หมู่เกาะสุรินทร์

  • แผนที่หมู่เกาะสุรินทร์
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • สถานที่ท่องเที่ยว
  • โรงแรม ที่พัก

พระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ค้นพบเกาะและตั้งชื่อ หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อครั้งที่ท่านมาสำรวจ ทะเลฝั่งอันดามัน ที่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2514 กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 70 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : กรมป่าไม้ได้ประกาศป่าหมู่เกาะสุรินทร์ ท้องที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ 30 ธันวาคม 2514 ต่อมาคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2519 เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกรมป่าไม้ได้ติดต่อประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งว่า หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลี่ยม แปลงที่ ตก. 9 W1 ของบริษัท WEEKS PETROLEUM จึงขอให้ระงับการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อน และบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ยังเคยถูกเสนอให้ใช้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม เหมาะที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมชาติ กรมป่าไม้จึงได้คัดค้านไม่เห็นด้วย

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีปะการัง สภาพป่าที่สมบูรณ์ หาดทรายขาวสะอาด และนกนานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสุรินทร์ ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

หมู่เกาะสุรินทร์มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อ การพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่นๆ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semidiurnal คือ น้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง

เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ลักษณะภูมิอากาศ

สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีป่า สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ดังนี้

ป่าดงดิบ เป็นป่าที่มีพื้นที่มากที่สุด มีอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพรรณไม้หลายชนิด เช่น คอแลน มะยง เท้าแสนปม กระเบากลัก ลำป้าง มะพลับ ลักเคยลักเกลือ ดำตะโก พลับเขา เลือดแรด หันช้าง สลอดป่า หงอกค่าง พระเจ้าห้าพระองค์ ยางยูง ยางปาย สะเดาปัก ตะพง มะเม่าดง มะส้าน อ้ายบ่าว มะกล่ำต้น แตงชั่ง มะเม่าสาย นกนอน ลิ้นควาย กระบาก ไทร กร่าง ไม้หอม แกงเลียงใหญ่ มะเม่าดง ตะขบควาย นวล มูกเขา และลังค้าว นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ชนิดอื่นๆ อีก คือ
ปาล์ม ได้แก่ เต่าร้างแดง ช้างไห้ หวาย
ไม้พุ่ม ได้แก่ แม่กลอน เต้ยชะครู จันทร์คันนา คัดเค้าทอง
ไม้เถาเลื้อย ได้แก่ เถาปลอง แสลงพันเถา ลิ้นกวาง ขมัน เถานางรอง กร่าง
ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เข็มพระรามไม้ ผักยอดตอง คล้า ว่านสากเหล็ก กูดง้อง เตยหนู กูดปรง และร๊อก เป็นต้น

ป่าชายหาด ประกอบด้วย โพกริ่ง กระทิง ตีนเป็ดทะเล สนทะเล จิกเล ปอทะเล โกงกางหูช้าง คันทรง ขาเปี๋ย สำมะงา รักทะเล ปรงทะเล ลำเจียก หญ้าไหวทาม เป็นต้น

ป่าชายเลน ประกอบด้วย โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โกงกางหัวสุม ตะบูน ลำแพนหิน ตีนเป็ดทะเล และพืชอิงอาศัยพวกกระแตไต่ไม้และกล้วยไม้บางชนิด

จากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์นี้จึงเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะนกซึ่งพบมากกว่า 80 ชนิด ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น นกขุนทอง นกลุมพูขาว นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกชาปีไหนซึ่งเป็นนกที่หายาก และหากเดินไปตามชายทะเลจะพบนกยางทะเล นกนางนวล เหยี่ยวแดง บินเหนือท้องทะเลเพื่อล่าปลาเป็นอาหาร ภายในป่าจะพบลิงกังอยู่เป็นฝูงใหญ่ เกาะรอก กระจง ตะกวด งูหลาม ค้างคาวแม่ไก่ และค้างคาวหนูผี

สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง
แนวปะการังที่พบทั่วไปที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า fringing reef ปะการังที่พบได้มากได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกเห็ด ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังแผ่นเปลวไฟหรือปะการังดอกจอก ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังไฟ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และปากกาทะเล เป็นต้น

