แผนที่กำแพงเพชร

  • แผนที่กำแพงเพชร
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย มีลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขา มีภูเขาสลับซับซ้อน ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ มีที่ราบใหญ่ ภาคกลางมีลักษณะลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ ฟลูออไรท์ หินอ่อน และน้ำมันปิโตรเลียม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร และเมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็น " พระยาวชิรปราการ" ต่อมาในปี พ . ศ. 2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมเรียกชื่อว่า " เมืองชากังราว" และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐาน ให้สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง คือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม โดยเมืองชากังราวสร้างขึ้นก่อน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ. ศ. 1890 ต่อมาสมัยพระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิงคือ “ เมืองนครชุม ” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่อง กำแพงเมืองไว้ว่า " เป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะมีโบราณสถานเก่าแก่ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ใน " อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร" ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

กำแพงเพชรในปัจจุบัน มีพื้นที่ 8,607.490 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดตากและสุโขทัย
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดตาก

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ

อำเภอพรานกระต่าย 25 กิโลเมตร
อำเภอไทรงาม 43 กิโลเมตร
อำเภอคลองลาน 50 กิโลเมตร
อำเภอคลองขลุง 43 กิโลเมตร
อำเภอลานกระบือ 55 กิโลเมตร
อำเภอขาณุวรลักษบุรี 79 กิโลเมตร
อำเภอทรายทองพัฒนา 53 กิโลเมตร
อำเภอปางศิลาทอง 70 กิโลเมตร
อำเภอบึงสามัคคี 90 กิโลเมตร
อำเภอโกสัมพีนคร 35 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-กำแพงเพชร

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทาง 358 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ - กำแพงเพชร ทุกวัน รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

 งานนบพระ-เล่นเพลง งานนี้จัดขึ้นในระหว่างวันมาฆบูชาหรือวันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งจะเป็นช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการฟื้นฟูงานประเพณีดั้งเดิมตามหลักฐานในศิลาจารึกเมืองพระชุม หรือเมืองนครชุม ซึ่งกล่าวถึงการจัดขบวนแห่ไปนบพระมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ลักษณะการจัดงานในปัจจุบันจะมีการตกแต่งริ้วขบวนอย่างสวยงาม โดยมีผู้เข้าร่วมขบวนแต่งการแบบโบราณ แล้วเคลื่อนขบวนข้ามแม่น้ำปิงไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ที่ฝั่งนครชุมมีการแสดงมหรสพ ศิลปวัฒนธรรมไทย และการออกร้านของส่วนราชการ

 งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง เป็นการจัดงานเฉลิมฉลองวันสารทไทยในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือนกันยายนทุกปี และมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่กล้วยไข่ซึ่งเป็นผลไม้พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ในงานนี้จะมีการประกวดและจำหน่ายกล้วยไข่ การแข่งขันกวนกระยาสารท งานนิทรรศการทางการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงมหรสพต่าง ๆ

 

ตัวเมืองกำแพงเพชรเก่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองปลิง และตำบลในเมือง มีกำแพงศิลาแลงชั้นเดียวสูงประมาณ 5 เมตร มีป้อม 10 ป้อม คูเมืองกว้าง 30 เมตร กำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือยาว 220 เมตร ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ยาว 540 เมตร ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือยาว 2,403 เมตร ทิศตะวันตกเฉียงใต้ยาว 2,150 เมตร มีประตูเมือง 10 ประตู ภายในกำแพงเพชร และบริเวณใกล้เคียงมีโบราณสถานที่น่าชมหลายแห่ง

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชรไปประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายกำแพงเพชร - พรานกระต่าย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 360 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นศาสนสถานเป็นส่วนมาก เช่น วัดพระแก้ว วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะพบเทคโนโลยี่ในการสร้างสมัยโบราณ เช่น การใช้เสาศิลาแลงเป็นเสาค้ำอาคาร โดยเสาแต่ละต้นถูกสกัดขึ้นมาจากศิลาแลงใต้ดิน มีน้ำหนักต้นละไม่ต่ำกว่า 30 ตัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษแผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเพชร กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์กลมแบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหา แต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏว่า พบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้

