แผนที่ศรีสะเกษ

  • แผนที่ศรีสะเกษ
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่างที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมัยก่อนประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐาน ของมนุษย์ในพื้นที่นี้ย้อนหลังไป ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยก่อนที่จะมีการใช้ตัวอักษรหรือภาษาเขียน จารึกเรื่องราวต่างๆ ในสังคมมนุษย์) ตอนปลาย ในสมัยเหล็ก(ยุคเหล็ก)(Iron Age) ราว 2,500 ปีมาแล้ว เช่น แหล่งภาพสลักบริเวณผาเขียน-ผาจันทน์แดง ในเขตอำเภอขุนหาญ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นเขตพื้นที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นอกจากนั้นยังร่องรอยชุมชนสมัยเหล็กอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัด เช่น กลุ่มชุมชนโบราณในเขตอำเภอราษีไศล ซึ่งปรากฏร่องรอยชุมชนที่มีหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ ที่ได้รับการฝังศพพร้อมกับวัตถุอุทิศอันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กและภาชนะดินเผา ตลอดจนแบบแผนพิธีกรรมฝังศพแบบวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล-ชี หรือที่เรียกว่า"วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้"
สมัยประวัติศาสตร์
สมัยวัฒนธรรมทวารวดี

ต่อมาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 (ประมาณ 1,400 - 1,200 ปีมาแล้ว) ชุมชนสมัยเหล็ก (โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัด) ได้มีพัฒนาการต่อมาเป็นชุมชนในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทหรือหินยาน มีการจารึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวอักษรหรือภาษาเขียนแบบโบราณ จึงจัดเป็นช่วง "ยุคหรือสมัยประวัติศาสตร์" ตอนต้น รวมทั้งมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการขุดคูน้ำและสร้างคันดินล้อมรอบเมือง เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูแล้งและใช้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ชุมชนโบราณสำคัญที่มีลักษณะผังเมืองดังกล่าวนี้ เช่น เมืองโบราณที่มีคูน้ำ-คันดิน หลายแห่งในเขตอำเภอราษีไศล, เมืองโบราณคูขัณฑ์(หรือคูขันธ์)ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน
สมัยวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณ

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17(ประมาณ 1,300 - 900 ปีมาแล้ว) ก็มีชุมชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับกระแสวัฒนธรรมแบบขอมโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตตอนกลางและตอนล่างของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่นับถือเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-16) และพุทธศาสนา นิกายมหายาน (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17) โดยปรากฏเป็นชุมชนขนาดน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง หลายชุมชมมีการก่อสร้างศาสนสถานซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันคือปราสาทหินโบราณ เช่น ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ปราสาทหินสระกำแพงน้อย ใน เขตอำเภออุทุมพรพิสัย , ปราสาทบ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน, ปราสาทกู่สมบูรณ์ อำเภอบึงบูรพ์, ปราสาททามจาน(หรือปราสาทบ้านสมอ, ปราสาทปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่, ปราสาทตาเล็ง อำเภอขุขันธ์, ปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง, ปราสาทภูฝ้าย ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณพะลานหินเขตผามออีแดง ปราสาทโดนตวล อำเภอกันทรลักษ์, ปราสาทหนองปราสาท ปราสาทตำหนักไทร อำเภอขุนหาญ เป็นต้น โบราณสถานที่เรียกว่าปราสาทหินแบบศิลปะขอมที่พบเป็นจำนวนมากในจังหวัดศรีสะเกษ ส่งผลให้จังหวัดศรีสะเกษได้รับสมญานามว่า "เมืองปรางค์ร้อยกู่" หรือ "นครร้อยปราสาท"