นอกจากปะการังแข็งที่พบเห็นโดยทั่วไปแล้ว ยังพบหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวของหมู่เกาะสุรินทร์ 3 ชนิด ได้แก่ หญ้าเงาหรืออำพัน หญ้ากุ่ยช่ายเข็ม และหญ้าชะเงาเต่า นอกจากนี้ยังมี ฟองน้ำ หนอนทะเล กุ้งมังกร กุ้ง ปู หอย หมึก ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก เม่นทะเล ปลิงทะเลเพรียงหัวหอมและกลุ่มปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากะรังและปลาทอง ปลาขี้ตังเป็ด ปลาสลิดทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาอมไข่ ปลาตั๊กแตนหิน ปลาบู่ ปลาสิงโต ปลากะรังหัวโขน ปลาหิน ปลากะพง ปลากล้วย ปลาสร้อยนกเขา ปลาทรายขาว ปลาหางแข็ง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาวัว ปลาปักเป้า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ วาฬ และเต่าทะเลซึ่งพบ 4 ชนิดด้วยกันได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า

การเดินทาง

รถยนต์

ขับรถไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ อำเภอคุระบุรี ระยะทางประมาณ 720 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอคุระบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกเลี้ยวเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ทางขวามือ จากนั้นให้เลี้ยวเข้าไปจอดรถบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บนฝั่ง)

เครื่องบิน

โดยสารเครื่องบินมาลงที่สนามบินจังหวัดระนอง หรือสนามบินจังหวัดภูเก็ต จากนั้นจึงเดินทางด้วยรถยนต์มายังอำเภอคุระบุรี ในจังหวัดพังงาต่อไป

เรือ

การเดินทางทางเรือ เริ่มจากท่าเรือคุระบุรี ไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีการบริการเรือทัวร์โดยสารของเอกชนให้บริการนักท่องเที่ยว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.0 - 2.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเรือโดยสาร

การบริการเรือทัวร์โดยสาร เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมจึงจะปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว มีตารางการเดินเรือ ดังนี้

- จากท่าเรือคุระบุรี เวลา 09.00 น. ของทุกวัน ถึงที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลาประมาณ 11.30 น.
- จากที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลา 13.00 น. ของทุกวัน ถึงท่าเรือคุระบุรี เวลาประมาณ 15.30 น.

อัตราค่าโดยสารทางเรือ
- เรือโดยสารทั่วไป ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,100 บาท/คน
- เรือเร็ว ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,700 บาท/คน
รถโดยสารประจำทาง

เริ่มต้นจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เวลาออกเดินทางจากกรุงเทพฯประมาณ 19.00 น. ถึงคุระบุรี เวลา 05.00 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 480 บาท จากบริเวณสถานีขนส่งคุระบุรี ในอำเภอคุระบุรี บริการรถมอเตอร์ไซด์และรถยนต์เช่า เหมาคันเดินทางไปส่งยังบริเวณท่าเรือคุระบุรี อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สำหรับอัตราค่าโดยสารมีดังต่อไปนี้ คือ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 บาท/คน รถยนต์เช่าเหมา 200 บาท/คัน

เกาะตอรินลา

เกาะตอรินลา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะไข่ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6 กิโลเมตร เกาะตอรินลาเป็นจุดดำน้ำชั้นยอดของหมู่เกาะสุรินทร์ บางคนเรียกกองเหลือง บริเวณนี้มีทั้งแนวปะการังและกองหินใต้น้ำสลับกัน จัดเป็นจุดดำน้ำที่ใหญ่มาก กินอาณาเขตเกือบทั่วร่องน้ำระหว่างเกาะตอรินลากับเกาะสุรินทร์ใต้ มีดงปะการังเขากว้างที่กว้างใหญ่ มีปลาสวยงามมากมาย มากกว่า 200 ชนิด เช่น ปลาไหลสวน ฉลามครีบเงิน ฉลามเสือดาว กระเบนหางแส้ กะรังหน้างอน ฝูงปลาค้างคาว ปลากระตั้ว ปลาไหลริ้บบิ้น เป็นต้น และที่โดนเด่นคือ มีปลากระโทงแทงกระโดดให้เห็นกันบ่อยๆ ถือเป็นจุดชมปลากระโทงแทงชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งของทะเลไทย ข้อควรระวังสำหรับนักดำน้ำ คือ บริเวณร่องน้ำเกาะตอรินลา มีกระแสน้ำอันรุนแรง บางครั้งไหลวน จึงควรดำน้ำความความระมัดระวัง

