองมองซิเออร์ปาวีร์ ฑูตฝรั่งเศส และปี พ.ศ. 2452 รับรองดุ๊กและดัชเชสโยฮันเบรตแห่งเมืองบรันทวีท แห่งประเทศเยอรมัน ถึงในปัจจุบันก็ยังใช้เป็นที่รับรองแขกเมืองสำคัญอยู่เสมอ สิ่งสำคัญในพระที่นั่งเป็นภาพชุดพระราชพงศาวดาร กับภาพเรื่องอิเหนา พระอภัยมณีและรามเกียรติ์
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร อยู่ทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับสระน้ำ เป็นพระที่นั่งเรือนไม้หมู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง มีเฉลียงตามแบบชาเลต์ของสวิส ทาสีเขียวอ่อนแก่สลับกันด้วยงานช่างที่ประณีต สิ่งประดับตกแต่งภายใน ประกอบด้วยเครื่องไม้มะฮอกกานีจัดสลับลายทองทับที่สั่งจากยุโรปทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นสิ่งของหายากในประเทศอันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาเขตรอบๆ มีสวนดอกไม้สวยงาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรได้เกิดเพลิงไหม้ขณะที่มีการซ่อมรักษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ทำให้พระที่นั่งถูกทำลายไปกับกองเพลิงหมดสิ้นทั้งองค์คงเหลือแต่หอน้ำ ปัจจุบันได้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการแต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคารคอนกรีตแทน
หอเหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลาในเขตพระราชวังชั้นนอกริมสระใต้ต้นโพธิ์ เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นแทนศาลเดิมที่ชาวบ้านสร้างไว้ อุทิศถวายพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2422
สภาคารราชประยูร เป็นตึกสองชั้นริมลำน้ำตรงหน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ในเขตพระราชวังชั้นนอก สร้างในรัชกาลที่ 5 สำหรับใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้าและข้าราชบริพาร
หอวิฑูรทัศนา เป็นพระที่นั่งหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะน้อยในสวนเขตพระราชวังชั้นใน ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรกับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น มีบันไดเวียน เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศบ้านเมืองโดยรอบ สร้างในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2424
เก๋งบุปผาประพาส เป็นตำหนักเก๋งเล็กอยู่กลางสวนริมสระน้ำในเขตพระราชวังชั้นใน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2424
พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพระราชวังถัดจากหอวิฑูรทัศนาขึ้นไป พระที่นั่งองค์นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน เม่ง เต้ย” (เทียน=เวหา, เม่ง=จำรูญ, เต้ย=พระที่นั่ง) ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “เก๋งจีน” พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก) สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับในฤดูหนาว ลักษณะเป็นพระที่นั่งศิลปะแบบจีนที่มีลายแกะสลักได้อย่างงดงามวิจิตรยิ่ง โถงด้านหน้าปูด้วยกระเบื้องแบบกังไส เขียนภาพด้วยมือทุกชิ้น แม้ว่าภาพจะเหมือนกันแต่เนื่องจากเป็นงานฝีมือ จึงมีความแตกต่างกันในรายละเอียดที่ทำให้ดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ -อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ก่อสร้างด้วยหินอ่อนก่อเป็นแท่ง 6 เหลี่ยม สูง 3 เมตร บรรจุพระสริรังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และเจ้าฟ้าสามพระองค์ หรืออนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงสูญเสียพระอัครชายาเธอฯ พระราชโอรสและพระราชธิดาถึง 3 พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัตมณีชัย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 และสมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2431 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้คนละฝั่งกับพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง เมื่อ พ.ศ. 2421 อาคารและการตกแต่งทำแบบโกธิค มีกระจกสีประดับอย่างสวยงาม ภายในเป็นแบบฝรั่งแม้แต่ฐานที่ประดิษฐานพระประทาน คือ พระพุทธนฤมลธรรโมภาสและพระสาวกก็ไม่ได้ทำเป็นฐานชุกชีอย่างในโบสถ์ทั่วไป แต่ทำเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์คริสต์ ช่องหน้าต่างที่เจาะไว้ก็เป็นหน้าต่างโค้ง ที่ฝาผนังโบสถ์ด้านหน้าพระประธานจะเห็นภาพประดิษฐ์กระจกสีเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ด้านขวามือของพระอุโบสถนั้นมีหอแห่งหนึ่ง คือ หอประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางขอฝน ตรงข้ามกับหอพระคันธารราษฎร์เป็นหอประดิษฐานพระพุทธศิลาเก่าแก่ปางนาคปรก อันเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรีฝีมือช่างขอมอายุเก่าแก่นับพันปี พระนาคปรกนี้อยู่ติดกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งไปทั่วบริเวณหน้าพระอุโบสถ ถัดไปอีกไม่ไกลนักเป็นหมู่ศิลาชนิดต่างๆ ที่มีในประเทศไทย เป็นที่บรรจุอัฐิเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และราชสกุลดิศกุล เมื่อเข้าชมพระราชวังบางปะอินแล้ว สามารถข้ามไปชมวัดนิเวศธรรมประวัติได้โดยกระเช้าสำหรับส่งผู้โดยสารประมาณครั้งละ 6-8 คน ค่าโดยสารแล้วแต่บริจาค
วัดชุมพลนิกายาราม อยู่บริเวณหัวเกาะตรงสะพานข้ามไปยังสถานีรถไฟ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2175 และได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางไทร
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นในเขตที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรม ตำบลช้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ศูนย์ศิลปาชีพนี้มุ่งฝึกอาชีพเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ วิชาที่สอนให้แก่เกษตรกรได้แก่ การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช การแกะสลัก การจักสาน การทำตุ๊กตา การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำเครื่องเรือน การทอผ้า ผลิตภัณฑ์จากผ้า การย้อมสี ช่างเชื่อมและเครื่องเคลือบดินเผา ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้วจะส่งไปจำหน่ายที่ร้านจิตรลดาทุกสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ภายในบริเวณศูนย์ฯ มีจุดเด่นอีกบริเวณหนึ่งคือ สวนนกบางไทร จัดสร้างเป็นกรงนกขนาดใหญ่ที่จำลองสภาพธรรมชาติเข้าไว้พร้อมกับนกนานาพันธุ์กว่า 150 ชนิด ทั้งที่เป็นนกท้องถิ่นและนกหายากชนิดต่างๆ และยังมีอุทยานวังปลา ซึ่งจัดเป็นศูนย์ขนาดใหญ่ แสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดให้ชม ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ อัตราค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท (นักเรียนในเครื่องแบบ คนละ 5 บาท) รายละเอียดของศูนย์ฯ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. (035) 366092 การเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทรสามารถไปทางเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงท่าน้ำของศูนย์ฯ หรือไปทางรถยนต์ เมื่อถึงอำเภอบางปะอินแล้ว มีทางแยกซ้ายเข้าสู่สายบางไทร-สามโคก ระยะทาง 24 กิโลเมตร ถึงศูนย์ศิลปาชีพฯ หรือหากไปจากกรุงเทพฯ จะใช้เส้นทางสายนนทบุรี-ปทุมธานี (ทางหลวงหมายเลข 306) เลยแยกรังสิตไปไม่ไกลนักจะมีทางแยกขวามือไปอำเภอบางไทร