แผนที่พัทลุง

  • แผนที่พัทลุง
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

พัทลุง เป็นเมืองเก่าแก่โบราณเมืองหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นเมืองแห่งเขาอกทะลุ มีเนื้อที่ประมาณ 3,425 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็น ภูเขาและที่ราบสูงทางด้านตะวันตก ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบไปจนถึง ทะเลสาบสงขลา เหมาะต่อการทำนาและ ทำการประมงพัทลุง

พัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอในสมัยศรี วิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 –14) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียในด้านพระพุทธ ศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานค้นพบ เช่น พระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดาโดยค้นพบบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์ และถ้ำเขาอกทะลุ

ในพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคงภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ได้ปรากฏชื่อเมืองพัทลุง ในกฎหมายพระอัยการนาทหารหัวเมือง พ.ศ. 1998 ระบุว่าเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ที่ตั้งเมืองพัทลุงในระยะเริ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า ตั้งอยู่ที่เมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน มักจะประสบปัญหาโดนโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโจรสลัดราแจะอารูและอุยงคตนะ ได้เข้าปล้นสดมภ์โจมตีเผาทำลายเมืองอยู่เนือง ๆ

ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ด๊ะโต๊ะโมกอล ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองสาเลห์ บริเวณหมู่เกาะชวา ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสุลต่านสุไลมาน แห่งเมืองสงขลาได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขาย ณ หัวเขาแดง แล้วตั้งประชาคมมุสลิมขึ้น ตรงนั้นอย่างสงบ ไม่มีการขัดแย้งกับชาวเมืองที่อยู่มาก่อน ปักหลักอยู่ยาวนานจนมีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่มากขึ้นในที่สุดก็พัฒนาขึ้นมา เป็นเมืองท่าปลอดภาษี มีเรือสำเภาแวะเข้ามาซื้อ

บทบาทของดะโต๊ะโมกอลได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรศรีอยุธยาด้วยดี พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น "ข้าหลวงใหญ่" ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาคือท่านสุไลมานบุตรชายคนโต มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาความสงบของพื้นที่ตั้งแต่ตอนล่างของนครศรีธรรมราช มาจดเขตปัตตานี ครอบคลุมครึ่งล่างของเมืองตรัง ปะเหลียน พัทลุง และสงขลา นอกจากนี้ก็ต้องเก็บส่วยสาอากรส่งถวายพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยา ท่านสุไลมานก็ได้ทำหน้าที่นี้เรียบร้อยด้วยดีมาตลอด ต่อมาได้ย้ายเมืองสงขลาจากสทิงพระมายังหัวเขาแดงซึ่งมีชัยภูมิป้องกันตนเอง ได้ดีกว่า

ในสมัยสุลต่านสุไลมาน บุตรของดะโต๊ะโมกอล ได้ส่ง ฟาริซีน้องชายซึ่งเป็นปลัดเมืองมาสร้างเมืองใหม่ที่เขาชัยบุรี เพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาโจมตีเมืองสงขลาทางบก ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง และได้ย้ายเมืองพัทลุงออกจากเมืองสงขลาตั้งแต่นั้น และตั้งเมืองอยู่ที่เขาชัยบุรีตลอดมาจนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้งและได้ยกขึ้นเป็นเมืองชั้นโทใน รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำที่มีความสำคัญในการสร้างความเจริญและความมั่น คงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน อาทิ พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว)พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทร์โรจน์วงศ์) ส่วนประชาชนชาวเมืองพัทลุงก็ได้มีบทบาทในการร่วมมือกับผู้นำ ต่อสู้ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2328 – 2329) พม่าจัดกองทัพใหญ่ 9 ทัพ 1 ใน 9 ทัพ มีเกงหวุ่นแมงยีเป็นแม่ทัพ ยกลงมาตีทางใต้ ตีได้เมืองกระบุรี ระนอง ชุมพร ไชยา และนครศรีธรรมราชตามลำดับ และในขณะที่กำลังจัดไพร่พลอยู่ที่นครศรีธรรมราช เพื่อจะยกมาตีเมืองพัทลุงและสงขลานั้น พระยาพัทลุงโดยความร่วมมือจากพระมหาช่วยแห่งวัดป่าลิไลยก์ ได้รวบรวมชาวพัทลุงประมาณ 1,000 คน ยกออกไปตั้งขัดตาทัพที่คลองท่าเสม็ด จนกระทั่งทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงยกกองทัพมาช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ ตีทัพพม่าแตกหนีไป พระมหาช่วยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วแต่งตั้งเป็นพระยาทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุง นอกจากสงครามกับพม่าแล้วชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุง พร้อมด้วยเสบียงอาหารไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมลายูเช่น กบฏไทรบุรี พ.ศ. 2373 และ พ.ศ. 2381 ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุง ทางด้านการเมือง การปกครองในอดีตเป็นอย่างดี