เกาะปาจุมบา

เกาะปาจุมบา หรือเรียกอีชื่อหนึ่งว่า เกาะมังกร มีอ่าวมังกรอยู่ทางทิศตะวันออกเกาะ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงวนสำหรับการอนุรักษ์เต่าทะเล บรเวณนี้น้ำไม่ลึก ยกเว้นด้านเหนือของเกาะ มีแต่กองหินใต้น้ำ ไม่มีปะการังอ่อนหรือกัลปังหา บางครั้งมีกระแสน้ำรุนแรง ไม่เหมาะสำหรับการดำน้ำ

เกาะรี (เกาะสตอร์ค ,เกาะไฟแว๊บ) (KO Ree (Ko Stok))

เกาะรี(เกาะสตอร์ค,เกาะไฟแว๊บ) เป็นเกาะเล็กๆที่มีกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือตั้งอยู่บนเกาะ ชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า เกาะไฟแว๊บ ที่นี่มีแนวปะการังแข็งสมบูรณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของเกาะ ทางด้านเหนือเป็นหลืบหินขนาดใหญ่เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด มักพบเต่าทะเลเสมอนอกจากนั้นยังมีปลาสิงโต รวมทั้งปลาหมึกกระดองและทาก

อ่าวผักกาด (Ao Pakkad)

อ่าวผักกาดเป็นอ่าวเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เลยอ่าวเต่าไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร แนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ 50 - 150 เมตร มีชายหาดเล็กๆ แนวปะการังหักชันตรงขอบลงสู่ความลึก 15 -20 เมตร ด้านล่างเป็นพื้นทราย สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหาได้บ้าง อ่าวผักกาดเป็นจุดที่มีปะการังหลากหลายชนิดในพื้นที่แคบๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลที่น่าสนใจ เช่น ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลึก อาจทำให้มองเห็นไม่ชัด สำหรับผู้ที่ชอบดำน้ำแบบผิวน้ำ ที่นี่มีปลาเกือบทุกชนิดที่พบในหมู่เกาะเกาะสุรินทร์ มาดำน้ำที่อ่าวผักกาดจึงต้องสังเกตปลาเป็นหลัก โดยเฉพาะปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทร เพราะที่นี่มีปลาสองกลุ่มนี้หลากหลาย

อ่าวช่องขาด (Ao Chang Khang)

อ่าวช่องขาด เป็นร่องน้ำคั่นกลางอยู่ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ และเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งบ้านพัก-เต็นท์ ร้านอาหารสวัสดิการ ห้องน้ำ ห้องสุขา นักท่องเที่ยวนิยมฝึกดำน้ำที่นี่ก่อนออกไปดำน้ำตามจุดต่างๆรอบๆเกาะ เนื่องจากระดับน้ำค่อนข้างตื้น และบริเวณนี้ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก

อ่าวไม้งาม (Ao Mai Ngam)

อ่าวไม้งาม อยู่ที่เกาะสุรินทร์เหนือด้านตะวันตก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร บริเวณอ่าวไม้งามเป็นหาดทรายธรรมชาติที่งดงาม มีปูเสฉวนจำนวนมาก ปะการังที่พบในอ่าวนี้เป็นปะการังแผ่นตั้ง ปะการังเห็ด ปะการังเขากวางและปะการังก้อน สัตว์ทะเล เช่น ดอกไม้ทะเล ปลิงทะเล และปลาสวยงามมากมาย บริเวณอ่าวไม้งามนี้ ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ-ห้องสุขาไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่สนใจมาพักแรมแบบแคมป์ปิ้งไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อ่าวไม้งาม (Ao Mai Ngam)

อ่าวไม้งาม อยู่ที่เกาะสุรินทร์เหนือด้านตะวันตก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร บริเวณอ่าวไม้งามเป็นหาดทรายธรรมชาติที่งดงาม มีปูเสฉวนจำนวนมาก ปะการังที่พบในอ่าวนี้เป็นปะการังแผ่นตั้ง ปะการังเห็ด ปะการังเขากวางและปะการังก้อน สัตว์ทะเล เช่น ดอกไม้ทะเล ปลิงทะเล และปลาสวยงามมากมาย บริเวณอ่าวไม้งามนี้ ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ-ห้องสุขาไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่สนใจมาพักแรมแบบแคมป์ปิ้งไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อ่าวจาก (Ao Jak)

