แผนที่ฉะเชิงเทรา
- แผนที่ฉะเชิงเทรา
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์
ฉะเชิงเทราหรือแปดริ้วเป็นจังหวัดในภาคกลาง มีประวัติปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงและลำคลองทั่วไป โดยมี “หลวงพ่อโสธร” เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวแปดริ้ว ในอดีตฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นเมืองจัตวาอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมมหาดไทย และคงอยู่เช่นนี้เรื่อยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดินใหม่ เมืองฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่งในมณฑลปราจีนบุรี และในปี พ.ศ. 2459 จึงได้เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด เรียกว่า “จังหวัดฉะเชิงเทรา” คำว่า “ฉะเชิงเทรา” เป็นภาษาเขมร แปลว่า คลองลึก ส่วนชื่อ “แปดริ้ว” นั้น ได้มาจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า ในเมืองนี้มีปลาช่อนขนาดใหญ่ชุกชุม เมื่อนำมาตากทำเป็นปลาแห้งจะต้องแล่เนื้อปลาถึง 8 ริ้ว ปัจจุบันฉะเชิงเทรามีพื้นที่ 5,351 ตารางกิโลเมตร
การปกครองแบ่งออกเป็น 11 อำเภอ 93 ตำบล 859 หมู่บ้าน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น อำเภอสนามชัยเขต อำเภอแปลงยาว อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอคลองเขื่อน
ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพฯ
จังหวัด ฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อนในสมัยอิทธิพลของ อาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ มากกว่า ส่วนความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" ก็มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาดสำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้ เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๖ ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ ๘ จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
“ฉะเชิงเทรา” กับ “แปดริ้ว”
“ฉะเชิงเทรา” กับ “แปดริ้ว” คือสองชื่อที่เรียกขานเมืองนี้ “ฉะเชิงเทรา” เป็นชื่อที่ใช้ในทางราชการ ส่วน “แปดริ้ว” เป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้าน ใช้เรียกกันมาช้านาน ซึ่งทั้งสองชื่อต่างก็มีเรื่องเล่าขานถึงความเป็นมาอย่างหลากหลายและมีสีสัน ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” มีต้นเค้านึ่งมาจากหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ภาคปกิณกะ ภาค 1 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความพาดพิงถึงเมืองฉะเชิงเทราว่า “...ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้าง ชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร แปดริ้วเป็นชื่อไทย...” นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านจึงมีความเห็นว่า “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำเขมรว่า “สตึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” ซึ่งแปลว่า “คลองลึก” ความเห็นนี้คงอาศัยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ด้วย เพราะเมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เมื่อครั้งที่ขอมยังมีอำนาจปกครองแผ่นดินไทยอยู่นั้น เมืองนี้เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองขิงขอมมาก่อน เป็นไปได้ว่าชาวเมืองในสมัยโบราณอาจจะเรียกแม่น้ำบางปะกงว่า “คลองลึก” หรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็น และด้วยอิทธิพลเขมรจึงไดเรียกชื่อแม่น้ำเป็นภาษาเขมรว่า “สตรึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” ครั้งเรียกกันไปนานๆ เสียงก็เพี้ยนกลายเป็น “ฉะเชิงเทรา” เมืองที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำก็พลอยได้ชื่อว่า “ฉะเชิงเทรา” ไปด้วย อย่างไร ก็ตาม คนจำนวนมากมักมีความเห็นต่างอกไปว่า ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนจาก “แสงเชรา” หรือ “แซงเซา” หรือ “แสงเซา” อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปตีได้ ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า เพราะการออกเสียงใกล้เคียงกันมาก ยิ่งเมื่อประกอบความคิดที่ว่า เมืองตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเวลาที่ชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ น่าจะเป็นคำไทยหมดแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างนนทบุรี นครไชยศรีและสาครบุรี ซึ่งล้วนแต่มีเชื้อสายไทยอิทธิพลอินเดีย ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองนี้ไม่ใช่คำเขมร หากแต่เป็นคำไทยที่เพี้ยนมาขากชื่อเมืองในพงศาวดารนี่เอง
