แผนที่อุตรดิตถ์

  • แผนที่อุตรดิตถ์
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

อุตรดิตถ์ แปลว่า “เมืองท่าเหนือ” เนื่องจากในสมัยก่อน พ่อค้าจะนำสินค้ามาจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนืออื่นๆไปขายทางใต้ เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์อยุธยา กรุงเทพฯ หรือสินค้าจากทางใต้จะนำขึ้นเหนือต้องแวะพักกันตามท่าจอดเรือของอุตรดิตถ์ ให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ตลอดจนการโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนต่างๆตามแนวลำน้ำเกิดขึ้น

ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เมืองแห่งพระแท่นศิลาอาสน์ ตำนานเมืองลับแลที่มีแม่ม่ายและสาวสวย เมืองแห่งลางสาดหวานหอม และบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่บารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทางด้านประวัติศาสตร์มาแต่อดีตกาล โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานผ่านพัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย นับแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน จากการค้นพบกลองมโหระทึก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2470 ทำให้เราทราบว่าอุตรดิตถ์ เป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พ.ศ. 1000 แล้ว เพราะโบราณวัตถุที่ค้นพบดังกล่าวเป็นโลหะ ที่มีใช้กันอยู่ใน ยุคสัมฤทธิ์หรือยุคโลหะตอนต้น อันเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเอง จึงนับได้ว่า อุตรดิตถ์เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงาม มาโดยลำดับ และสิ่งที่ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุตรดิตถ์ ก็คือ ความเกรียงไกรของพระยาพิชัยดาบหัก เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์เป็นเพียงตำบลชื่อ “บางโพธิ์ท่าอิฐ” ขึ้นกับเมืองพิชัย แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความ เจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง “อุตรดิตถ์” ซึ่งมีความหมายว่าท่าน้ำแห่งทิศเหนือ แต่ยังคงขึ้นกับเมืองพิชัยอยู่ ต่อมาอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และเมืองพิชัยเลื่อนลงไปเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์จนทุกวันนี้

ทิศเหนือของจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดแพร่และน่าน 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก เลย และสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว มีแนวเขตแดนยาว 120 กิโลเมตร 
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

- อำเภอตรวน 24 กิโลเมตร
- อำเภอพิชัย 45 กิโลเมตร
- อำเภอลับแล 8 กิโลเมตร
- อำเภอน้ำปาด 72 กิโลเมตร
- อำเภอท่าปลา 40 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านโคก 165 กิโลเมตร
- อำเภอฟากท่า 113 กิโลเมตร
- อำเภอทองแสนขัน 42 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-อุตรดิตถ์

อุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 491 กิโลเมตร การเดินทางโดยทางรถยนต์สามารถไปได้ 2 ทาง คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วใช้เส้นทาง 11 เข้าพิษณุโลก แล้วเดินทางตามเส้นทางหมายเลข 11 ถึงอุตรดิตถ์ อีกส้นทางหนึ่ง คือ กรุงเทพฯ ไปสิงห์บุรี แล้วใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จนถึงทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายไปอีก 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 11 จนถึงอุตรดิตถ์

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสาร จากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ จากกรุงเทพฯ สู่อุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว ราย ละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปอุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 1690

งานวันลางสาด ลางสาดเป็นผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวอำเภอลับแลมาเป็นเวลานาน กลุ่มเกษตรอำเภอลับแล เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ (โทร. 055-411769) จึงได้ร่วมกันจัดงานวัดลางสาดขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรปรับปรุงพันธุ์ลางสาดของตนให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ กำหนดงาน ประมาณวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือปลายเดือนกันยายนของทุกปี จัดขึ้น ณ บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจัดให้มีนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับลางสาด การประกวดลางสาด ธิดาลางสาด การประกวดรถผลไม้ การออกร้านสินค้าพื้นเมือง ตลอดจนการแสดงและมหรสพพื้นเมืองของชาวลับแลอีกด้วย

  งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด เป็นงานฤดูหนาวประจำปี และงานรำลึกถึงวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก กำหนดจัดงาน วันที่ 7-14 มกราคม ของทุกปี

 งานเทศกาลวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง, วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล วันขึ้น 8-15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา)

ประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระพุทธเจ้า จัดขึ้นที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา หลังจากวันวิสาขบูชาอีก 7 วัน เรียกว่าวันอัฐมีบูชา จะมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า

 

 

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

วัดธรรมาธิปไตย ตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้สี่แยกจุดตัดของถนนอินใจมีกับถนนสำราญรื่น เป็นที่เก็บบานประตูของวิหารหลังใหญ่ และเก่าแก่มากของวัดพระฝาง บานประตูทำจากไม้ปรูขนาดกว้าง 2.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนา 16 เซนติเมตร แกะสลักในสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด มีลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มมีกนกใบเทศขนาบสองด้าน กล่าวกันว่า เป็นบานประตูไม้แกะสลักที่มีความงามเป็นที่สองรองลงมาจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ที่กรุงเทพฯ

หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าถนน วัดท่าถนนนี้เดิมชื่อว่า วัดวังเตาหม้อ ตั้งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์บริเวณริมแม่น้ำน่านถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 32 นิ้วครึ่ง สูง 41 นิ้ว ตามประวัติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2436 ขณะหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อเพชร”

วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเสา อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอุตรดิตถ์ โดยเดินทางไปตามถนนสำราญรื่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอย 10 เดินทางต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้มีวิหารเก่าแก่ซึ่งมีบานประตูไม้แกะสลัก 2 บาน ตลอดจนลายไม้ที่วิหารด้านหน้า

 อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านในความองอาจกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยซึ่งครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้น ดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่าด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ที่อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าและเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ “ยานมาศ” หรือ คานหามไม้แกะสลักโปร่ง 3 ชั้น กว้าง 73 เซนติเมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 1.45 เมตร เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายยานมาศนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเดินทางมาตรวจราชการ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444 ว่าทรงพบยานมาศแบบนี้ 4 คัน คันแรกทรงพบที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อีก 2 คัน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ครั้นมาถึงอุตรดิตถ์ก็พบอีกคันที่วัดท่าเสา ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนชมที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้

จิตรกรรมฝาผนังวัดกลาง อยู่ที่ตำบลบ้านแกะ ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร วัดกลางเป็นวัดเก่าแก่ มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม

วัดพระฝาง ตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวขวาไปทางพิษณุโลก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายจากทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร วัดนี้มีชื่อเต็มว่า “วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช ปัจจุบันวัดพระฝางประกอบด้วยโบสถ์วิหารและพระธาตุเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับบานประตูแกะสลักของพระวิหารปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตยในตัวเมือง

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอลับแล

อำเภอลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 8 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมาย-เลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป และยังมีอีกหลายตำนานที่กล่าวถึงเมืองลับแล ปัจจุบันอำเภอลับแลเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด นอกจากนั้นยังมีสวนลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดในอำเภอลับแล มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น

อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ อยู่ตรงสี่แยกตลาดลับแล เดิมชื่อ ทองอิน เป็นนายอากรสุรา เชื้อสายจีน แต่ด้วยความรักในท้องถิ่นจึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับรรดาศักดิ์เป็นขุนพิศาลจีนะกิจ และเลื่อนเป็นพระ-ศรีพนมมาศ ในปี พ.ศ. 2451

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อยู่ติดถนนใหญ่สายบรมอาสน์ ใกล้กับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เดิมชื่อว่า “วัดมหาธาตุ” ภายในพระบรมธาตุทุ่งยั้งซึ่งเก่าแก่มาก เป็นเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุนี้เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นบริวารอยู่ 4 มุม ฐานชั้นที่ 3 มีซุ้มคูหา 4 ด้าน สันนิษฐานว่าได้บูรณะขึ้นภายหลัง

วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อยู่เลยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 500 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือของถนนใกล้ทางแยก ภายในมีมณฑปเป็นศิลปะแบบเชียง-แสน ครอบรอยพระพุทธบาทคู่ประทับยืนบนฐานดอกบัวสูงประมาณ 1.5 เมตร ที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคลนี้ ยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 55 นิ้ว สูง 66 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเรียกกันว่า “หลวงพ่อพุทธรังสี” เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑปมีปูนพอกหุ้มไว้ทั้งองค์ ต่อมาได้กระเทาะปูนออกและนำไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่สร้างใหม่

หนองพระแล อยู่ที่บ้านหนองพระแล ตำบลทุ่งยั้ง ห่างจากตัวจังหวัด 13 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1041 เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

วัดดอนสัก อยู่ที่หมู่ 6 บ้านต้นม่วง ตำบลบ้านฝาย ห่างจากจังหวัด 9 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1041 มีวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบานประตูแกะสลักงดงาม ด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู แกะสลักด้วยไม้ปรูลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นลวดลายกนกก้านขดไขว้ ประกอบด้วยรูปหงส์ เทพนม และยักษ์ วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดเจดีย์คีรีวิหาร อยู่ที่ หมู่ 1 บ้านวัดป่า ตำบลฝายหลวง ห่างจากตัวจังหวัด 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1040-1043 เป็นบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอันงดงามบานประตู และหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก

อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร อยู่ที่ หมู่ 7 บ้านท้องลับแล ตำบลฝายหลวงอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 เป็นอนุสาวรีย์ของปฐมผู้ครองเมืองลับแล บนเนินเขาด้านหลังอนุสาวรีย์มีทางขึ้นไปยังจุดชมวิวมองเห็นภูมิประเทศของเมืองลับแล

น้ำตกแม่พูล อยู่ที่หมู่ 4 บ้านต้นเกลือ ตำบลแม่พูล ห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1041-1043 เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนมีความสูงหลายชั้น มีลักษณะเป็นฝายน้ำล้น เป็นชั้นๆ สภาพโดยรอบร่มรื่น มีธรรมชาติแวดล้อมสวยงาม และมีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์น้ำตกแม่พูลได้อย่างชัดเจน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้ตัวเมืองและมีถนนเข้าถึงอย่างสะดวกสบายมาก

เวียงเจ้าเงาะ หรือ เมืองทุ่งยั้ง ชาวบ้านเล่ากันว่า เจ้าเงาะได้พานางรจนามาอยู่ที่กระท่อมปลายนาที่นี่เมื่อครั้งที่ถูกท้าวสามลและนางมณฑาเนรเทศ จึงเรียกว่า เวียงเจ้าเงาะ แต่ความจริงแล้ว เวียงเจ้าเงาะ หรือเมืองทุ่งยั้งนี้เป็นเมืองเก่าแก่ก่อนที่ชนชาติไทยจะมาปกครองประเทศ และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น มโหระทึกละว้า พร้าสัมฤทธิ์ เป็นต้น


สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพิชัย

เมืองพิชัย อยู่ที่หมู่ 1, 3 ตำบลในเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 1204 ระยะทาง 45 กิโลเมตร จากตัวจังหวัด เป็นเมืองเก่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านตะวันตก สันนิษฐานว่า พระบรมไตรโลกนารถ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน มีกำแพงเมืองและคูเมืองที่สร้างขึ้นไว้กับเจดีย์ต่างๆ ปัจจุบันร่องรอยเมืองพิชัยเก่าเกือบไม่หลงเหลือให้เห็น มีเพียงเจดีย์เก่าที่วัดหน้าพระธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพิชัยมาแต่โบราณ

 วัดเอกา อยู่ที่หมู่ 1 ตำบลคอรุม ระยะทาง 45 กิโลเมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอพิชัย 41 กิโลเมตร และจากอำเภอถึงที่ตั้งวัด 4 กิโลเมตร) เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ ซึ่งพระยาพิชัยได้สู้รบกับข้าศึกจนดาบหัก