อ่าวจาก ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เดินทางโดยเรือประมาณ 45 นาที ที่นี่เป็นอีกแหล่งที่มีแนวปะการังในอ่าวใหญ่ที่สวยงาม ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังกิ่ง ด้านนอกมีปะการังก้อนสลับกับปะการังเขากวางกว้างใหญ่ อีกทั้งยังเป็นจุดดำน้ำตื้น ที่คุณจะได้เห็นสัตว์ทะเลอย่าง หอยมือเสือ ปลาสวยงามต่างๆ

อ่าวเต่า (Ao Tao)

อ่าวเต่า อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ แนวปะการังหักชันลงที่ลึก 20-25 เมตรอย่างรวดเร็วบริเวณด้านในของแนวปะการัง จะพบกับปะการังขนาดเล็กตรงกลางแนวปะการัง พบปะการังหลากหลายชนิด บริเวณขอบแนวปะการังพบปะการังก้อนใหญ่มีปะการังอ่อนและกัลปังหา อยู่เป็นหย่อมๆ ในที่ลึก สัตว์เด่นบริเวณนี้ คือ เต่ากระ และยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ รวมไปถึงโอกาสที่จะเห็นปลาใหญ่อย่างฉลามและกระเบนราหู เป็นต้น

อ่าวสุเทพ (Ao Suthep)

อ่าวสุเทพ ตั้งอยู่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ มีแนวปะการังยาวถึง 1,200 เมตร ด้านในของแนวปะการังเป็นปะการังขนาดเล็กปนเศษปะการัง ด้านนอกของแนวเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่สลับกับปะการังแผ่นนอนใหญ่ สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหา หอยมือเสือ และปลาสวยงามหลากหลายชนิด

อ่าวผักกาด (Ao Pak Kad)

อ่าวผักกาด ตั้งอยู่ใกล้อ่าวเต่า เป็นอ่าวเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยงาม โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเขากวาง พบปะการังหลากหลายชนิดในพื้นที่แคบๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ฯลฯ ที่นี่มีปลาเกือบทุกชนิดที่พบในหมู่เกาะสุรินทร์ โดยเฉพาะปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทรที่มีความหลากหลายมาก

เผ่ามอแกน (Mogan)

หมู่บ้านชาวเลหรือมอแกน ตั้งบ้านเรืออยู่บริเวณอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้ประมาณ 200 คน เป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพ โดยการงมหอย แทงปลา มอแกนไม่มีภาษาเขียนบางคนสามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง เด็กมอแกนคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่ยังเด็ก บางคนว่ายน้ำได้พร้อมๆ กับที่เดินได้ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กเล็กๆ พายเรือเล็กเล่นโดยลำพังโดยไม่ต้องมีใครดูแล มอแกนมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือ การดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลมและคลื่น รวมทั้งการว่ายดำน้ำและการทำมาหากินทางทะเล มอแกนก็มีความรู้เกี่ยวกับป่าและพืชพรรณไม้ที่หลากหลายในป่าด้วย พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ในเดือนเมษายนของทุกปีกลุ่มมอแกนที่กระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงและในประเทศสหภาพพม่าจะมารวมตัวกันที่หมู่เกาสุรินทร์เพื่อประกอบพิธี “ลอยเรือ” บวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Nature Study Trail) - หมู่เกาะสุรินทร์

ข้อมูลทั่วไป
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นเส้นทางดูนก ชมป่า สู่หาดไม้งามโดยเริ่มต้นจากอ่าวช่องขาดถึงหาดไม้งามระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าบนเกาะ ตลอดเส้น ทางมีป้ายสื่อความหมายให้รายละเอียดที่น่าสนใจ รวมทั้งสิ้น 14 สถานี