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2437 และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2439 ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง 7 ที่เป็นเมืองปัตตานีเดิม สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง อำเภออุดร และอำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ กระทั่งถึง พ.ศ. 2467 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายเมืองพัทลุงไปอยู่ ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน และเมื่อมีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ใน พ.ศ. 2476 พัทลุงก็ได้รับการ ยกฐานะเป็นจังหวัดตั้งแต่นั้นมา

จังหวัดพัทลุงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอได้แก่

อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม และอำเภอศรีนครินทร์

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือเขาบรรทัด

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-พัทลุง

ทางรถยนต์ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
- เส้นทางแรก ตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงชุมพร (สี่แยกปฐมพร) แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง จนถึงพัทลุง ระยะทางประมาณ 1,140 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 เมื่อมาถึงชุมพร เข้าทางหลวงหมายเลข 41 จนถึงจังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ 840 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 3 เมื่อมาถึงชุมพรแล้ว ผ่านสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 403 จากนั้นจึงเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ที่ชุมทางเขาชุมทอง จนถึงพัทลุง

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด ถนนบรมราชชนนี มีรถออกจากสถานีทุกวันๆ รถโดยสารธรรมดา รถโดยสารปรับอากาศทุกวัน ๆ ละ 1 เที่ยว เวลา 20.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 435-1200, 4347192 มีรถเอกชนวิ่งบริการ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถออกเดินทางทุกวัน เวลา 19.30 น. อัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศธรรมดา 376 บาท ปรับอากาศวีไอพี 560 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 435-1199 สำนักงานพัทลุง (074) 612070 และบริษัท ทรัพย์ไพศาล มีรถออกวันเว้นวัน วันละ 2 เที่ยว เวลา 18.00 น. และ 20.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 435-5017 สำนักงานพัทลุง (074) 612055

ทางรถไฟ

รถไฟ มีบริการรถไฟผ่านท้องที่อำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน มีเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด ไปจังหวัดตรังและหาดใหญ่ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 02-356-1111 หรือที่การบินไทย จังหวัดตรัง โทร. (075) 218066, 219923 และการบินไทย สำนักงานหาดใหญ่ โทร. (074) 245851-2, 243711, 233433