บ้านห้วยคา อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลในเมือง ระยะทาง 50 กิโลเมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอ 45 กิโลเมตร และอำเภอถึงที่ตั้ง 5 กิโลเมตร) อยู่ในหมู่บ้านคลองระวาน เป็นสถานที่เกิดของพระยาพิชัย
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าปลา

  เขื่อนสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่บ้านผาซ่อม ตำบลท่าปลา ห่างจากตัวจังหวัด 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายอุตรดิตถ์-ท่าปลา ถนนราดยางตลอด เขื่อนสิริกิต์เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม สันเขื่อนยาว 800 เมตร กว้าง 12 เมตร สูง 113.6 เมตร นับเป็นเขื่อนดิน (แกนคอนกรีต) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบใหญ่ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบสุริยันจันทรา มีทิวทัศน์สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่ถูกจัดแต่งเติมจะพากันออกดอกบานสะพรั่ง เมื่อไปถึงบริเวณเขื่อน นักท่องเที่ยวควรไปติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้บริการด้านข่าวสารและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การอนุญาตให้เข้าชมกิจการของเขื่อน การจองที่พัก การให้เช่าเรือท่องทะเลสาบเหนือเขื่อน เป็นต้น อัตราค่าเช่าเรือล่องในเขื่อนสิริกิต์คือ เรือขนาด 150 คน ค่าเช่าชั่วโมงแรก 1,700 บาท ชั่วโมงถัดมา 1,500 บาท ค่าจอด 100 บาท จะให้บริการระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. สำหรับที่พักมีลักษณะเป็นเรือนแถวปรับอากาศมี จำนวน 50 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน ราคาห้องละ 600 บาท บ้านพักปรับอากาศ จำนวน 10 หลัง ราคาหลังละ 1,100 บาท เปิดให้จองล่วงหน้าภายใน 3 เดือน ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทร. 436-3179

เขื่อนดินช่องเขาขาดหรือแซดเดิ้ล ห่างจากอำเภอท่าปลา 4 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1163 เป็นเขื่อนดินที่สร้างปิดช่องเขา เพื่อป้องกันมิให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิต์ไหลออกมาทางช่องเขานี้ สันเขื่อนเป็นถนนมีท่าเรือสำหรับส่งปลา และเรือเอกชนบริการนำเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอน้ำปาด

บ่อเหล็กน้ำพี้ อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโล- เมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอ 42 กิโลเมตร และจากอำเภอถึงที่ตั้ง 14 กิโลเมตร) ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 บ่อเหล็กน้ำพี้เป็นบ่อเหล็กกล้ามีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ แต่เท่าที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมีอยู่ 2 บ่อ คือ “บ่อพระแสง” และ “บ่อพระขรรค์” โดยบ่อพระแสงจะเป็นบ่อที่มีเนื้อเหล็กดีกว่าบ่ออื่น ในสมัยโบราณ นายช่างผู้สร้างพระแสงดาบถวายพระมหากษัตริย์ จะนำเอาเหล็กน้ำพี้ที่บริเวณบ่อพระแสงไปถลุงทำพระแสงดาบ จึงเรียกว่า “บ่อพระแสง” ส่วนบ่อพระขรรค์ เข้าใจว่าเป็นบ่อที่นำเอาเหล็กจากบริเวณนี้ไปถลุงทำพระขรรค์ จึงเรียกว่า “บ่อพระขรรค์” ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ สงวนไว้ใช้ในการทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ถ้ำดิน อยู่ที่หมู่ 9 บ้านถ้ำดิน ตำบลบ่อทอง ตามทางหลวงหมายเลข 1245 และทางลูกรัง 3 กิโลเมตร รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร มีถ้ำหินอ่อนสวยงาม และยังมีถ้ำที่เป็นที่อยู่ของค้าง-คาวปากย่น จำนวนกว่า 3 ล้านตัว




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่อุตรดิตถ์