แผนที่นครสวรรค์
- แผนที่นครสวรรค์
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
นครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างตอนล่างของภาคเหนือและตอนบนของภาคกลาง มีพื้นที่ประมาณ 9,597 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของภาคเหนือรองจากเชียงใหม่และพิษณุโลก นับเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์อีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า นครสวรรค์มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ก่อนสุโขทัยเป็นราชธานี มีชื่อในศิลาจารึกของสุโขทัย โดยเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคญในการทำศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี กระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังเรียกชื่อว่า เมืองชอนตะวัน และเปลี่ยนเป็น นครสวรรค์ ในที่สุด แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า เมืองปากน้ำโพ ในประวัติศาสตร์มีหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า นครสวรรค์ เคยเป็นเมืองเกษตรกรรมมา ตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม เป็นที่ตั้งของกลุ่มชนชาวจีน ที่มาทำมาค้าขายระหว่างประเทศ
เมืองพระบางเป็นเมืองโบราณในสมัยสุโขทัยคู่กับเมืองคนที โดยตัวเมืองพระบางอยู่ที่เมืองนครสวรรค์เก่า ส่วนเมืองคนทีสันนิษฐานว่าอยู่ที่บ้านโคน ริมฝั่งแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร จากข้อมูลในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เมืองพระบางถูกผนวกรวมกันเข้ากับอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และตั้งตัวเป็นอิสระเมื่อสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และถูกผนวกรวมอีกครั้งในสมัยพระยาลิไท พระองค์ได้ประดิษฐานพระพุทธบาทพร้อมทั้งศิลาจารึกวัดเขากบไว้ที่เขากบ เมืองพระบาง ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ ในสมัยพระมหาธรรมราชาไสลือไทที่ประกาศให้สุโขทัยเป็นเอกราชได้รวมเมืองพระบางไว้ในอาณาเขตด้วย
เมื่ออำนาจของกรุงศรีอยุธยากล้าแข็งขึ้น เมืองพระบางจึงไปขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาในที่สุด มีหลักฐานในตำนานมูลศาสนาว่าพระญาณคัมภีร์ขอที่สร้างวัดในอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1972 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ไม่อนุญาตจึงมาขอที่ที่เมืองพระบาง เจ้าเมืองพระบางไม่ยกที่ให้ อ้างว่าเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของอยุธยา เมื่ออยุธยาไม่ให้ ทางเมืองพระบางก็ให้ไม่ได้
นครสวรรค์ มีพื้นที่ 9597.7 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ มีป่าไม้อยู่ทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออก แบ่งการปกครองออกเป็น 15 อำเภอ คือ
- อำเภอเมืองนครสวรรค์
- อำเภอโกรกพระ
- อำเภอชุมแสง
- อำเภอหนองบัว
- อำเภอบรรพตพิสัย
- อำเภอเก้าเลี้ยว
- อำเภอตาคลี
- อำเภอท่าตะโก
- อำเภอไพศาลี
- อำเภอพยุหะคีรี
- อำเภอลาดยาว
- อำเภอตากฟ้า
- อำเภอแม่วงก์
- อำเภอแม่เปิน
- อำเภอชุมตาบง
ทิศเหนือ จดจังหวัดกำแพงเพชรและพิจิตร
ทิศตะวันออก จดจังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี
ทิศใต้ จดจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดตาก
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ
- - อำเภอโกรกพระ 18 กิโลเมตร
- - อำเภอลาดยาว 40 กิโลเมตร
- - อำเภอเก้าเลี้ยว 20 กิโลเมตร
- - อำเภอท่าตะโก 45 กิโลเมตร
- - อำเภอไพศาลี 65 กิโลเมตร
- - อำเภอตากฟ้า 73 กิโลเมตร
- - อำเภอบรรพตพิสัย 34 กิโลเมตร
- - อำเภอชุมแสง 39 กิโลเมตร
- - อำเภอพยุหะคีรี 26 กิโลเมตร
- - อำเภอตาคลี 61 กิโลเมตร
- - อำเภอหนองบัว 71 กิโลเมตร
- - อำเภอแม่วงก์ 80 กิโลเมตร
- - อำเภอแม่เปิน 75 กิโลเมตร
การเดินทาง
ทางรถยนต์
แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครสวรรค์
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 52 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่าน อยุธยา-อ่างทอง-สิงห์บุรี-ชัยนาท-อุทัยธานี-นครสวรรค์ ระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 240 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
ทางรถประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490
ทางรถไฟ
ทางรถไฟ ทางรถไฟ มีขบวนรถไฟออกเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ-สถานีนครสวรรค์ ทุกวัน รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690
งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ (จัดช่วงตรุษจีน) เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องในโอกาสฉลองวันตรุษจีน จะจัดให้มีขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ ในงานจะมีการแห่มังกรทองซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณประโยชน์อย่างมากแก่มวลมนุษย์ จึงแห่แหนเพื่อแสดงความกตัญญู มีการเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ตามศาลเจ้าต่างๆ มาร่วมขบวนด้วย ริ้วขบวนจะประกอบด้วยวงดุริยางค์ ขบวนธง ขบวนสิงโต ขบวนเจ้าพ่อเจ้าแม่ ขบวนมังกรทอง ฯลฯ แห่ไปตามถนนต่างๆ ในตัวเมือง การเชิดมังกรทองที่จังหวัดนครสวรรค์ มีชื่อเสียงมากในด้านความสวยงามและการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจ ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก
งานประเพณีบุญกำฟ้า บ้านวังรอ จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวที่บ้านวังรอ ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก มักจะจัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 งานบุญกำฟ้า เป็นประเพณีโบราณของชาวไทพวนและไทโซ่ง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของบ้านวังรอ ชาวพวนและโซ่งมีความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผี โดยเฉพาะ "ผีฟ้า" จึงมีงานทำบุญประจำปีด้วยมีความเชื่อถือว่าจะนำความสุขและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชุมชน
ประเพณีการแข่งเรือ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา จะมีงานปิดทองไหว้พระ วัดที่มีแม่น้ำไหลผ่านหรือวัดใกล้เคียงแม่น้ำ จะมีประเพณีการแข่งเรือยาว เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี และความสามารถของฝีพาย ที่นำเรือยาวของตนเข้าแข่งขัน งานวัดที่สำคัญ คือ งานปิดทอง ไหว้พระของวัดจอมคีรีนาคพรต ซึ่งเป็นงานวัดงานสุดท้ายประจำปี การแข่งเรือมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเกาะหงส์ ตำบลตะเคียน อำเภอเมือง
งานประเพณีสงกรานต์ บ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี เป็นงานประเพณีของตำบลเขาทอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แสดงออกถึงศิลปะวัฒนธรรม และการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ เช่น รำพิษฐาน รำช้าเจ้าโลม เต้นกำรำเคียว การจับข้อมือสาว เข้านางสุ่ม ฯลฯ
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์
บึงบอระเพ็ด เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสงในอดีตบึงบอระเพ็ดได้ชื่อว่าเป็น "ทะเลเหนือ" หรือ "จอมบึง" เพราะมีสัตว์และพันธุ์พืชน้ำอยู่มากมาย จากการสำรวจพบว่ามีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พืช 44 ชนิด มีพันธุ์สัตว์ที่หายาก ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินทร ปลาเสือตอ และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมจะมีนกเป็ดน้ำจำนวนมากอพยพมาที่บึงแห่งนี้ พื้นที่บางส่วนได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดอยู่ในความดูแลของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กลางบึงมีตำหนักแพที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐาน
การเดินทางจากตัวเมืองนครสวรรค์ไปบึงบอระเพ็ด
- โดยทางเรือ จากตลาดท่าน้ำเทศบาลเมืองนครสวรรค์ไปตามลำน้ำผ่านขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงปากคลองเข้าบึงบอระเพ็ด เมื่อลอดใต้สะพานรถไฟเข้าไปก็จะถึงบริเวณบึง