การเดินทาง
ทางรถยนต์
แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา
รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถไปได้หลายเส้นทาง ได้แก่ - สายกรุงเทพฯ-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ทางหลวงหมายเลข 304 - สายกรุงเทพฯ-บางนา-บางบ่อ-บางปะกง ทางหลวงหมายเลข 34 เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 314 สายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา - สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-บางปะกง ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 314 สายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา
ทางรถประจำทาง รถโดยสารประจำทาง มีบริการรถโดยสารออกจาก 2 สถานี ได้แก่ - สถานีขนส่งสายเหนือ ถ.กำแพงเพชร 2 รถธรรมดา ออกทุก 20 นาที ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. รถปรับอากาศออกทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 - สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) รถธรรมดาออกทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 05.40-19.00 น. รถปรับอากาศออกทุก 40 นาที ตั้งแต่เวลา 06.30-21.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 391-8097, 391-2504
ทางรถไฟ
รถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ ไปฉะเชิงเทราทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-15.25 น. วันละ 9 เที่ยว รายละเอียดติดต่อ โทร. 1690 งานนมัสการหลวงพ่อโสธร ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง มีกำหนดทางจันทรคติดังนี้
งานเทศกาลกลางเดือน 5 เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ ถึง แรม 1 ค่ำ รวม 3 วัน 3 คืน ถือว่าเป็นงานฉลองสมโภชในวันที่อาราธนาหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้
งานเทศกาลกลางเดือนสิบสอง เริ่มงานวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2433 เกิดโรคฝีดาษระบาดไปทั่ว ชาวบ้านจึงบนบานต่อหลวงพ่อโสธรขอให้หาย และได้จัดพิธีสมโภชจนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ปัจจุบันทางจังหวัดฉะเชิงเทราและทางวัดโสธรฯ ได้ร่วมกันจัด “งานนมัสการพระพุทธโสธรและงานกาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา” ขึ้นเป็นประจำทุกปี มีการเฉลิมฉลองและการจัดขบวนแห่หลวงพ่อโสธรจำลองทั้งทางบกและทางน้ำ เป็นงานประจำปีครั้งใหญ่ของจังหวัด
งานเทศกาลตรุษจีน จัดโดยสมาคมชาวจีน พร้อมด้วยพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัด เริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 5 ค่ำ (ปีใหม่ตามจันทรคติของจีน) รวม 5 วัน 5 คืน
งานกาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา จะจัดขึ้นพร้อมๆ กับงานนมัสการพระพุทธโสธร ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยจัดขึ้น ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
งานวันมะม่วง จะจัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงให้ผลผลิตออกสู่ตลาด งานจัดขึ้นบริเวณวัดโสธรฯ และหน้าที่ว่าการอำเภอบางคล้า ในงานจะมีการแสดงการจำหน่ายและการประกวดมะม่วง และการออกร้านจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย
สถานที่ที่น่าสนใจในเขตอำเภอเมือง
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า “วัดหงส์” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่าว่าได้ปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัดมีสภาพทรุดโทรม และคับแคบ ทางคณะกรรมการวัดจึงมีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่า และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ โดยอัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้ ณ อาคารชั่วคราว เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มานมัสการตามปกติ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ในบริเวณวัดโสธรฯ มีบริการร้านค้าจำหน่ายอาหารและสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง และบริเวณท่าน้ำของวัดมีบริการเรือหางยาวรับส่งผู้โดยสารระหว่างตลาดในตัวเมืองและวัดโสธรฯ ค่าโดยสารตลอดเส้นทางคนละ 30 บาท หรือจะเช่าเรือล่องลำน้ำบางปะกง อัตราค่าเช่าเรือตามแต่จะตกลงกันตามจำนวนผู้โดยสารและระยะทาง (ประมาณชั่วโมงละ 200 บาท)
วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลท่าใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ รูปปั้นขนาดใหญ่ของจตุโลกบาล และเทวรูปจีนอ้วยโห้ซึ่งแต่งกายชุดนักรบ นอกจากนี้มีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม วิหารว่องอ้วนตี่ วิหารตี่ซังอ๋อง และสระนทีสวรรค์ เป็นต้น
วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง) ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ เป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนไปแล้ว เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจ้าพ่อซำปอกง” ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น คือที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มานมัสการอยู่เป็นประจำ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่แนวเดียวกับป้อมเมืองฉะเชิงเทรา ห่างจากถนนเล็กน้อย ภายในศาลมีเสาหลักเมืองยอดหัวเห็ดและพระพุทธรูป เป็นศาลหลักเมืองที่มีลักษณะแปลกกว่าศาลหลักเมืองจังหวัดอื่นๆ คือมีลักษณะเป็นศิลปะจีน คล้ายกับศาลเจ้าจีน
วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์) ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พร้อมๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง ในปี พ.ศ. 2377 โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพมหานคร ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น วัดนี้เดิมเรียกว่า วัดเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทราและได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” ซึ่งแปลว่าวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง
ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา อยู่ที่ถนนมรุพงษ์ ในเขตเทศบาลเมือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูมารุกราน และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ใช้เป็นที่ตั้งมั่นกองทัพในการปราบกบฎอั้งยี่ (พ่อค้าฝิ่นเถื่อนชาวจีนที่ก่อความวุ่นวายปล้นสะดมชาวเมือง) ปัจจุบันบริเวณหน้าป้อมจัดเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและชมทิวทัศน์แม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านหลังกำแพงเป็นที่ประดิษฐานศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งมีพระพุทธรูปและปืนใหญ่โบราณเก็บรักษาอยู่
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ฉะเชิงเทรา (เขตการศึกษา 12) ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด มีลักษณะเป็นสวนพื้นบ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ กลางสวนมีบึงขนาดใหญ่ มีต้นไม้ตลอดริมบึง
ลำน้ำบางปะกง มีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพงบนที่ราบสูงโคราช ไหลผ่านจังหวัดปราจีนบุรี (เรียกว่าแม่น้ำปราจีนบุรี) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว (เรียกว่าแม่น้ำแปดริ้ว) อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร รายการท่องเที่ยวทางเรือในแม่น้ำบางปะกงที่นิยมจัดกัน เริ่มจากตัวเมืองฉะเชิงเทราไปขึ้นฝั่งที่วัดโพธิ์ อำเภอบางคล้า ระยะทาง 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง มีเรือด่วนแวะรับผู้โดยสารตามเส้นทางนี้เป็นระยะ หรือจะเช่าเรือหางยาวขนาดจุ 8-10 คน จากท่าเรือหน้าตลาดในตัวเมืองหรือท่าเรือหน้าตลาดบางคล้า หรือท่าน้ำวัดโสธรฯ อัตราค่าเช่าเรือแล้วแต่จะตกลงกันตามจำนวนผู้โดยสารและระยะทางที่เดินทาง ระหว่างล่องเรือจะได้ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นสวนผักและสวนผลไม้ เช่น สวนมะม่วง สวนมะพร้าว มีตลาดเล็กๆ ริมแม่น้ำ เช่น ตลาดบ้านใหม่ และตลาดบ้านหมู่ ที่ยังมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไทย บ้านเรือนทั้งแบบสมัยใหม่และสมัยโบราณ รวมทั้งวัดต่างๆ
สถานที่ที่น่าสนใจในเขตอำเภอบางคล้า
วัดโพธิ์บางคล้า อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3121 ไปอีก 6 กิโลเมตร เข้าตัวอำเภอบางคล้า ผ่านศาลเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 500 เมตร หรือสามารถเดินทางโดยทางเรือจากตลาดตัวเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งท่าเรือจะอยู่บริเวณด้านหลังของห้างตะวันออกพลาซ่ามาขึ้นที่ท่าน้ำของวัดก็ได้ วัดโพธิ์บางคล้าเป็นวัดที่น่าชมอย่างยิ่ง เนื่องจากต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในบริเวณวัดเต็มไปด้วยค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับแสนตัว ค้างคาวแม่ไก่มีปีกสีดำ หน้าตาเหมือนสุนัขป่า คือ มีจมูกและใบหูเล็ก ตาใหญ่ ขนสีน้ำตาลแกมแดง ในเวลากลางวันจะเกาะห้อยหัวลงตามกิ่งไม้อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ยามพลบค่ำก็ออกไปหากิน เป็นที่น่าแปลก ว่าแม้ค้างคาวพวกนี้จะกินผลไม้เป็นอาหาร แต่ไม่เคยไปทำความเสียหายให้กับสวนผลไม้ของชาวบางคล้าเลย