 วัดพระธาตุ อยู่ที่ตำบลนครชุมเป็นวัดใหญ่รองจากวัดพระแก้วที่อยู่ในกำแพงเมืองกำแพงเพชรรูปทรงเป็นแบบพม่า เรียงจากวัดพระแก้วไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงปนอิฐฐานสี่เหลี่ยมกว้าง 15 เมตร วัดนี้ภายหลังจากการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์ใหญ่ เจดีย์รวมด้านใต้แล้ว ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายแผนผังของวัดสระศรี ที่เมืองสุโขทัยเก่า แต่ลักษณะเจดีย์เป็นแบบกำแพงเพชร

 สระมน หรือบริเวณวังโบราณ ด้านเหนือวัดพระแก้วมีกำแพงดินสี่เหลี่ยมอยู่เกือบติดกำแพงเมืองด้านเหนือ ภายในกำแพงมีคูล้อม 3 ด้าน ตรงกลางขุดสระมน เป็นที่เข้าใจว่าบริเวณสระมนนี้เป็นวัง ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลืออยู่เลย เมื่อขุดลอกสระแล้วตกแต่งบริเวณ พบฐานศิลาแลงบางตอน และได้พบกระเบื้องมุงหลังคาตกหล่นอยู่ทั่วไป

 ที่ทำการหน่วยศิลปากรประจำจังหวัด ตั้งอยู่เลยวัดพระแก้วไปตามเส้นทางกำแพงเพชร - พรานกระต่าย มีทางลูกรังแยกเข้าไปทางซ้ายมือ ตรงประตูสะพานโคมประมาณ 300 เมตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณะขุดแต่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ อ.เมือง เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในเมืองกำแพงเพชร และที่มีผู้มอบให้เพื่อเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาทสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (055) 711570

พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถานที่แสดงผลงานของศูนย์บริรักษ์ไทยและศูนย์จริยศึกษา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน ภายในตัวอาคารจัดเป็นห้องโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยประกอบด้วยระบบภาพแสงและเสียง ในระบบมัลติมีเดีย การแสดงนิทรรศการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (055) 722341-2

  ศาลพระอิศวร ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง 1.5 เมตร มีบันไดขึ้นด้านหน้า บนฐานชุกชีอยู่เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ซึ่งจำลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวน์วัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เทวรูปพระอิศวรองค์จริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร รูปพระอิศวรนี้ ในสมัยรัชการที่ 5 ชาวเยอรมันมาเที่ยวเมืองกำแพงเพชร ได้ลักลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ส่งลงเรือมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2429 เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้บอกเข้ามายังกรุงเทพฯจึงโปรดฯ ให้ขอพระเศียรและพระหัตถ์คืน และได้ทรงสร้างพระอิศวรจำลองประทานให้ ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน

 วัดป่ามืด ออกนอกกำแพงเมืองตรงประตูสะพานโคมด้านทิศเหนือไปตามถนนกำแพงเพชร-พรานกระต่าย ประมาณ 300 เมตร ตามถนนเดิมจะพบวัดอยู่ทางซ้ายมือ เรียกว่าวัดป่ามืด วัดนี้ยังไม่ได้ขุดแต่งและบูรณะ พื้นที่ทั่ว ๆ ไปยังเป็นป่าปกคลุมอยู่ โบราณสถานมีเจดีย์กลมแบบลังกา ด้านหน้าเป็นฐานเจดีย์ราย 4-5 แห่ง มีกำแพงล้อมรอบต่อจากกำแพงด้านหน้าเป็นโบราณสถานอีกหมู่หนึ่ง มีฐานเจดีย์และฐานวิหารและเจดีย์รอบอีก 7 ฐาน มีกำแพงรอบเช่นเดียวกัน