- โดยรถยนต์ สามารถเข้าถึงบึงบอระเพ็ดได้ 2 ด้าน คือ 1. ทางด้านเหนือ เดินทางไปตามเส้นทาง สายนครสวรรค์-ชุมแสง ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาอีก 2 กิโลเมตร เข้าไปยัง "สถานีประมงบึงบอระเพ็ด" ภายในบริเวณสถานี มีบ่อเพาะพันธุ์ปลาและจระเข้ มีเรือหางยาวนำชมบึง 2. ทางด้านใต้ของบึงบอระเพ็ด จากตัวเมืองใช้เส้นทางสายนครสวรรค์-ท่าตะโก ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายอีก 4 กิโลเมตร ถึง "อุทยานนกน้ำ" หรือ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด" ซึ่งจัดตั้งอยู่ในรูปของศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ในบริเวณที่ตั้งสำนักงานจัดเป็นสวนพักผ่อน มีนกหลายชนิดเลี้ยงไว้ในกรงให้ชม มีบ้านพักบริการ การเข้าพักต้องทำจดหมายติดต่อที่ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด อุทยานนกน้ำอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โดยเสียค่าบำรุงสถานที่ให้กับสำนักงาน ขณะนี้กรมประมงกำลังดำเนินการพัฒนาปรับปรุงบึงบอระเพ็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการประมงและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
วัดจอมคีรีนาคพรต (วัดเขา) อยู่บนยอดเขาบวชนาค ระหว่างเชิงสะพานเดชาติวงศ์และค่ายจิรประวัติ ตำนานกล่าวว่า เมื่อกองทัพพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในครั้งที่ 2 ได้แล้ว จึงร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อแสดงว่านับถือพุทธศาสนาเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองและพระอุโบสถที่ชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์เทวดาสร้าง” ทุกๆ เดือน 12 ของปีจะมีงานนมัสการและปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองนี้เรียกว่า “งานวัดเขา” ซึ่งนอกจากจะมีงานสมโภชน์แบบงานวัดทั่วไปแล้วยังมีการแข่งขันเรือยาวอีกด้วย เมื่อขึ้นไปอยู่บนยอดเขาบวชนาคและมองลงมาจะเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของสะพานเดชาติวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา และเขากบ
อุทยานสวรรค์ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่กลางเมืองนครสวรรค์มีผู้นิยมไปพักผ่อนหย่อนใจกันมาก มีเนื้อที่ 314 ไร่ ใกล้ทางแยกสายเชียงใหม่-พิษณุโลก ติดกับถนนสายเอเซีย อุทยานสวรรค์ประกอบด้วยหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า "หนองสมบุญ" มีถนนวงแหวน 2 ชั้นล้อมรอบ ตรงกลางเป็นเกาะซึ่งมีเนื้อที่ 4 ไร่ มีสวนหย่อม สนามหญ้า น้ำพุ เวทีกลางแจ้ง น้ำตก ริมฝั่งน้ำภายในอุทยานจัดเป็นสวนสุขภาพ ด้านหน้าของสวนสาธารณะสร้างอย่างสวยงาม มีห้องน้ำ ห้องแต่งตัวบริการแก่นักท่องเที่ยว
ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่บริเวณชุมชนชาวปากน้ำโพ ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะและเป็นจุดรวมน้ำใจของชาวบ้าน รวมทั้งผู้สัญจรทางน้ำที่ผ่านไปมา
วัดศรีสวรรค์สังฆาราม (วัดถือน้ำ) ตั้งอยู่ที่ตำบลนครสวรรค์ ออกห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร ไปตามถนนพหลโยธิน (นครสวรรค์-กรุงเทพฯ) เข้าไปทางค่ายจิรประวัติ เป็นวัดเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับข้าราชการกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยมีใบหอก ใบพาย มีดดาบสมัยโบราณ พระพุทธรูปทองคำปางปฐมเทศนาและพระพุทธรูปเนื้อเงินบรรจุอยู่ภายใน พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าประมาณอายุได้ 100 ปีเศษ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จฯ มาทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่ วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดที่มีคุณค่าแก่การศึกษาในทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งแห่งหนึ่ง
ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา นครสวรรค์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านได้ไหลมาบรรจบกันที่ตำบลปากน้ำโพ บริเวณด้านหน้าเขื่อนในตัวเมือง ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำทั้งสองสายดังกล่าว จะมองเห็นถึงความแตกต่างของสายน้ำทั้งสองได้อย่างชัดเจน กล่าวคือแม่น้ำน่านจะมีสีค่อนข้างแดง และแม่น้ำปิงจะเป็นสีค่อนข้างไปทางเขียว เมื่อมาบรรจบกันแล้วจึงค่อยๆ รวมตัวเข้าด้วยกันกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ เป็นสายสำคัญของประเทศไทย ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางไปจนถึงกรุงเทพมหานคร และออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ มีความยาวประมาณ 370 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเที่ยวทางเรือเพื่อชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแวะนมัสการหลวงพ่อโตที่วัดปากน้ำโพ (วัดทองธรรมชาติเหนือ) สามารถเช่าเรือจากท่าน้ำเจ้าพระยา โดยเสียค่าเช่าเรือประมาณ 180 บาท (ไปกลับ) เรือบรรทุกได้ 15 คน
วัดเกรียงไกรกลาง ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลเกรียงไกร ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 22 กิโลเมตร ตามถนนสายนครสวรรค์-ชุมแสง เป็นวัดเก่าแก่ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ภาพเขียนฝาผนังโบสถ์ เจดีย์เก่าและมณฑปพระพุทธบาท บริเวณวัดมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าของวัดมีเอกชนจัดทำฟาร์มเลี้ยงจระเข้อยู่ด้วย
ถ้ำบ่อยา เป็นถ้ำอยู่บนเขาที่หมู่บ้านหินก้อน ตำบลหนองกรวด อยู่ห่างจากตัวเมืองเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ตามถนนสายนครสวรรค์-ลาดยาว ทางแยกเข้าวัดถ้ำบ่อยา (วัดศรีอุทุมพร) ระยะทาง 6 กิโลเมตร จากบริเวณเชิงเขา มีบันไดขึ้นไปสู่ตัวถ้ำ ภายในถ้ำมีบริเวณกว้างขวางพอสมควร โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ตอนแรกเป็นที่ตั้งพระประธานองค์ใหญ่ ช่วงที่ 2 อยู่ลึกเข้าไปข้างในเป็นทางตัน บริเวณนี้จะมีบ่อน้ำทิพย์ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นบ่อยาศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย ช่วงที่ 3 เป็นทางที่จะออกจากบริเวณถ้ำสู่ภายนอกได้ทางหนึ่ง ภายในบริเวณถ้ำนอกจากจะมีบ่อน้ำทิพย์อยู่ดังกล่าวแล้ว ยังมีหินย้อยตามธรรมชาติที่งดงาม ซึ่งจะมองเห็นได้จากแสงไฟฟ้า ซึ่งมีให้ความสว่างอย่างเพียงพอภายในถ้ำ
วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) เป็นวัดเก่าแก่ของนครสวรรค์ ตั้งอยู่บนยอดเขาและเชิงเขากบ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 185.50 เมตร มีทางขึ้น 2 ทางคือ ทางเดินขึ้นบันได จำนวน 437 ขั้น และอีกด้านหนึ่งมีถนนราดยางขึ้นสู่ยอดเขา ซึ่งมีโบราณวัตถุ อาทิ รอยพระพุทธบาทจำลอง เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสร้างสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี บริเวณเชิงเขามีเจดีย์ขนาดใหญ่สมัยสุโขทัย ซึ่งกรมศิลปากรได้จารึกประวัติศาสตร์ของวัดไว้ที่ฐานของเจดีย์องค์นี้ด้วย วัดนี้ได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา และมหาเถรสมาคมให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อ พ.ศ. 2509 นอกจากนั้นในวัดยังมีรูปหล่อพระหลวงพ่อทอง อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารข้างเจดีย์ใหญ่ด้วย บริเวณเนินเขาใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของสถานีถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 และ 11 จาก กรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดในภาคเหนือ
วัดนครสวรรค์ (วัดหัวเมือง) ตั้งอยู่ที่ถนนสวรรค์วิถี เป็นที่ประดิษฐานพระผู้ให้อภัยยิ่งหรือพระหันหลังให้กัน อยู่หลังโบสถ์วัดนครสวรรค์ด้านถนนเทพสิทธิชัย หันหน้าไปทางทิศตะวันออกองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ มีประวัติว่าชนชาติพม่าเป็นผู้สร้าง พม่าเคยยกทัพมาถึงเมืองนครสวรรค์ และได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นอนุสรณ์ การหันหลังให้กันอาจมีความหมายถึงการให้อภัยไม่จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไป และภายในโบสถ์วัดนครสวรรค์นั้น มีพระพุทธรูปนามว่า หลวงพ่อศรีสวรรค์ ประดิษฐานอยู่เป็นที่เคารพสักการะของชาวนครสวรรค์
หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ในบริเวณวิทยาลัยครูนครสวรรค์ ตำบลนครสวรรค์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ตรีมุขที่สวยงาม เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมของจังหวัด ภายในเป็นห้องนิทรรศการ แสดงการพัฒนาการทางวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโรงละครขนาด 110 ที่นั่งจัดแสดงประเพณีศิลปวัฒนธรรม หอวัฒนธรรมนี้สร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2535
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอตาคลี
สระทะเล ตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลตาคลี ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 94 กิโลเมตร เป็นสวนสาธารณะ มีสระน้ำตามธรรมชาติ ทัศนียภาพสวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่
เขาถ้ำบุนนาค ตั้งอยู่ที่ตำบลตาคลี ถนนเป็นลูกรังห่างจากอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด 80 กิโลเมตร ลักษณะที่ตั้งเป็นภูเขา ปากถ้ำสูงจากเชิงเขาประมาณ 25-30 เมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูป และรอยพระพุทธบาทจำลอง มีปล่องให้แสงสว่างจากยอดเขาลงมา บรรยากาศในถ้ำไม่อับชื้นแต่เย็นสบายเพราะลมที่ลงมาตามปล่องภูเขาแล้วออกทางปากถ้ำ ที่เชิงเขาด้านปากถ้ำมีวัดถ้ำบุนนาค ที่กว้างขวางร่มเย็น
จันเสนเมืองโบราณ จันเสนเป็นตำบลแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ 9 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ ตามถนนหมายเลข 3196 สายลพบุรี-ตาคลี ตัดผ่านซึ่งสามารถไปเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 11 สายอินทร์บุรี-วังทอง และถนนหมายเลข32 สายเอเชียได้ และมีทางรถไฟผ่านสถานีจันเสนอีกทางหนึ่ง สำหรับส่วนที่เป็นเมืองโบราณอยู่ในบริเวณบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลจันเสน มีบริเวณเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่มีมุมทั้งสี่เป็นรูปมนจนเกือบเป็นรูปกลม ล้อมรอบด้วยคูเมืองซึ่งกว้างประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง แต่ก็ยังเป็นร่องรอยพอมองเห็นเค้าคูเมืองได้อย่างชัดเจน มีความยาวประมาณ 800 เมตร ความกว้าง 700 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ เนื่องจากบริเวณภายในคูเมืองดังกล่าวมีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่ราบนอกคูเมือง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "โคกจันเสน" ในบริเวณเมืองโบราณได้ขุดพบวัตถุโบราณหลายอย่าง คือ ของประเภทที่ทำด้วยดินเผา อาทิ พระพิมพ์ ดวงตรา ตุ๊กตา ประเภทที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานบัว ธรรมจักร ขวานหินขัด ประเภทที่ทำด้วยโลหะมี ตุ้มหูทำด้วยตะกั่วหรือดีบุก ใบหอก เหล็ก ประเภทที่ทำด้วยสำริด มีพระโพธิสัตว์สำริดยืน ปัจจุบันโบราณวัตถุดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่วัดจันเสนและกรมศิลปากร
วัดจันเสน ตั้งอยู่ที่ตำบลจันเสน ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร หรือหากวัดโดยเส้นทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ ตำบลจันเสนอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 174 วัดจันเสนอยู่หลังสถานีรถไฟประมาณ 500 เมตร นอกจากนี้ บริเวณวัดจันเสนยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆที่ขุดพบในเมืองโบราณอีกด้วย
เขาพระเจดีย์ (เขากากซาก) ตั้งอยู่ที่ตำบลตาคลี ถนนราดยางห่างจากอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด 80 กิโลเมตร เขาพระเจดีย์ (เขากากซาก) มีลักษณะเป็นเนินเขา ประกอบด้วยหินที่มีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ เป็นเหลี่ยม ขรุขระ เป็นโพรง ไม่ราบเรียบเหมือนเขาอื่นๆ ไม่มีดินปนอยู่เลย ลักษณะของหินคล้ายกระดูกสัตว์ที่ตายหักทับถมกันมาเป็นเวลานาน มีถ้ำไม่ลึกมากอยู่ 1 ถ้ำ มีความงดงามพอประมาณเข้ากับลักษณะของหิน ที่ตีนเขามีวัดเขาพระเจดีย์
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอตากฟ้า