สถานีที่ 1 อ่าวช่องขาด
ร่องน้ำที่ท่านมองเห็น เป็นช่องกั้นระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ ซึ่งเรียกกันว่า “อ่าวช่องขาด” ส่วนหาดทรายสีขาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามนั้น ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมอแกน ปัจจุบันพวกเขาได้ย้ายออกไปตั้งหมู่บ้านยังอ่าวทางด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ บริเวณหาดทรายเริ่มมีพืชประจำป่าชายหาดขึ้นปกคลุม เมื่อเวลาน้ำลงมากๆ ท่านสามารถเดินข้ามฟากไปยังบริเวณหาดนั้น

สถานีที่ 2 หินแกรนิต
ต้นกำเนิดของหินแกรนิตเกิดมาจาก การเย็นตัวของหินหนืด (Magma) ใต้ผิวโลก หากสังเกตเห็น องค์ประกอบของเนื้อหินมีลักษณะหยาบๆ เนื่องจากหินหนืดมีการเย็นตัวอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ทำให้มีผลึกขนาดใหญ่แร่ที่เป็นองค์ ประกอบของหินชนิดนี้ได้แก่ ควอร์ตซ์ (Quartz) , เฟลด์สปา (Feldspa), โพแทสเซียม ,แฟลจิโอเคลส , ไมก้า,ไบโอไทด์และแอมฟีโบล

สถานีที่ 3 ต้นกร่าง
ต้นกร่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus Altissima Blume จัดเป็นไม้ในวงศ์ไทร (Family Moraceae) จะมีความสามารถพิเศษในการชอนไชรากไปตามซอกหิน และยึดติดบนโขดหินแทนดินได้ หรือเป็นพืชที่เข้าไปเกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่นและแย่งอาหารต้นไม้นั้นจนไม่สามารถดำรงชีวิตได้ แต่บางครั้งเราก็พบว่ามีพืชอิงอาศัยอื่นที่มาอยู่บนต้นไทรอีกที ผลของต้นกร่างเป็นอาหารอย่างดีของนกต่างๆ และค้างคาวแม่ไก่เกาะ หรือแม้แต่ตัวหนอนของแมลงบางชนิด นับว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสายใยอาหาร

สถานีที่ 4 ลักษณะชายฝั่งทะเล
ทางด้านทะเลอันดามันส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะชายฝั่งแบบยุบตัว (Submerged horeline) คือ ชายฝั่งที่เกิดจากเปลือกโลกที่มีการยกระดับต่ำลง ชายฝั่งประเภทนี้มักเป็นโขดหินเว้าแหว่งไม่ค่อยมีที่ราบ หากท่านใดที่เคยไปเยือนอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่อยู่ทาง ด้านฝั่งอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะเสม็ด หรือหาดวนกร ท่านจะเห็นว่าฝั่งอ่าวไทยจะมีลักษณะชายหาดที่กว้าง หาดทรายจะทอดตัวยาวกว่าทางฝั่งทะเลอันดามันมาก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเดิมเป็นภูเขา เมื่อเกิดการยุบตัวลงจึงมักจะเกิดเป็นเกาะแก่งต่างๆ ดังเช่น หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น

สถานีที่ 5 โกงกางหูช้าง
ต้นโกงกางหูช้างเป็นชื่อที่ทางจังหวัดตราดเรียกพืชชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Guettarda speciosa อยู่ในวงศ์ Rubiaceae ส่วนที่กระบี่จะเรียก“น่าเซีย” สุราษฎร์ธานีเรียก“เป่งเม่น” และที่ชุมพรเรียก“โพล่” ลักษณะใบของโกงกางหูช้างเป็นใบมน (elliptic) มีก้านใบค่อนข้างยาวการเรียงตัวของกิ่งจะเป็นคู่สลับทิศทางกัน (opposite decussate) ขอบใบเรียบ(entire)เป็นพืชที่ขึ้นเฉพาะในป่าชายหาด บางทีท่านอาจจะสับสนเพราะมีชื่อเรียกละม้ายกับพืชเด่นของป่าชายเลน