วัดพระนอน อยู่ห่างจากวัดป่ามืดไปทางเหนือประมาณ 150 เมตร เป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งซึ่งได้ขุดแต่งและบูรณะไว้แล้ว วัดนี้มีกำแพงศิลาแลงปักตั้งล้อมไว้ทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าวัดตรงขวามือมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมมีน้ำขังข้าง ๆ บ่อ มีห้องอาบน้ำและศาลาน้ำ ฐานและเสาเป็นศิลาแลง ซึ่งเสานี้ตัดมาจากแหล่งกำเนิดทั้งแท่ง มีขนาดกว้าง 1.1 เมตร ยาว 1.1 เมตร สูง 6.4 เมตร นับว่าเป็นศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้านซ้ายมือเมื่อเดินไปตามทางขึ้นบริเวณลานวัดที่ปูด้วยศิลาแลงถึงหน้าประตูวัด จะพบเศษรูปสิงห์ปูนปั้นซึ่งขุดค้นได้วางอยู่หน้าโบสถ์ ฐานโบสถ์เป็นศิลาแลงยกพื้นสูง 80 เซ็นติเมตร มีบันไดขึ้นโบสถ์ด้านหน้าด้านหลังด้านละ 2 บันได ฐานกว้าง 14 เมตร ยาว 30 เมตร มีมุขเด็จทั้งด้านหน้าด้านหลัง มีเสา 4 แถว 5 ห้อง 2 แถว 2 ห้อง เสาโบสถ์ทำด้วยศิลาแลงแท่งใหญ่รูป 8 เหลี่ยม เสมาที่เหลืออยู่สลักเป็นรูปเทพพนมและอื่น ๆ ประกอบลวดลายสวยงาม ด้านหลังโบสถ์เป็นวิหารพระนอนรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 25 เมตร มีเสา 6 แถว 6 ห้อง ผนังเจาะเป็นช่องลูกกรงยาว ๆ เสาวิหารรูปสี่เหลี่ยมทั้งแท่งขนาดกว้างเมตรเศษ ยาว 4-5 เมตร เป็นของใหญ่โตที่หาดูได้ยากแห่งหนึ่ง

 วัดพระสี่อิริยาบถ อยู่ต่อจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือในแนวกำแพงวัด ติดต่อกันถึงวัดพระสี่อิริยาบถ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระยืน วัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงวัดเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน มีทางเข้าปูด้วยศิลาแลง มีศาลาโถงปลูกคร่อมทางเดินเป็นศาลากว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร เป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง ต่อจากศาลาหน้าวัดมีประตูเข้าไปในบริเวณวัดแล้วถึงฐานศิลาแลงใหญ่ ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลงเหลี่ยมและมีทับหลังลูกกรงเตี้ย ๆ สูงประมาณ 60 เซ็นติเมตร อยู่โดยรอบ ฐานนี้มีบันไดขึ้นด้านหน้า 2 บันได ด้านข้าง 2 บันได และด้านหลังอีก 2 บันได บนฐานวิหารกว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร ย่อมุขเด็จทั้งหน้าและหลัง เสาวิหารที่อยู่บนฐานเป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง 2 แถว หน้าและหลัง 2 ห้อง รวม 7 ห้อง ที่ฐานชุกชี มีรอยตั้งพระพุทธรูปนั่งด้านหลังวิหารมีบันไดลงติดต่อกับมณฑปพระอิริยาบถ โดยรอบมณฑปกำแพงแก้วเตี้ย ๆ เหลือแต่ฐาน มีประตูเข้าด้านข้าง 2 ข้าง และด้านหลังมณฑปกว้าง 29 เมตร เป็นมณฑปสี่หน้า ด้านหน้ามีพระพุทธรูปลีลา ด้านข้างเหนือมีพระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 ด้าน ที่กล่าวมาแล้วชำรุดเหลือซากพอเป็นรอยให้ดูรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้รู้ว่า เป็นพระพุทธศิลปะแบบสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งหาดูได้ยาก

 วัดพระสิงห์ ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เมตร จะพบวัดพระสิงห์ซึ่งเป็นวัดขนาดย่อมยังไม่ได้ขุดแต่งและบูรณะ สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา กำแพงเป็นศิลาแลงโดยรอบ ภายในเป็นฐานเจดีย์มีซุ้มพระ 4 ทิศ ฐานเจดีย์กว้าง 11 เมตร สี่เหลี่ยม มีเจดีย์ราย 4 มุม ด้านหน้าเจดีย์ใหญ่มีฐานโบสถ์กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ตั้งอยู่บนฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งกว้าง 23 เมตร ยาว 42 เมตร ด้านทิศใต้มีฐานวิหารใหญ่ 1 วิหาร และขนาดย่อมอีก 1 วิหาร ภายในวัดมีบ่อน้ำ 2 บ่อ เป็นบ่อกรุด้วยศิลาแลง