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในตัวอำเภอบางคล้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทางทัพผ่านในการกอบกู้เอกราชหลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้นเคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์เมื่อสู้รบกับพม่าที่บริเวณนั้น ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ. 2484 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังคงเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา และได้สร้างศาลพร้อมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชนี้ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2531
สถานที่ที่น่าสนใจในเขตอำเภอพนมสารคาม
เขาหินซ้อน ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 53 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 53 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่างๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น “สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” เป็นที่ตั้งของ ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งประดิษฐานพระบวรราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้านหลังของศาลนี้เป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 51-52 ในเขตตำบลเขาหินซ้อนและตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,929 ไร่ เป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ โดยความร่วมมือทั้งจากส่วนราชการและเอกชน มีการจำแนกพื้นที่ภายในศูนย์เพื่อทำการสาธิตลักษณะงานต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปลูกพืช การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร โดยจัดตั้งเป็น “สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก” เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชต่างๆ ทั้งสมุนไพรและต้นไม้หายาก ได้แก่ ต้นลาพรรษาและต้นชมพูภูคา ซึ่งขณะนี้พบได้ที่นี่แห่งเดียวในโลก ภายในอาคารจัดเป็นนิทรรศการบรรยายและสาธิตการผลิตสมุนไพรต่างๆ ทางศูนย์ฯ มีที่พักสำหรับเยาวชนที่มาทัศนศึกษาได้ประมาณ 120-150 คน ติดต่อล่วงหน้าหรือทำหนังสือถึงพัฒนาชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่หน่วยงานรวมศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน โทร. (038) 599009 และสำหรับผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าที่นี่เช่นเดียวกัน
สถานที่ที่น่าสนใจในเขตอำเภอบางปะกง
เขาดิน อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทราไปตามลำน้ำบางปะกงประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าคลองอ้อมไปอีก 2 กิโลเมตร สองฝั่งคลองเป็นป่าจาก มีบ้านเรือนของชาวบ้านตั้งอยู่เป็นระยะ ลักษณะของเขาดินเป็นเนินหินแกรนิตอย่างหินเขาสามมุข สูงประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่โดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยทุ่งนาและป่าจากบนยอดเขาซึ่งมีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่นั้น เป็นที่ตั้งของ “วัดเขาดิน” หรือ “วัดปถวีปัพตาราม” ภายในวัดมีมณฑปร้างเหลือแต่อิฐสีแดงอยู่หลังหนึ่งเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
สถานที่ที่น่าสนใจในเขตอำเภอสนามชัยเขต
อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง ห่างจากที่ว่าการอำเภอไป 9 กิโลเมตร ตามเส้นทางพนมสารคาม-หนองคอก จากนั้นจะมีแยกเข้าไปทางขวามืออีก 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง
สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ในใจกลางขอพื้นที่ป่าผืนใหญ่ซึ่งเป็นรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี อันเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก โดยทั่วไปมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-150 เมตร มีพื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดในจังหวัดจันทบุรี และแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง บริเวณป่ามีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกพันธุ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมี น้ำตกอ่างฤาไน ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม จากอำเภอพนมสารคามใช้เส้นทางหมายเลข 3245 ถึงกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ จากนั้นไปตามเส้นทางราดยางสู่บ้านหนองคอก ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสู่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วอีกประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องขออนุญาตจากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ โดยติดต่อไปที่ 579-4847