วัดถ้ำพรสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ตำบลลำพยนต์ มีถนนราดยางระยะทางจากตัวจังหวัด 105 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร ตามถนนสายตากฟ้า-โคกสำโรง บริเวณวัดสวยงามมีศาลาสมภพ ปลูกสร้าง 3 ชั้น อย่างทันสมัย ข้างหลังวัดมีถ้ำพรสวรรค์ ภายในแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นห้องเล็ก ตอนที่สองเป็นห้องใหญ่ มีพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างทันสมัยอยู่มาก มีน้ำตกจำลอง มีสระน้ำตรงกลางถ้ำ พื้นถ้ำเทคอนกรีตหมด บรรยากาศเย็นสบาย ไม่มีค้างคาวอาศัยอยู่ ภายในถ้ำติดตั้งระบบไฟฟ้า และประปาอย่างพร้อมมูล
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโกรกพระ
เขื่อนวังรอ ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลเนินศาลา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอประมาณ 17 กิโลเมตร ตามถนนสายโกรกพระ-ทัพทัน ทางแยกเข้าเขื่อนวังรอระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังที่สภาพไม่ดีนัก เขื่อนเก็บน้ำวังรอมีทัศนียภาพที่สวยงาม ช่วยให้การเกษตรของเกษตรกรในอำเภอโกรกพระและอำเภอเมืองอุทัยธานี ตัวเขื่อนเป็นคอนกรีต สันเขื่อนเป็นคันดิน
เขาถ้ำพระ ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลเนินศาลา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 20 กิโลเมตร ตามถนนสายโกรกพระ-ทัพทัน ทางแยกไปเขาถ้ำพระระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และพระพุทธรูป ในเทศกาลสงกรานต์ประชาชนในท้องถิ่นจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการเป็นจำนวนมาก จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตประมาณ 100 ขั้น ขึ้นสู่ปากถ้ำ เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นภูมิประเทศที่สวยงามของอำเภอโกรกพระ
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบรรพตพิสัย
เขาหน่อ-เขาแก้ว อยู่ริมทางหลวงสายพหลโยธิน ช่วงนครสวรรค์-กำแพงเพชร ในท้องที่ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย ระยะทางจากตัวจังหวัดประมาณ 45 กิโลเมตร และจากตัวที่ว่าการอำเภอบรรพตพิสัยประมาณ 18 กิโลเมตร เขาหน่อเป็นเขาหินปูนที่มีวัดเขาหล่ออยู่เชิงเขา มีบันไดขึ้นสู่ถ้ำบนยอดเขาและมีพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่อยู่ปากถ้ำ เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จภาคเหนือทางชลมารคสายแม่น้ำปิง เคยทรงประทับพักแรม ต่อมาจังหวัดได้สร้างพระบรมรูปไว้เป็นอนุสรณ์ บริเวณเชิงเขามีฝูงลิงจำนวนมาก คอยรับอาหารจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือน นอกจากนี้เวลาเย็นจะมองเห็นฝูงค้างคาวที่อาศัยอยู่ตามถ้ำน้อยใหญ่ในภูเขาบินออกไปหากิน ดูเป็นสายยาวสีดำอยู่บนท้องฟ้า ส่วนเขาแก้ว อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีถ้ำหลายถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของค้างคาวมากมาย ในเวลาเย็นใกล้พลบค่ำฝูงค้างคาวจะพากันบินออกหากิน
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพยุหะคีรี
บ้านโคกไม้เดน ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าน้ำอ้อย ห่างจากตัวเมือง 33 กิโลเมตร ตามถนนพหลโยธิน มีทางแยกเข้าบ้านโคกไม้เดน ระยะทาง 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่มีโบราณวัตถุซึ่งแสดงถึงเมืองเก่าแก่สมัยสุโขทัย ได้แก่ ซากกำแพงเนินดิน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้ขุดพบโบราณวัตถุเป็นรูปปั้นช้างพญาฉัททันต์ ซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปี คำว่า "โคกไม้เดน" เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ศิลปะโบราณที่บ้านโคกไม้เดน เช่น รูปปั้นต่างๆ ได้ถูกนำออกแสดงที่ต่างประเทศ โดยนักโบราณคดีชาวอเมริกันและออสเตรเลีย คนสมัยเก่าเรียกบ้านโคกไม้เดนว่า "เมืองบน" สร้างขึ้นในสมัยทวาราวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 (พ.ศ. 1000-1500) ตัวเมืองบนมีลักษณะเป็นรูปรีคล้ายหอยสังข์ ขนาดยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 600 เมตร คล้ายเมืองกำแพงนครปฐม เมืองเสมาจังหวัดนครราชสีมา และเมืองพญาแร่จังหวัดชลบุรี
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองบัว
เขาพระ ตั้งอยู่ที่หมู่ 18 ตำบลหนองกลับ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ตามถนนสายหนองบัว-เหมืองแร่ สภาพเป็นถนนลูกรัง การคมนาคมยังไม่สะดวก แต่สามารถเดินทางไปได้ทุกฤดูกาล บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางเชียงแสนและรอยพระพุทธบาทที่ชาวบ้านนับถือมาก มีสวนหินขนาดกว้างประมาณ 50 ตารางวา มีถ้ำลึกประมาณ 30 เมตร กว้าง 2 เมตร เป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก และมีอ่างหินขนาดใหญ่รองรับน้ำฝนจากธรรมชาติที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เขาพระนี้มีหินสีชมพูทั้งเขา ซึ่งทางราชการได้สงวนหวงห้ามการทำหินอ่อนโดยเด็ดขาด
สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอแม่วงก์
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ป่าแม่วงก์เป็นรอยต่อของสองจังหวัดคือ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ส่วนที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า ป่าแม่วงก์-แม่เปิน ส่วนที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า ป่าคลอง แม่วงก์-ป่าคลองขลุง ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติแม่วงก์" มีเนื้อที่ประมาณ 894 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อุทยานประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ คือ ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 70% ป่าดงดิบ 25% และป่าเต็งรังประมาณ 5% ของพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจอีกมากมาย เช่น ไม้สัก มะค่าโมง ประดู่ ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ มีหลายแห่ง เช่น
แก่งผานางคอย เป็นแก่งหินของลำห้วยคลอง ขลุง ที่ไหลเรื่อยจนกลายเป็นน้ำตก 4 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 800 เมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติที่จัดไว้ เหมาะสำหรับกางเต็นท์และศึกษาสภาพป่า
บ่อน้ำอุ่น เป็นบ่อน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ มีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส อยู่ห่างจากที่ทำการ 1.5 กิโลเมตร
จุดชมวิว ตลอดเส้นทางสายคลองลาน-อุ้มผาง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 57 ถึงกิโลเมตรที่ 117 มีจุดชมวิวหลายแห่งได้แก่ กิโลเมตรที่ 81 87 92 102 และ 115 โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 102 มีน้ำตกริมทางที่สวยงาม
น้ำตกแม่เรวา มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็นชั้นๆ ถึง 9 ชั้น น้ำไหลเกือบตลอดปี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง หนังสืออาเซียน แม็กกาซีน พ.ศ. 2518 ยกย่องว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเอเซีย นอกจากนี้มีน้ำตกแม่กระสา ที่มีความสูง 900 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการ 18 กิโลเมตร น้ำตกแม่เรวา มีความสูง 100 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการ 21 กิโลเมตร ยอดเขามูโกจูเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานฯ มีความสูง 1,960 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการ 30 กิโลเมตร การเดินทาง จากนครสวรรค์ใช้เส้นทางสายนครสวรรค์-ลาดยาว-คลองลาน หมายเลข 1072 แล้วเข้าสู่ที่ทำการอุทยานฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1117 (คลองลาน-อุ้มผาง) กิโลเมตรที่ 65 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมติดต่อได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-0529, 579-4842
ทุ่งหินเทิน ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลปางสวรรค์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร หรือจากอำเภอลาดยาวไปตามถนนลาดยางบ้านห้วยน้ำหอม ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าเชิงเขาที่มีกลุ่มก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งวางซ้อนกันอยู่หลายแห่งหลายรูปแบบ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ในลักษณะที่สัมผัสกันเพียงเล็กน้อยเหมือนมีคนจับวาง นับเป็นสวนหินธรรมชาติที่สวยแปลกตา