 วัดช้างรอบ เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่กลางลาน ฐานเจดีย์กว้าง 31เมตร สี่เหลี่ยมที่ฐานเป็นรูปช้างครึ่งตัวเห็นแต่ 2 ขาหน้า หันศีรษะออกจากฐานรายรอบเจดีย์ เป็นช้างทรงเครื่องจำนวน 68 เชือก ระหว่างช้างมีลายปูนปั้นเป็นรูปใบโพธิ์ กับมีรอยตั้งรูปยักษ์และนางรำติดอยู่แต่ชำรุดหักเห็นไม่สมบูรณ์ ทางขึ้นไปบนฐานทักษิณมีบันไดสี่ด้าน ตรงเชิงบันไดมีรูปสิงห์หักอยู่ที่ฐาน ฐานเจดีย์จากพื้นดินถึงลานทักษิณชั้นบนสูงประมาณ 7 เมตร กลางลานมีเจดีย์ฐานเขียงแปดเหลี่ยมฐานกว้างประมาณ 20 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์แบบลังกายอดหัก ด้านหน้าฐานเจดีย์เป็นวิหารใหญ่ กว้าง 17 เมตร ยาว 34 เมตร ฐานสูงประมาณ 1.5 เมตร วิหารเป็นเสา 4 แถว 7 ห้อง มีมุขเด็จข้างหน้าหนึ่งห้อง ต่อจากวิหารใหญ่เป็นสระซึ่งขุดลงไปในพื้นศิลาแลง กว้าง 23 เมตร สี่เหลี่ยมลึกประมาณ 8 เมตร มีน้ำขังอยู่บางฤดูจากการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์วัดช้างรอบนี้ได้พบบรรดาลวดลายต่าง ๆ เป็นดินเผารูปนางรำ รูปยักษ์ รูปหงส์ รูปหน้าเทวดา และหน้ามนุษย์ ซึ่งตามลักษณะโบราณวัตถุเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น หรือสุโขทัยตอนปลายทำให้ทราบลักษณะเครื่องแต่งตัว การฟ้อนรำ และลักษณะอื่นๆ ของคนสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ ในการศึกษาศิลปะและโบราณคดี บรรดาโบราณวัตถุที่พบนี้ บางชิ้นเก็บรวบรวมตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

  วัดอาวาสใหญ่ เป็นวัดที่ก่อสร้างใหญ่โต มีเจดีย์และวิหารมาก อยู่ริมถนนไปอำเภอพรานกระต่าย ห่างจากประตูโคมไฟไปทางเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร กำแพงวัดเป็นศิลาแลง กลางวัดมีฐานพระเจดีย์แปดเหลี่ยมใหญ่กว้างด้านละ 16 เมตร ด้านหน้าวัดอาวาสใหญ่ ริมถนนมีบ่อสี่เหลี่ยมใหญ่ขุดลงไปในพื้นศิลาแลง กว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร ลึก 7-8 เมตร เรียกว่า "บ่อสามแสน" และตรงด้านหน้าเจดีย์ประธานด้านทิศเหนือ มีบ่อศิลาแลงขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีฐานวิหารทั้งใหญ่และเล็กรวม 10 วิหาร ฐานเจดีย์รวม 9 ฐาน วัดนี้อยู่ริมถนนสะดวกในการเข้าชม

 กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย จะเห็นกำแพงศิลาแลงเป็นป้อม มีใบเสมาเหลืออยู่ ป้อมก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 83.5 เมตร รูปสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 6 เมตร มีประตูทางเข้าตรงกลางป้อม 4 ด้าน ทางด้านในมีเชิงเทินพอเดินหลีกกันได้ ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อต่อกันได้ ตรงมุมมีป้อมยื่นออก 4 มุม มีรูมองอยู่ติดกับพื้น การก่อสร้างป้อมนี้มีความมั่นคงมาก แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง จึงเหลือเพียง 3 ด้าน บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น ที่สำคัญต่อนักเลงพระก็คือ เป็นบริเวณที่พบพระเครื่องลือชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง เป็นต้น

 เมืองนครชุม เป็นเมืองโบราณอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง กำแพงเมืองเป็นมูลดินสูง 2-3 เมตร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวไปตามแม่น้ำปิง จากตะวันออกไปตะวันตก ภายในกำแพงเมืองมีวัดเก่าแก่อยู่ 2-3 วัด

  วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดอยู่ริมแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันตกกลางเมืองนครชุมมีเจดีย์แบบพม่าอยู่ 1 องค์ ด้านใต้มีพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย และอยุธยาอยู่หลายองค์ วัดนี้สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อย่างศิลปะสุโขทัย แต่ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่า เนื่องจากเศรษฐีพม่าผู้หนึ่งได้มาบูรณะไว้เมื่อประมาณ 100 ปี มาแล้ว

 เมืองไตรตรึงส์ ตั้งอยู่ที่ตำบลไตรตรึงส์ เป็นเมืองเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยสิริกษัตริย์เชียงราย ซึ่งได้หนีข้าศึกจากเชียงรายลงมาสร้างเมืองนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1542 ปัจจุบันโบราณสถานต่าง ๆ ทรุดโทรมลงมาก เหลือเพียงซากเจดีย์และเชิงเทินเท่านั้น การเดินทางใช้เส้นทางสายกำแพงเพชร - คลองลาน ไปประมาณ 18 กิโลเมตร


 สถานที่ท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ
 นอกจากจังหวัดกำแพงเพชรจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อยู่มากมายแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่สวยงามน่าประทับใจไม่แพ้จังหวัดอื่นอยู่หลายแห่งด้วยกันคือ

 อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองน้ำไหล และตำบลโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน มีเนื้อที่ 187,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525 อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 58 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 1116 ผ่านสถานีขนส่งและกำแพงป้อมทุ่งเศรษฐีไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 พอถึงหลักกิโลเมตรที่ 346 ที่บ้านคลองแม่ลาย (ห่างจากตัวเมืองราว 10 กิโลเมตร) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1117 ทางที่จะไปอำเภอคลองลานไปถึง 36 กิโลเมตร จะถึงตลาดคลองลานแล้วเลี้ยวขวาไป 6 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติคลองลาน หรืออีกเส้นทางหนึ่งจากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ตามถนนสายเอเซียผ่านจังหวัดนครสวรรค์ไปประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงบ้านหนองเบน จะมีทางแยกซ้ายเข้า อ.ลาดยาว จากนั้นเดินทางตามเส้นทาง ลาดยาว-คลองลาน (ทางหลวงหมายเลข 1072) ระยะทาง 102 กิโลเมตร แยกเข้าน้ำตกและเดินทางต่อเข้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานแห่งชาติคลองลานมีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง อาทิ
น้ำตกคลองลาน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ไหลลงมาจากหน้าผาสูง 95 เมตร กว้าง 40 เมตร และด้านล่างของน้ำตกเป็นแหล่งน้ำที่ลงเล่นน้ำได้ เหมาะสำหรับไปพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ห่างจากตลาดคลองลาน 10 กิโลเมตร 
น้ำตกคลองน้ำไหล (น้ำตกปางควาย) อยู่ห่างจากน้ำตกคลองลานประมาณ 16 กิโลเมตร การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 1117 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 35-36 บริเวณอุทยานแห่งชาติคลองลาน จะมีป้ายบอกทางเข้าอีก 10 กิโลเมตร น้ำตกคลองน้ำไหลเป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาถึง 9 ชั้น ตลอดปี และแต่ละชั้นมีแอ่งน้ำลงไปเล่นได้อีกด้วย และ
แก่งเกาะร้อย ที่มองดูคล้ายมีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่กลางลำธาร การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 1117 เมื่อถึงสามแยกโป่งน้ำร้อนจะมีทางราดยางแยกเข้าไปเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างแรมได้ที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน โดยติดต่อที่กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180 ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวคือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม

 อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ป่าแม่วงก์เป็นรอยต่อของสองจังหวัดคือ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ส่วนที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า ป่าแม่วงก์-แม่เปิน ส่วนที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรเรียกว่า ป่าคลองแม่วงก์-ป่าคลองขลุง ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติแม่วงก์" มีเนื้อที่ประมาณ 894 ตารางกิโลเมตร ในเขตท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่อุทยานประกอบด้วยป่าชนิดต่าง ๆ คือ ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 70% ป่าดงดิบ 25% และป่าเต็งรังประมาณ 5% ของพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจอีกมากมาย เช่น ไม้สัก มะค่าโมง ประดู่ ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
 แก่งผานางคอย เป็นแก่งหินของลำห้วยคลองขลุง ที่ไหลเรื่อยจนกลายเป็นน้ำตก 4 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 800 เมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติที่จัดไว้ เหมาะสำหรับกางเต็นท์และศึกษาสภาพป่า
บ่อน้ำอุ่น เป็นบ่อน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ มีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส อยู่ห่างจากที่ทำการ 1.5 กิโลเมตร
จุดชมวิว ตลอดเส้นทางสายคลองลาน-อุ้มผาง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 57 ถึงกิโลเมตรที่ 117 มีจุดชมวิวหลายแห่ง ได้แก่ กิโลเมตรที่ 81, 87, 92, 102 และ 115 โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 102 มีน้ำตกริมทางที่สวยงาม
น้ำตกแม่กระสา มีความสูง 900 เมตร มีชั้นลดหลั่นถึง 9 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการ 18 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง
น้ำตกแม่รีวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่ 3 มีความสูงที่สุดประมาณ 100 เมตร มีสภาพสวยงาม ห่างจากที่ทำการอุทยาน 21 กิโลเมตร
นอกจากนั้น ยังมี น้ำตกแม่กี, น้ำตกแม่วงก์ เป็นน้ำตกบริเวณเดียวกับน้ำตกแม่กระสา และน้ำตกแม่เรวา มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็นชั้น ๆ ถึง 9 ชั้น น้ำไหลเกือบตลอดปี ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 ชั่วโมง และได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามมาก น้ำตกเขาโบสถ์, น้ำตกแม่กระสี เป็นน้ำตกในเขตอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ยังไม่ได้มีการสำรวจทางภาคพื้นดิน ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,950 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติ 30 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีบ้านพักพร้อมเครื่องนอนสำหรับบริการนักท่องเที่ยว 6 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 45-50 คน ถ้าหากมีความประสงค์จะเข้าพักล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์จะต้องเตรียมอาหารมาเอง สำรองที่พักล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถนนคลองลาน-อุ้มผาง กิโลเมตร 65 อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180 หรือที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223 หรือ 579-5734
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับการเดินทางไปอุทยานแห่งชาติคลองลาน ไปตามเส้นทางคลองลาน-อุ้มผาง ถึงจุดแยกเข้าอุทยานแห่งชาติให้ตรงไปอีก 19 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยาน

 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง อยู่ในเขตท้องที่ตำบลโกสัมพี อำเภอเมือง ใช้เส้นทางเริ่มจากตัวจังหวัดกำแพงเพชร กิโลเมตรที่ 358 ถนนสายกำแพงเพชร-ตาก ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 380 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 7 กิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงนี้ เป็นทิวเขาที่เชื่อมต่อกับเขาสนามเพรียง เขาคันนาและเขากิ่วยาว มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 400-700 เมตร จากระดับน้ำทะเลและจุดสูงสุด 867 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมความงามของสภาพธรรมชาติแบบป่าเมืองหนาว ซึ่งมีต้นสนสองใบ และสนสามใบขึ้นอยู่ทั่วไป

 น้ำตกวังชมภู เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลในฤดูฝน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร บนเส้นทางช่วงกำแพงเพชร-ตาก

 บ่อน้ำร้อนบึงสาบ ตั้งอยู่ที่บ้านลานหิน ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นแอ่งน้ำร้อนที่ไม่มีกลิ่นเหม็นของกำมะถัน

 น้ำพุธรรมชาติสระตาพรม ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนแตง อำเภอขาณุวรลักษบุรี บนถนนสายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 292 อยู่ด้านซ้ายมือ มีลักษณะเป็นน้ำพุธรรมชาติพุ่งขึ้นจากผิวน้ำในสระสูงประมาณ 2 เมตร สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน จากถนนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาไม่ได้ง่ายนักในประเทศไทย

 อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ อยู่ในเขตตำบลโกสัมพีห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร มีสภาพธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา น้ำตกที่สวยงามหลายแห่งนอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านกะเหรี่ยงด้วย