สถานีที่ 6 ต้นกระทิง
ต้นกระทิงที่ท่านเห็นอยู่เบื้องหน้านี้เป็นต้นกระทิงที่นักพฤกษศาสตร์ สรุปแล้วว่าเป็นต้นกระทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Calophyllum inophyllum L. จัดอยู่ในวงศ์ Guttiferae เป็นไม้ที่พบได้ทั่วไปตามชายหาดกับป่าบก พันธุ์ไม้สกุลนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ดอก ดอกของต้นกระทิงจะมีกลีบดอกรวม 8 กลีบ สีขาว มีเกสรเพศผู้จำนวนมากสีส้ม ผลกลม รับประทานได้ให้รสเปรี้ยว ไม้กระทิงจะมีลักษณะคล้ายกับไม้ยืนต้นตามป่าชายหาดทั่วๆ ไป ต้นไม่สูงมาก แต่ต้นกระทิงต้นนี้สูงถึง 20 เมตร เรือนยอดของต้นกระทิงจะแน่นทึบ คนจึงนำไปปลูกเป็นไม้ให้ร่ม ในอดีตคนไทยนิยมใช้ไม้กระทิงทำไม้หมอนรางรถไฟ แต่ปัจจุบันเราจะหาต้นกระทิงที่ใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ง่ายท่านจึงเป็นผู้โชคดีที่ได้พบเห็น

สถานีที่ 7 ป่าชายหาด
ป่าชายหาดเกิดจากการที่พืชขึ้นปกคลุมดิน หรือเนินทรายบริเวณชายฝั่งทะเลที่ยกตัวขึ้นจนน้ำท่วมไม่ถึง แต่ได้รับผลกระทบจากทะเล เช่นไอความเค็ม และลมจากทะเล โครงสร้างของป่าชายหาดจะแปรผันไปตามลักษณะดินและหินป่าชายหาดนี้เป็นหาดทรายค่อนข้างเก่ามักพบไม้พุ่มจำพวก รักทะเล นอกจากนี้จะพบไม้ยืนต้นจำพวกหูกวาง และจิกทะเล ส่วนไม้พื้นล่าง จะเป็นผักบุ้งทะเล เตยทะเล สำหรับป่าชายหาดบนหมู่เกาะสุรินทร์มีไม่ถึง 1 % ของพื้นที่ป่าทั้งหมด

สถานีที่ 8 พื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นทางน้ำซับธรรมชาติ ซึ่งเป็นธารน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล แต่เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งตื้นๆ จึงทำให้มีน้ำจืดขัง เกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเล็กๆ มีสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์อาศัยอยู่ไม่น้อย หากท่านลองสังเกตดูอาจจะเห็นปลาตัวเล็กๆ ตัวอ่อนของแมลงปอ หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ และเป็นที่อยู่อาศัยของพืชจำพวกที่ชอบความชื้น สูง เช่น บอน เต่าร้าง หวาย เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นเพียงพื้นที่ชุ่มน้ำพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ ที่ก่อให้เกิดความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ธรรมชาติ

สถานีที่ 9 พูพอน
ต้นตับหลามเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จึงต้องมีการพัฒนาทางด้านสรีระของลำต้นให้แผ่กว้างออกไป ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “พูพอน” การพัฒนาลำต้นออกไปเช่นนี้ มีความสำคัญในการช่วยพยุงลำต้นอันใหญ่โตให้ตั้งตรงอยู่ได้โดย ไม่โค่นล้ม ประกอบกับพื้นที่เป็นดินทราย ไม่เหมาะแก่การยึดเหนี่ยวของรากต้นไม้เท่าไหร่นัก ต้นไม้จึงต้องปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติ

สถานีที่ 10 ป่าชายเลน
สังคมพืชชนิดนี้ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ไม่ผลัดใบ ได้แก่ ไม้สกุลโกงกาง ป่าชายเลนที่นี่จะเกิดบนที่ราบแคบๆ ริมฝั่งทะเลหรือรอบๆ เกาะ เนื่องจากมีความผันแปรของระดับน้ำทะเล ทำให้พันธุ์ไม้ในป่านี้มีลักษณะพิเศษ เช่น มีต่อมขับเกลือที่ใบ ใบหนามันมีปากใบด้านล่าง ใบอวบน้ำ มีระบบรากที่แผ่กว้างช่วยค้ำจุนลำต้น และรากสามารถรับออกซิเจนจากบรรยากาศได้โดยตรง ผลสามารถงอกออกขณะอยู่บนต้นแม่ ทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็วและไกล ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งอาหาร ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ และช่วยกรองตะกอนจากน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล ทำให้น้ำทะเลมีความใสมากขึ้น