สมัยกรุงศรีอยุธยา

การสร้างบ้านแปงเมืองซึ่งเป็นต้นเค้าของการพัฒนามาเป็นจังหวัดศรีสะเกษ ได้ปรากฏชัดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2232 โดยเป็นผลจากที่อาณาจักรลาวเกิดการแย่งชิงอำนาจการปกครอง ทำให้ชาวลาวกลุ่มหนึ่งประมาณ 3,๐๐๐ คน หนีภัยลงมาทางใต้ มาปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองจำปาศักดิ์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรลาวก็แยกออกเป็นสามอาณาจักรคือหลวงพระบาง เวียงจันทน์และจำปาศักด นอกจากนั้น การแย่งชิงอำนาจและการแบ่งแยกบ้านเมืองดังกล่าวเป็นเหตุให้ชาวลาวหลายกลุ่มอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่พื้นที่ภาคอีสานของไทยหลายกลุ่มซึ่งเรียกกันว่า ไปครัว หรือไปอยู่บ้านใหม่ แสวงหาที่ทำกินดินดำน้ำชุ่ม วิธีการอพยพที่สำคัญคือ การอาศัยลำน้ำมูลในการเดินทางอพยพ เมื่อพบชัยภูมิที่เหมาะสมก็ตั้งเมืองสร้างบ้านแปงเมืองสืบต่อกันมา ในระยะนั้น มีกลุ่มชนเผ่าที่เรียกตนเองว่า กูย จำนวน 6 กลุ่ม อพยพมาจากเมืองอัตปือแสนแป เขตนครจำปาศักดิ์ ข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มได้นำไพร่พลเข้าจับจองพื้นที่รกร้างตั้งเป็นชุมชน ต่างๆ ดังนี้

ตากะจะ(หรือตาไกร)และ เชียงขัน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน (บ้านดวนใหญ่ ในเขตอำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน)
เชียงปุม มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเมืองที ต่อมาได้สร้างบ้านเมืองอยู่ที่บ้านคูปทายและยกเป็นปทายสมันต์ (จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)ส่วนเมืองทีให้เชียงปิดน้องชายเป็นหัวหน้าปกครอง
เชียงฆะ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านอัจจะปึงหรือเมืองดงยาง (ในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
เชียงชัย มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านจารพัต (ในเขตอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
เชียงสง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเมืองลิง (ในเขตอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
เชียงสี (ตากะอาม) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กุดหวาย (อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)

อนุสาวรีย์ พระยาไกรภักดีฯ (หลวงแก้วสุวรรณ หรือ ตากะจะ) เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองศรีนครลำดวน ต้นเค้าที่พัฒนามาเป็นจังหวัดขุขันธ์และจังหวัดศรีสะเกษ
อนุสาวรีย์ พระยาไกรภักดีฯ (หลวงแก้วสุวรรณ หรือ ตากะจะ) เจ้าเมืองคนแรก

ชุมชนชาวกูยดังกล่าวได้อยู่อาศัยเรื่อยมาจนล่วงเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ใน พ.ศ. 2302 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์(หรือพระที่นั่งสุริยามรินทร์)พญาช้างเผือกมงคลในราชสำนักแตกโรงมาจากจากกรุงศรีอยุธยา หนีเข้าป่าไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าในเทือกเขาพนมดงเร็ก ตากะจะหรือตาไกรและเชียงขัน พร้อมด้วยหัวหน้าชาวกูยเขมรป่าดงได้รับอาสาตามจับพญาช้างเผือกได้แล้วนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความชอบในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ "ตากะจะ" หรือ "ตาไกร" เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ" ตำแหน่งหัวหน้านายกอง ปกครองหมู่บ้าน โดยโปรดให้ยก บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็น เมือง "ศรีนครลำดวน" ต่อมาเมืองศรีนครลำดวนขาดแคลนน้ำ จึงโปรดให้ย้ายไปจัดตั้งเมืองใหม่ที่ริมหนองแตระห่างจากเมืองเดิมไปทางใต้ เมืองใหม่เรียก "เมืองคูขัณฑ์" หรือ "เมืองคูขันธ์"(หมายถึงเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ต่อมาชื่อนี้ได้เพี้ยนมาเป็น "ขุขันธ์") ซึ่งได้แก่อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน จนล่วงปีพุทธศักราช 2306 หลวงแก้วสุวรรณนำเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ความชอบครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้หลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน ตำแหน่ง "เจ้าเมือง"คูขัณฑ์ คนแรก