สถานที่น่าสนใจอื่น ๆ

  สิริจิตอุทยาน เป็นสวนสาธารณะเอนกประสงค์ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตรงข้ามโรงแรมชากังราว มีเนื้อที่ 170 ไร่ มีสนามกีฬาประเภทต่าง ๆ และสวนไม้ดอกไม้ประดับปลูกไว้สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ภายในอุทยานฯ ใกล้กับศูนย์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร ยังมีศูนย์สินค้าพื้นเมืองและหัตถกรรมหรือไนท์บาซา เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 22.00 น. ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดโอกาสซื้อของฝาก ของที่ระลึกไปกำนัลแด่ญาติสนิทมิตรสหายเป็นอย่างยิ่ง

 หอไตรวัดคูยาง ตั้งอยู่ที่วัดคูยางภายในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร เป็นสถาปัตยกรรมสมัย รัตนโกสินทร์ มีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เสด็จประภาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งที่หอไตรนี้ต่างจากที่อื่น ๆ คือ ได้สร้างไว้กลางน้ำและมีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันปลวกแมลงสาบและหนูเข้าไปกัดทำลายพระไตรปิฎกหนังสือและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันหอไตรหลังนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

 หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในตำบลนครชุม อำเภอเมือง กำแพงเพชร เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง เป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชรและหัวเมืองฝ่ายเหนือ

 วัดช้างหรือวัดนาควัชระโสภณ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักวิปัสนาของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ มีชื่อเสียงที่เป็นต้นพิมพ์พระซุ้มกอ (ใหม่) ซึ่งปัจจุบันจะหามาบูชาได้ยาก

 หมู่บ้านเกษตรกรรมในเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่บ้านโคน ตำบลคณฑี อำเภอเมือง กำแพงเพชร เป็นหมู่บ้านการเกษตรแบบครบวงจรและใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเกษตร เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมความชื้นในดินและสั่งงานการรดน้ำด้วยสปริงเกอร์ขนาดยักษ์โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

 บ้านไม้สักเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ถนนเทศาในเขตเทศบาลเมือง เป็นสมบัติของตระกูลล่ำซำ คหบดีชาวกำแพงเพชร เป็นอาคารสองชั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง แม้เสาก็เป็นเสาสูงตลอดทั้งสองชั้น หน้ามุขประดับด้วยไม้ฉลุ มีความสวยงามมาก

 เหมืองหินอ่อนพรานกระต่าย ตั้งอยู่ในอำเภอพรานกระต่าย มีเนื้อที่สัมปทาน 22 ไร่เศษ ดำเนินงานมาตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2526 หินอ่อนที่ผลิตได้ในแหล่งนี้มีสีชมพู สีงาช้าง สีขาว และสีเทา

 แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอลานกระบือ เป็นสัมปทานของบริษัทไทยเชลล์เอ็กซ์พลอเรชันแอนด์โปรดักชั่น เข้ามาทำการขุดเจาะน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ โดยมีการผลิตในเชิงพานิชย์ตั้งแต่ปี 2525 เรียกน้ำมันดิบที่ขุดได้จากแหล่งนี้ว่า "น้ำมันดิบเพชร" และเป็นที่มาของคำว่า "โชติช่วงชัชวาล" เพราะเป็นความหวังแรกของขุมพลังงานของไทย

  ศูนย์หัตถกรรมชาวเขาคลองลาน ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อันได้แก่ เผ่าม้ง เย้า ลีซอ มูเซอ และกะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอคลองลานและอำเภอขลุง มีรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอคลองลาน โดยนำสินค้าของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์ของแต่ละเผ่ามาจำหน่าย เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเขา เครื่องประดับประเภทต่างๆ ที่ทำจากเงิน มีการสาธิตการทำเครื่องประดับจากเงินให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย ศูนย์นี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่หมู่บ้านบ้านคลองลาน ตำบลคลองลานพัฒนา บริเวณปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน ห่างจากตัวจังหวัดกำแพงเพชร 55 กิโลเมตร

 ตลาดกล้วยไข่ ตั้งอยู่ริมทางสายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ตรงกิโลเมตรที่ 343 มีเพิงขายกล้วยไข่ทั้งดิบและสุก กล้วยฉาบ และสินค้าพื้นเมืองอื่น ๆ เป็นระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่กำแพงเพชร