สถานีที่ 11 หวาย
หวายเป็นพืชในวงศ์ปาล์มที่มีหนามและเป็นจำพวกเดียวที่ลำต้นเลื้อยทอดไปตามดินและปีนป่ายไปบนต้นไม้เพื่อพยุงลำตันไว้(climbing palm)ต้นหวายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนลำหวาย(rattan cane)หรือลำต้นมีสีเขียว ผิวเกลี้ยงเหนียวเมื่อแห้งจะกลายเป็นสีขาวนวล และส่วนปลายจะเป็นกาบใบที่หุ้มลำหวายไว้(leaf sheaf)มีหนามขนาดเล็ก หวายต่างจากพืชพวกปาล์มอื่นๆอย่างชัด เจนคือมีส่วนมือเกาะ เรียกว่า cirrus หรือ flagellumมอแกนใช้หวายเหลาเป็นเส้นเพื่อเย็บใบเตยหนามทำเป็นใบเรือหรือหลังคาเรือ เส้นหวายมีความเหนียวมาก ในสมัยก่อนมอแกนใช้หวายในการผูกเสาและคาน

สถานีที่ 12 ไทร
ไทร เป็นพืชที่ออกดอกผลครั้งละมากๆ และหลายครั้งในรอบหนึ่งปี ผลไทรมีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นอาหารเลิศรสของสัตว์ป่านานาชนิดเช่น ลิง กระรอก นกลุมพู นกเขาเปล้าธรรมดา นกขุนทอง ในฤดูแล้งแม้ผลไม้ป่าชนิดอื่นๆ จะออกผลน้อยแต่ไทรก็ยังคงออกผลเป็นปริมาณที่สัตว์กินผลไทรไปแล้ว ก็จะถ่ายมูลซึ่งมี
เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ป่า หลังจากที่เหมาะสมต่อการงอก ก็จะเป็นการแพร่พันธุ์ต่อไป หากท่านใช้ความเงียบในป่าบริเวณนี้

สถานีที่ 13 เฟิร์น
เฟิร์นชนิดที่เกาะบนต้นไม้นี้ อยู่ในกลุ่มเดียวกับเฟินข้าหลวงหลังลาย (Asplenium sp) จัดเป็นผู้เกาะอาศัย หรือไม้อากาศ(epiphyte) ซึ่งจะเจริญเติบโตบนต้นไม้ แต่ไม่จัดเป็นพืชที่แย่งอาหาร (parasite) เพราะแค่ยึดเกาะอยู่กับผิวเปลือกไม้ เรียกลักษณะนี้ว่า special humus-gathering คือรากจะดูดธาตุอาหารและน้ำจากการผุพังของเปลือกไม้ ระบบรากที่แผ่ลอย จะทำหน้าที่สะสมฮิวมัส ใบของมันก็เช่นกัน จะรองรับใบไม้ที่ร่วงตกลงมาเป็นกองใหญ่ และใบไม้จะค่อยๆผุและย่อยสลายตัวปลดปล่อยธาตุอาหารแก่เฟิร์นต่อไป

สถานีที่ 14 กะพ้อแดง
กะพ้อเป็นพืชในวงศ์ปาล์ม มักขึ้นบริเวณที่ชื้น มีน้ำท่วมขังหรือ บริเวณขอบของแอ่งน้ำ กะพ้อมักขึ้นรวมเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์บางชนิด เช่น นกกวัก อีกทั้งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาตัวเล็กๆ เพราะใบของกะพ้อที่ร่วงหล่นลงมาทับถม เป็นที่หลบภัยได้เป็นอย่างดี และการขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ มีก้านใบที่มีหนาม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อสัตว์ผู้ล่า ใบกะพ้อมีก้านแข็งยาว ใบแตกเป็นแฉกลึก ยอดอ่อนของใบใช้นำมาแผ่ออกและห่อขนมต้ม ชาวมอแกนกินยอดอ่อนของกะพ้อ เมื่อดิบจะมีรสขม แต่ถ้านำไปต้มหรือย่างจะทำให้รสขมน้อยลง

สถานที่ติดต่อ : ต.คุระ อ. คุระบุรี จ. พังงา 82150

โทรศัพท์ : 076-472145, 076-472-146

โทรสาร : 076-472147

อีเมล : mukosurin_np@hotmail.com

จองที่พักออนไลน์




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่หมู่เกาะสุรินทร์