งานประเพณีแข่งโพนลากพระ (ชักพระ) นิยมทำกันทั่วไปในภาคใต้ ในช่วงเดือน 11 (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) การลากพระมีอยู่ 2 ลักษณะ ตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ คือ ลากพระทางบกและลากพระทางน้ำ สำหรับจังหวัดพัทลุงเป็นการลากพระทางบก ซึ่งจะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน และเมื่อผ่านวัดต่างๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนเกิดขึ้น และทางจังหวัดพัทลุงก็ได้จัดให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเทศกาลลากพระเดือน 11
การละเล่นซัดต้ม ประเพณีซัดต้มมีที่มาอันเกี่ยวข้องกับประเพณีลากพระกล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดีงส์ ลงมายังโลกมนุษย์ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีพุทธศาสนิกชนรอเข้าเฝ้าเพื่อถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถถวายภัตตาหารได้อย่างใกล้ชิด จึงได้มีการนำใบไม้มาห่อหุ้มภัตตาหาร ซึ่งเรียกกันว่า "ข้าวต้ม" หรือ "ต้ม" และพยายามโยนต้มเหล่านั้นให้ลงบาตร แต่การโยนทำให้ต้มพลาดไปถูกเหล่าพุทธศาสนิกชนด้วยกันเอง ต่อมาจึงกลายเป็นการละเล่นซัดต้ม และพัฒนาเป็นการแข่งขันด้านไหวพริบ และความรวดเร็วว่องไวในการซัด และหลบหลีกต้มซึ่งจัดทำอย่างพิเศษ (ใช้ข้าวตากผสมกับทรายห่อด้วยใบตาลเป็นรูปตะกร้อสี่เหลี่ยม) การละเล่นซัดต้มต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่สามารถหลบหลีกต้มของคู่ต่อสู้ อาจจะเป็นอันตรายได้ ปัจจุบันการซัดต้มหาดูได้ค่อนข้างยาก ทางจังหวัดพัทลุงจึงได้จัดให้มีการแข่งขันซัดต้มรวมอยู่ในงานประเพณีแข่งโพนลากพระในเดือน 11 ด้วย
งานวันอนุรักษ์มรดกไทยและงานมหกรรมชิงแชมป์หนังตะลุง เป็นงานที่จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี กิจกรรมภายในงานจะเป็นการจัดนิทรรศการการละเล่นพื้นบ้านปักษ์ใต้ และการประกวดหนังตะลุง ซึ่งได้รับความสนใจจากศิลปินพื้นบ้านเข้าร่วมการประกวดมากมาย งานดังกล่าวนี้จะจัดขึ้น ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือที่เรียกกันว่า "พระสี่มุมเมือง" เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และพระคู่บ้านคู่เมืองของพัทลุง ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัด กับศาลจังหวัดพัทลุง เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ. 2511
ถ้ำคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ถนนคูหาสวรรค์ใกล้ๆ ตัวตลาดพัทลุงจะมีทางเลี้ยวซ้ายมือที่เขาหัวแตก จะเป็นทางไปสู่วัดถ้ำคูหาสวรรค์ วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดพัทลุง ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ และ พระพุทธรูปนั่งประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำ และบริเวณหน้าถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ปรากฎอยู่
 ภูเขาอกทะลุ จากวัดคูหาสวรรค์มุ่งหน้าไปบนทางหลวงหมายเลข 4047 สู่สถานีรถไฟพัทลุงจะพบภูเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ ภูเขาอกทะลุเป็นสัญญลักษณ์ของพัทลุง มีความสูงประมาณ 250 เมตร มีทางสำหรับปีนขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของภูเขาลูกนี้คือ มีช่องแลทะลุยอดภูเขาอยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขาซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูเขาลูกนี้
 ถ้ำมาลัย อยู่ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ 2 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 4047 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 จะมีทางลูกรังแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ถ้ำนี้อยู่ในเทือกเขาเดียวกันกับภูเขาอกทะลุ ถูกค้นพบโดยพระธุดงค์จากภาคอีสาน ชื่อพระมาลัย จึงได้ตั้งชื่อตามชื่อของผู้ค้นพบ ภายในถ้ำมีลักษณะกว้างขวางสลับซับซ้อน มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก และมีแอ่งน้ำใสอยู่ตอนในสุดของถ้ำ
วัดวัง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4047 ประมาณ 6 กิโลเมตร (ใช้เส้นทางเดียวกับเขาอกทะลุและถ้ำมาลัย) เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง สร้างโดยพระยาพัทลุง (ทองขาว) ในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกทั้งเคยเป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 108 องค์ ซึ่งเรียงรายอยู่ตามระเบียงคด นอกจากนี้ยังมี พระเจดีย์ วิหาร และพระอุโบสถที่สวยงามน่าชม
วังเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดวัง เดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่งคือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจนวงษ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังในสร้างเมื่อ พ.ศ. 2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจนวงษ์) บุตรชายของพระยาพัทลุงซึ่งเป็นผู้ว่าราชการ ปัจจุบันทายาทตระกูล "จันทโรจนวงษ์" ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติ โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2526
หาดแสนสุขลำปำ อยู่เลยวัดวังไปตามทางหลวงหมายเลข 4047 อีกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีทิวสนร่มรื่นริมฝั่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย มีศาลากลางน้ำ ชื่อ "ศาลาลำปำที่รัก" สำหรับชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบ และจากบริเวณชายหาดมีสะพานเชื่อมไปยังเกาะลอย ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากน้ำลำปำ มีร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม
น้ำตกบ้านโตน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลลำสินธุ์ อำเภอเมืองพัทลุง เดินทางจากตัวเมืองถึงได้โดย ไปตามทางหมายเลข 4 ประมาณ 18 กิโลเมตร มีทางแยกถนนสายคลองหมวยบ้านกงหรา ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงทางแยกบ้านโตน ต่อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถึงน้ำตก ทางน้ำไหลเป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงมา
น้ำตกเขาคราม ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองพัทลุง ไปถึงได้โดยจากตัวเมืองพัทลุง ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงบ้านต้นไทร ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร มีทางแยกตามถนนสายต้นไทรประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านเขาคราม มีถนนถึงน้ำตกอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงน้ำตก ถ้ำสุมโน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายพัทลุง-ตรัง ประมาณ 21 กิโลเมตร มีรถประจำทางวิ่งผ่าน ตัวถ้ำอยู่ห่างจากถนนประมาณ 500 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย และมีห้องโถงกว้างขวางใหญ่โต ร่มเย็นสวยงามวิจิตรตระการตาตามธรรมชาติ ถ้ำมีสองชั้น คือชั้นแรกเสมอกับพื้นราบและชั้นใต้ดิน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ นอกจากนี้ถ้ำสุมโนยังเป็นที่วิปัสสนาของผู้ที่แสวงหาธรรมะเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบและรักธรรมชาติ

สถานที่น่าสนใจ ในอำเภอควนขนุน

  อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นอุทยานนกน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4048 จากอำเภอเมืองพัทลุง-อำเภอควนขนุข ไปสุดที่ทะเลน้อย รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร ทางราดยางตลอดทั้งสาย เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีพื้นที่ประมาณ 281,250 ไร่ โดยมีพื้นน้ำประมาณ 17,500 ไร่ อยู่บริเวณเหนือสุดของทะเลสาบสงขลา ทะเลน้อยเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีนกอยู่มากมายกว่า 150 ชนิด จำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว นกที่มีมากได้แก่ นกอีโก้ง นกพริก นกเป็ดแดง นกเป็ดคับแค นกเป็ดผี นกกาบบัว นกอีล้ำ นกอีลุ้ม นกกะปูด นกนางนวล นกนางแอ่น นกยางเฟีย นกอัญชัญ นกกระสาแดง นกกระสานวล อีกา เหยี่ยวต่างๆ ฤดูกาลที่เหมาะที่สุดสำหรับการไปดูนก คือช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน นอกจากนกน้ำต่างๆ แล้ว ในทะเลน้อยยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น ย่านลิเภา จูดหนู แขม กก สามเหลี่ยม กง ลาโพ จูด บัวหลวง บัวสายแดง บา จอกหูหนู ผักตบชวา และสาหร่ายต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปชมนกได้จากท่าเรือทะเลน้อยและใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มีเรือนพักไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย โดยอยู่ในความดูแลของอุทยานฯ ติดต่อสอบถามรายละเอียด ได้ที่ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปได้โดยทางเรือและทางรถไฟอีกด้วย โดยทางเรือนั้นสามารถเดินทางจากอำเภอต่างๆ ซึ่งอยู่ริมทะเลสาบ เช่น อำเภอระโนด อำเภอสะทิงพระ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน อำเภอควนขนุนและอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส่วนทางรถไฟไปลงรถไฟที่สถานีปากคลอง จากนั้นต่อรถยนต์ไปทะเลน้อยอีก 8 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเขาชัยสน

บ่อน้ำร้อนธารน้ำเย็น จากตัวจังหวัดไปทางใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 25 กิโลเมตร เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 47 (บ้านท่านางพรหม) จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4081 ไปอำเภอเขาชัยสน ประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณถนนสุขาภิบาล ซอย 2 ติดที่ว่าการอำเภอเขาชัยสน จะมีทางลูกรัง แยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ถึงหน้าผาเชิงเขาชัยสน อันเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำเย็นแต่งเป็นสวนพักผ่อน เลยไปอีก 300 เมตร เป็นวัดบ่อน้ำร้อน ลักษณะเป็นแอ่งน้ำร้อน เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคบางอย่างได้
วัดเขียนบางแก้ว อยู่บนทางหลวงหมายเลข 4081 เลยอำเภอเขาชัยสนไปประมาณ 7 กิโลเมตร ในเขตบ้านบางแก้วตรงกิโลเมตรที่ 14 พอดี จะมีทางเข้าอยู่ซ้ายมือ วัดเขียนตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบสงขลา เป็นวัดเก่าแก่ที่มีพระธาตุบางแก้ว ซึ่งสร้างแบบเดียวกับพระธาตุนครศรีธรรมราชแต่ขนาดเล็กกว่า เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของพัทลุง ซึ่งเชื่อว่าสร้างมาแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณวัดเขียนนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงมาก่อน เพราะพบซากปรักหักพังของศิลาแลง และพระพุทธรูปมากมาย
แหลมจองถนน ตั้งอยู่ที่ตำบลจองถนน จากตัวเมืองพัทลุงไปตามเส้นทางสายเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเขาชัยสนไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 39 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมง อยู่บนเนินดินและลาดชันลงไปยังชายหาดทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีสภาพเป็นน้ำกร่อยและสามารถมองเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีร้านอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวทุกวัน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากพะยูน

  เกาะสี่ เกาะห้า อยู่ในเขตทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ท้องที่อำเภอปากพะยูน การเดินทางสามารถเดินทางได้จากท่าเรือตำบลลำปำ หรือท่าเรืออำเภอปากพะยูน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่ของนกนางแอ่นทะเลเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า "เกาะรังนก" และมีการขอสัมปทานเพื่อนำรังนกเหล่านี้ไปจำหน่าย เกาะรังนกนี้เป็นเกาะที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสและทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้ ณ บริเวณหน้าผา การเข้าชมเกาะขออนุญาตได้จากบริษัท สัมปทานรังนก อำเภอปากพะยูน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกงหรา

น้ำตกไร่เหนือ อยู่ในเขตบ้านไร่เหนือ หมู่ 4 ตำบลกงหรา สามารถเดินทางถึงได้โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายคลองหมวย-บ้านกงหราไปอีก 17 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตก ลักษณะของน้ำตก มีชั้นค่อนข้างสูง ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ มองดูคล้ายผ้าพลิ้วตามสายลม จึงได้ชื่ออีกอย่างว่า "น้ำปลิว"
น้ำตกไพรวัลย์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม เส้นทางเข้าชมใช้เส้นทางจากบ้านคลองหมวยไปตามถนนตำบลลำสินธุ์-บ้านกงหรา (ทางหลวงหมายเลข 4122) ประมาณ 20 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นทางลูกรังระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความงดงามตามธรรมชาติ เงียบสงบ และร่มเย็น อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด บริเวณน้ำตกมีลานจอดรถและร้านอาหารไว้บริการด้วย
น้ำตกบ้านคลองหวะหลัง อยู่ในเขตตำบลกงหรา เส้นทางเดียวกับน้ำตกบ้านไร่เหนือ เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าของกรมป่าไม้และมีน้ำพุร้อนอยู่ในบริเวณน้ำตกอีกด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอตะโหมด

น้ำตกตะโหมด หรือน้ำตกหม่อมจุ้ย อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 12 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 4121 และต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 4137 (อยู่ทางตอนใต้ของเมืองพัทลุง) แยกจากทางหลวงหมายเลข 4 เข้าไปจนถึงวัดตะโหมด น้ำตกจะอยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าตะโหมด ซึ่งอยู่เลยวัดตะโหมดไป 4-5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่อยู่ท่ามกลางป่าที่ร่มรื่น ลักษณะของน้ำตกจะแบ่งเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีชื่อต่างกัน มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ มีลานกว้างเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีบรรพต

   อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ตั้งอยู่ที่บ้านในวัง ตำบลเขาปู่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 37 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหมายเลข 41 ไปอำเภอควนขนุน แล้วไปแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4164 สู่อำเภอศรีบรรพต เข้าไปประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 4 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าร่มรื่น มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 433,750 ไร่ หรือ 694 ตารางกิโลเมตร

บริเวณอุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ
 -ถ้ำมัจฉาปลาวน อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย แลดูสวยงามดั่งหลืบม่าน มีแอ่งน้ำกว้างประมาณ 400 ตารางเมตร และมีฝูงปลาว่ายวนไปมาอยู่ในแอ่ง แอ่งน้ำนี้เกิดจากต้นน้ำซึ่งไหลผ่านทะลุเขาในวัง หน้าถ้ำเป็นผาหินสีนิล และร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด
 -น้ำตกเหรียงทอง อยู่ห่างจากชุมชนตลาดเขาปู่ ประมาณ 3 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขานครศรีธรรมราช และได้รับการขนานนามว่า "น้ำตกร้อยชั้น" ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นที่ 13 ซึ่งมีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ทะเลน้อยและเขาปู่-เขาย่าได้
 -จุดชมวิวผาผึ้ง อยู่ห่างจากที่ทำการกลางประมาณ 250 เมตร จุดเด่นของผาผึ้งคือ ในราวประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี จะมีผึ้งหลวงมาทำรังนับเป็นร้อยรังบริเวณหน้าผา และเมื่อถึงฤดูฝนผึ้งเหล่านี้ก็จะทิ้งรังปล่อยให้เป็นรังร้าง ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ทุกปี บริเวณจุดชมวิวผาผึ้งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอุทยานฯ และพรรณไม้ต่างๆ ได้
 -ทางเดินชมธรรมชาติ เป็นทางสำหรับเดินชมธรรมชาติ อยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มี 2 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีความกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับเดินชมธรรมชาติเพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ และเพื่อความเพลิดเพลินได้ นอกจากนี้ ในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ยังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นศูนย์จัดนิทรรศการขนาดย่อม สำหรับให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งทางอุทยานฯได้จัดแสดงนิทรรศการภาพประกอบคำบรรยายไว้ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอธิบายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว มีห้องสำหรับจัดประชุมและสัมมนา ขนาดจุได้ประมาณ 30 คน และในบริเวณใกล้เคียงกัน ทางอุทยานฯ ได้จัดสถานที่สำหรับกางเต็นท์ได้ประมาณ 50 หลัง ติดต่อขออนุญาตค้างแรมได้โดยตรง ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หมู่ที่ 9 ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง 93000

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอบางแก้ว

คลองหูแร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะเดื่อ โดยห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมไปประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเขาชัยสน-จงเก (หมายเลข 4081) และเลี้ยวขวาบริเวณหน้าที่ทำการอำเภอเขาชัยสนไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงแหล่งท่องเที่ยวและบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอจะมีรถจักรยานยนต์รับจ้างไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย คลองหูแร่ มีสภาพเป็นคลองขนาดใหญ่ น้ำใสสะอาด พื้นคลองเป็นทรายและโขดหิน บริเวณน้ำลึก เหมาะแก่การพักผ่อนหรือลงเล่นน้ำ มีเพิงและร้านอาหารไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่พัทลุง