สมัยกรุงธนบุรี

ลุถึงสมัยกรุงธนบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2319 – พ.ศ. 2320 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(พระเจ้าตากสิน) โปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้ พระยาจักรี (ทองด้วง) ไปทำศึกปราบกบฏกับเวียงจันทน์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) และ ”หลวงปราบ” ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยรบอย่างเข้มแข็งจนได้รับชัยชนะทุกครั้ง ถือว่ามีความดีความชอบจึงได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน“

ล่วงถึงรัชสมัยรัชการที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่า เมืองขุขันธ์จนถึง พ.ศ. 2481 จึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่นั้นมา

จังหวัดศรีสะเกษแบ่งการปกครองเป็น 22 อำเภอ

อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอพยุห์ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอศิลาลาด

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดยโสธร และร้อยเอ็ด
ทิศใต้ ติดต่อประเทศกัมพูชาประชาธิปไดย โดยมี เทือกเขาดงรักเป็นแนวกั้นเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี

ระยะทางจากตัวเมืองศรีสะเกษไปจังหวัดใกล้เคียงและอำเภอต่าง ๆ

อำเภอพยุห์ 21 กิโลเมตร
อำเภออุทุมพรพิสัย 24 กิโลเมตร
อำเภอกันทรารมย์ 26 กิโลเมตร
อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ 29 กิโลเมตร
อำเภอยางชุมน้อย 32 กิโลเมตร
อำเภอศรีรัตนะ 37 กิโลเมตร
อำเภอห้วยทับทัน 37 กิโลเมตร
อำเภอราศีไศล 38 กิโลเมตร
อำเภอเมืองจันทร์ 40 กิโลเมตร
อำเภอไพรบึง 42 กิโลเมตร
อำเภอบึงบูรพ์ 42 กิโลเมตร
อำเภอน้ำเกลี้ยง 44 กิโลเมตร
อำเภอขุขันธ์ 49 กิโลเมตร
อำเภอศิลาลาด 50 กิโลเมตร
อำเภอโนนคูณ 56 กิโลเมตร
อำเภอขุนหาญ 60 กิโลเมตร
อำเภอปรางค์กู่ 60 กิโลเมตร
อำเภอกันทรลักษ์ 63 กิโลเมตร
อำเภอภูสิงห์ 74 กิโลเมตร
อำเภอเบญจลักษ์ 80

จังหวัดอุบลราชธานี 67 กิโลเมตร
จังหวัดยโสธร 103 กิโลเมตร
จังหวัดสุรินทร์ 110 กิโลเมตร
จังหวัดบุรีรัมย์ 157 กิโลเมตร
จังหวัดร้อยเอ็ด 174 กิโลเมตร
จังหวัดขอนแก่น 262 กิโลเมตร
จังหวัดนครราชสีมา 277 กิโลเมตร
จังหวัดอุดรธานี 390 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ศรีสะเกษ

โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา เข้าทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ หรือใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 24 จากอำเภอสีคิ้วผ่านอำเภอโชคชัย-นางรอง-ประโคนชัย-ปราสาท แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 220 ผ่านอำเภอขุขันธ์ เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ

ทางรถประจำทาง

โดยรถประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ไปศรีสะเกษทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง มีทั้งรถโดยสารธรรมดา รถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และวีไอพี ติดต่อสอบถามเวลาเดินรถและรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

โดยรถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถสปรินเตอร์สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี วันละ 7 รอบ ลงที่สถานีศรีสะเกษ ระยะทาง 515 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010 และ 223-7020 สำหรับการเดินทางภายในตัวเมืองศรีสะเกษ สามารถใช้บริการรถสามล้อรับจ้างซึ่งมีอยู่อยู่ทั่วไป หากต้องการเดินทางไปอำเภอต่าง ๆ ก็มีรถโดยสารวิ่งบริการทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารจากตัวเมืองศรีสะเกษไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย

  งานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ หรือเดิมเรียกว่า งานเทศกาลดอกลำดวน จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบาน ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง
การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟและควอเตอร์มาราธอนสู่ผามออีแดง จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจกันมาก

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนเทพาตัดกับถนนหลักเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียงเล็กน้อย เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การประกอบพิธีกรรม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2529 ทางจังหวัดจึงได้ก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ ลักษณะเป็นแบบจตุรมุข ประดับด้วยหินอ่อนและกระจกสีอย่างงดงาม เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ลักษณะเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ นับเป็นศาลหลักเมืองที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
วัดมหาพุทธาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ มีวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน“หลวงพ่อโต” ชึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.85 เมตร หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ
สวนสมเด็จศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่ เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนซึ่งมีจำนวนกว่าสี่หมื่นต้นนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีด จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้มีพื้นที่ซึ่งจัดเป็นสวนสาธารณะ มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
สวนสัตว์องค์การบริหารส่วนจังหวัด (สวนสัตว์ราษฎร์ประเสริฐอนุสรณ์) อยู่ในบริเวณสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โนนหนองกว้าง ตำบลน้ำคำ ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 4 กิโลเมตรตามเส้นทางสายศรีสะเกษ- อำเภอยางชุมน้อย เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในบริเวณมีสัตว์ป่าหลายชนิดให้ชมและมีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับแข่งเรือพายและศาลาริมน้ำสำหรับพักผ่อน
พระธาตุเรืองรอง ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นล่างสุดใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่สองและสามเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ห้าใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่หกเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจุดชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย

ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยตามทางหลวงหมายเลข 226 ทางไปตัวเมืองศรีสะเกษ ประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณ กม.81 เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคต มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ บริเวณปราสาทมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักลวดลายต่าง ๆ พระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผา และประติมากรรมทวารบาลสำริด ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาในลัทธิมหายานเมื่อประมาณพุทธ ศตวรรษที่ 18
ปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลชะยูง ห่างจากตัวอำเภออุทุมพรพิสัย ตามเส้นทางอุทุมพรพิสัย-ศรีสะเกษ (ทางหลวงหมายเลข 226) ประมาณ 14 กิโลเมตร ประกอบด้วยปรางค์และวิหารซึ่งก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบ สันนิษฐานว่าเป็นอโรคยาศาลหรือสุขศาลาประจำชุมชนที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก บริเวณใกล้กับปราสาทมีสระน้ำขนาดเล็ก ขอบเป็นศิลาแลง เรียกกันว่า สระอโนดาต

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอห้วยทับทัน

ปราสาทบ้านปราสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลปราสาท จากตัวเมืองศรีสะเกษเดินทางไปตามทางหลวงสาย 226 ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภออุทุมพรพิสัย เลยไปถึงอำเภอห้วยทับทันแล้วเลี้ยวขวาไปอีก 7 กิโลเมตร โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินดิน มีลักษณะเป็นปรางค์สี่เหลี่ยมย่อมุมทรงแหลมเรียวรีลดหลั่นจากส่วนฐานจนถึงยอด ไล่เลี่ยกัน 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ในแนวเหนือ-ใต้ ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างเล็กน้อย แต่ส่วนหลังคาจะเตี้ยกว่า ปรางค์ทิศเหนือและทิศใต้สูงประมาณ 15 เมตร องค์กลางสูงประมาณ 13 เมตร มีประตูอยู่ทางด้านตะวันออกของปรางค์องค์กลาง อาจสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 และได้รับการดัดแปลงในสมัยต่อมา ดังจะเห็นได้จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังที่ปรากฏอยู่ นอกจากนั้นปรางค์สององค์ที่ขนาบข้างยังถูกดัดแปลงรูปแบบไปมากโดยเฉพาะส่วนหลังคาและประตูซึ่งถูกก่อทึบหมดทุกด้าน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปรางค์กู่

ปราสาทปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ อยู่ห่างจากศรีสะเกษเป็นระยะทาง ประมาณ 70 กิโลเมตร สามารถเดินทางเข้าถึงได้สองเส้นทางคือ ใช้เส้นทางศรีสะเกษ-สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง 2234 หรือใช้เส้นทางศรีสะเกษ-ขุขันธ์ แล้วแยกขวาเข้าเส้นทาง 2167 ปรางค์กู่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 10 กิโลเมตร ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ด้านหน้าปรางค์กู่มีสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นทำเลพักหากินของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมีมากในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
ปราสาทหินบ้านสมอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลสมอ อำเภอปรางค์กู่ ห่างจากปราสาทปรางค์กู่มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อยที่อำเภออุทุมพรพิสัย เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็กล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 35 เมตร ประกอบด้วยปรางค์ศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม บนประตูหลอกด้านทิศใต้มีทับหลังศิลาจำหลักลวดลายค้างอยู่ ภายในองค์ปรางค์มีรูปประติมากรรมศิลา นอกกำแพงมีการค้นพบสระโบราณอยู่สองแห่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอขุขันธ์

ปราสาทตาเล็ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านปราสาท ตำบลกันทรารมย์ การเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงสาย 220 จนถึงอำเภอขุขันธ์เลี้ยวขวาผ่านสถานีตำรวจไป 3 กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวซ้าย 300 เมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตร ปราสาทตาเล็งลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวตั้งอยู่บนฐาน องค์ปรางค์มีผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงผนังด้านหน้าและผนังด้านข้างบางส่วน มีประตูเข้าได้เพียงประตูเดียวด้านหน้าอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ที่สำคัญคือเสาติดผนังของประตูหน้าทั้งสองข้างยังคงมีลวดลายก้านขดสลักเต็มแผ่นอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกตาล ห่างจากตัวอำเภอขุขันธ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 2157 ประมาณ 21 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาพนมดงรัก นอกจากนี้ตามเส้นทางห้วยศาลา-หมู่บ้านโอดราวยังเป็นเส้นทางที่เหมาะแก่การขับรถชมทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำที่สวยงามอีกด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอขุนหาญ

วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด) ตั้งอยู่ในตัวอำเภอขุนหาญ การเดินทางจากศรีสะเกษไปขุนหาญสามารถใช้เส้นทาง 211 และ 2111 ผ่านกิ่งอำเภอพยุห์ อำเภอไพรบึงไปขุนหาญระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร สิ่งปลูกสร้างภายในตกแต่งด้วยขวดแก้วหลากสนับล้านใบที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาค นับเป็นวัดที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลาใหญ่ที่เรียกว่า ศาลาฐานสโมสรมหาเจดีย์แก้ว มีความวิจิตรงดงามมาก
ปราสาทตำหนักไทร หรือปราสาททามจาน ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง จากตัวอำเภอขุนหาญใช้เส้นทาง 2127 ไปอีก 19 กิโลเมตร ปราสาทตำหนักไทรมีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐ ส่วนกรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัว เหนือประตูทางเข้ามีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
น้ำตกสำโรงเกียรติ์ หรือน้ำตกปีศาจ ตั้งอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติ์ มีต้นกำเนิดจากภูเขา กันทุง บนเทือกเขาบรรทัด ห่างจากอำเภอขุนหาญ 20 กิโลเมตรตามทางหลวงหมายเลข 2127 เป็นน้ำตกขนาดกลาง ตกจากหน้าผาสูง 8 เมตร เหนือน้ำตกเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน จะมีความสวยงามในฤดูฝน
น้ำตกห้วยจันทร์ อยู่ห่างจากอำเภอขุนหาญ 24 กิโลเมตร บนเส้นทางกันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหิน มีน้ำตลอดปี บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกันทรลักษ์

ปรางค์ศิลาช่องเขาโดนตวล ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงชัน บนเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ห่างจากบ้านภูมิซรอลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 8 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวอำเภอกันทรลักษ์ประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท
ผามออีแดง ตั้งอยู่ปลายสุดของทางหลวงหมายเลข 221 ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ลงไปทางใต้ 36 กิโลเมตร บริเวณนี้มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติริมหน้าผาสูง ติดเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นจุดชมทัศนียภาพทิวเขาพนมดงรัก แผ่นดินเขมรต่ำ และสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไปมีภาพสลักหินนูนต่ำ ศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ศรีสะเกษ