แผนที่สระแก้ว
- แผนที่สระแก้ว
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
สระแก้วในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญแห่งหนึ่ง มีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวาราวดี มีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2476 ปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด และยกเลิกระบบเทศาภิบาล สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัวออกมาจากปราจีนบุรี พร้อมกับผนวกอำเภออีก 5 อำเภอ เพื่อรวมเป็นจังหวัดใหม่ และได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 สระแก้วเป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 220 กิโลเมตร มีพื้นที่ 7,195 ตารางกิโลเมตร และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ยาว 165 กิโลเมตร พื้นที่มีทั้งที่ราบ ที่ดอนและป่าเขา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์
จังหวัดสระแก้วแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ ได้แก่
- อำเภอเมืองสระแก้ว
- อำเภอคลองหาด
- อำเภอตาพระยา
- อำเภอวังน้ำเย็น
- อำเภอวัฒนานคร
- อำเภออรัญประเทศ
- อำเภอเขาฉกรรจ์
- อำเภอโคกสูง
- อำเภอวังสมบูรณ์
ทิศเหนือ จดอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้ จดอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันออก จดประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันตก จดอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
ในสมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวารวดี สระแก้วเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ)
สระแก้ว เป็นชื่อที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีอยู่จำนวน 2 สระ ในสมัยกรุงธนบุรีราวปี พ.ศ. 2323 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและได้ขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว-สระขวัญ" และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์
สมัยก่อนสระแก้วมีฐานะเป็นตำบลขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดกบินทร์บุรี ซึ่งทางราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. 2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า กิ่งอำเภอสระแก้ว โดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอกบินทร์บุรี ในภายหลังจังหวัดกบินทร์บุรีถูกยุบ จึงถูกยุบรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี (เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอสระแก้ว ขึ้นอยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด เป็นจังหวัดลำดับที่ 74 ของประเทศไทย
การเกิดชุมชนและการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระแก้ว
ประมาณ 4,000 ปีก่อน บริเวณอ่าวไทยยังเป็นทะเลโคลนตมเว้าลึกเข้ามาในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน พื้นที่ที่เป็นจังหวัดสระแก้วยังไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ต่อมาเริ่มมีคนมาตั้งถิ่นฐานจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ผู้คนพากันตั้งหลักแหล่งบริเวณเชิงเขา ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอเขาฉกรรจ์ โดยเฉพาะบนสองฝั่งลำน้ำพระปรงและพระสะทึง จากนั้นผู้คนได้กระจายออกไปอยู่บริเวณที่ดอนกลางทะเลโคลนตม ที่ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม ในจังหวัดปราจีนบุรี
พ.ศ. 1000 ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระแก้วได้พัฒนาเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มลำน้ำพระปรง-พระสะทึง มีวัฒนธรรมแบบสุวรรณภูมิสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และแบบทวาราวดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เขาฉกรรจ์ และกลุ่มลำห้วยพรมโหด มีวัฒนธรรมแบบขอม ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทเขาน้อย-เขารังและบ้านเมืองไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภออรัญประเทศ)
สมัยโบราณ สระแก้วมีความสำคัญในด้านเป็นเส้นทางคมนาคมทางตะวันตก-ตะวันออก (ระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับกัมพูชา) และทางเหนือ-ใต้ (ระหว่างเมืองในลุ่มน้ำโขง ชี มูน กับเมืองชายฝั่งทางจันทบุรี) กระทั่งหลัง พ.ศ. 1500 รัฐพื้นเมืองต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิมีการปรับตัวเนื่องจากการทำการค้ากับจีน ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณอ่าวไทยเปลี่ยนแปลงกลายเป็นแผ่นดินตื้นเขินขึ้น เส้นทางคมนาคมทางน้ำเปลี่ยนแปลง ผู้คนจึงอพยพย้ายถิ่นออกจากสระแก้ว
บริเวณลุ่มน้ำบางประกงมีกลุ่มบ้านเมืองเกิดขึ้นราว พ.ศ. 1900 เป็นชุมชนขนาดเล็ก ผู้คนเสาะหาของป่าเพื่อส่งส่วยให้แก่ราชธานีต่าง ๆ ต่อมาพัฒนาเป็นเมืองด่านชายขอบ ทั้งเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปยังกัมพูชา
เส้นทางการเดินทัพในอดีต
สระแก้วเป็นเมืองชายแดน จึงเป็นทางผ่านของกองทัพในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง ดังปรากฏหลักฐานจำพวกจารึกต่าง ๆ และอนุสาวรีย์ของผู้นำทัพที่ผ่านมายังเมืองนี้
สมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งยังเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ได้ยกทัพมาปราบปรามอริราชศัตรูที่ลักลอบเข้าโจมตี กวาดต้อนผู้คนบริเวณชายแดน มีการตั้งค่ายคูเมือง ปลูกยุ้งฉาง ไว้ที่ท่าพระทำนบ ซึ่งเชื่อว่าคือ อำเภอวัฒนานคร ในปัจจุบัน
ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากทรงหนีพม่าไปเมืองจันทบุรี โดยพาไพร่คนสนิทหนีฝ่ากองทัพพม่าไปทางทิศตะวันออก ผ่านบริเวณ ดงศรีมหาโพธิ์ อันเป็นเขตป่าต่อเนื่องจากที่ราบลุ่ม ขึ้นไปถึงที่ลุ่มดอนของเมืองสระแก้ว แล้วไปยังชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
สมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี พร้อมบุตรชาย ยกทัพไปเสียมราฐและได้แวะพักแรมในบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า สระแก้ว สระขวัญ
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พักทัพก่อนยกไปปราบญวน ณ บริเวณที่ภายหลังเมื่อเสร็จศึกญวนแล้วสร้างเป็นวัดตาพระยา อำเภอตาพระยา
การรวมตัวของคนหลายเชื้อชาติ
จังหวัดสระแก้ว เป็นที่รวมของคนหลายเชื้อชาติ ทั้งเขมร ญวน ลาว และญ้อ
ชาวเขมรอพยพเข้ามาในสระแก้ว เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง อพยพชาวเขมรให้เข้ามาในฝั่งไทยภายหลังเหตุการณ์ที่ไทยเข้าปกครองกัมพูชาและจัดตั้งมณฑลบูรพาขึ้น แล้วถูกฝรั่งเศสยึดกัมพูชารวมทั้งมณฑลบูรพาคืนไปได้ นอกจากนี้เมื่อเกิดสงครามเวียดนามและสงครามกัมพูชาขึ้น ก็มีการอพยพชาวกัมพูชาเข้ามาในบริเวณชายแดนฝั่งไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตอำเภออรัญประเทศ
ชาวเวียดนามหรือญวนอพยพมายังจังหวัดสระแก้ว เพื่อหนีภัยสงครามเวียดนามในยุคที่เวียดนามใต้แตก โดยเดินทางผ่านประเทศกัมพูชาเข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภออรัญประเทศ
ส่วนชาวลาวมีหลายกลุ่ม ดังเช่นกลุ่มไทยโยนกหรือลาวพุงดำเป็นกลุ่มล้านนาเดิม อาศัยมากอยู่ที่อำเภอวังน้ำเย็น รวมทั้งชาวญ้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองปันนาแล้วไปตั้งรกรากที่แขวงไชยบุรีของลาว ต่อมาถูกทัพไทยกวาดต้อนลงมาที่ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยบางส่วนได้อพยพต่อมายังอำเภออรัญประเทศ นอกจากนี้ยังมีชาวอีสานอพยพเข้ามาทำมาหากินในเกือบทุกอำเภอของจังหวัดสระแก้ว
ร่องรอยอารยธรรม
มีร่องรอยอารยธรรมโบราณปรากฏอยู่ในจังหวัดสระแก้วในรูปของปราสาทหิน แหล่งหินตัด ซากสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น กรมศิลปากรสำรวจพบปราสาทขอมในจังหวัดสระแก้วมากถึง 40 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางผ่านช่องเขา หันไปทางทิศตะวันออก คือหันหน้าเข้าหานครวัด เท่าที่มีหลักฐาน พบว่าปราสาทเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากฝั่งภูเขาที่ไร้เส้นเขตแดนในอดีต และตัวปราสาทยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณอีกด้วย
ลึกลงไปในผืนดินพบโบราณวัตถุซึ่งยังคงขุดค้นอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ บ้านหนองผักแว่น ตำบลคลองยาง อำเภอตาพระยา เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบ เช่น พระพุทธรูป ชิ้นส่วนเทวรูป ลูกปัด ขวานหิน หินบดยา หม้อ ไห ฯลฯ ชี้ให้เห็นการเป็นชุมชนที่มีระบบความเชื่อและวัฒนธรรม ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ มีชุมชนห้วยโสมง อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี คลองบ้านนา อำเภอบ้านนา และดงละคร ในจังหวัดนครนายก คลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
การเดินทาง
ทางรถยนต์
เส้นทางที่สะดวกมี 2 สาย คือ
- กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม-กบินทร์บุรี-สระแก้ว
- กรุงเทพฯ-รังสิต-องครักษ์-นครนายก-กบินทร์บุรี-สระแก้ว
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ตลาดหมอชิต) มีรถโดยสารทั้งธรรมดาและปรับอากาศไปสระแก้ว ซึ่งเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490
ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ ทุกวัน เวลา 06.00 น. และ 13.10 น. ซึ่งจะผ่านสถานีฉะเชิงเทรา สถานีปราจีนบุรี สถานีกบินทร์บุรี สถานีสระแก้ว และสถานีปลายทางคือ สถานีอรัญประเทศ รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยงานบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
งานวันแคนตาลูป จัดขึ้นที่อำเภออรัญประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
สระแก้ว สระขวัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 แลหมู่ที่ 7 ตำบลสระแก้ว ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เชื่อกันว่าน้ำในสระทั้งสองแห่งนี้ เป็นน้ำสระแก้วศักดิ์สิทธิ์ที่เคยนำมาใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวสมเด็จพระยาบรมมหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเขมร ได้แวะพักที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ และอาศัยน้ำจากสระทั้งสองแห่งสำหรับใช้สอยและใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ ได้รับการขุดเพิ่มเติมเพื่อสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ยามฤดูแล้ง
อุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลท่าแยก อำเภอเมือง ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร ใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร และอำเภอนาดี ซึ่งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่าในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า ยังคงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธารน้ำมากมาย อาทิ ห้วยโสมง ห้วยน้ำเย็น ห้วยพระปรง ห้วยพลับพลึง ฯลฯ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี การเดินทางจากตัวจังหวัด ใช้ทางหลวงหมายเลข 3462 ไปทางทิศเหนือระยะทาง 27 กิโลเมตร ถ้านักท่องเที่ยวประสงค์ที่จะเดินทางไปอุทยานแห่งชาติปางสีดาโดยรถโดยสารประจำทาง ก็สามารถใช้บริการรถสองแถวโดยสารสายสระแก้ว-บ้านคลองน้ำเขียว- ถึงที่ทำการอุทยานฯ ภายในอุทยานแห่งชาติปางสีดามีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจเช่น
น้ำตกปางสีดา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 700 เมตร เป็นน้ำตกที่ไม่สูงนัก เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น และจะมีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน
น้ำตกผาตะเคียน อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กิโลเมตรโดยการเดินเท้า ตลอดเส้นทางขึ้นสู่น้ำตกร่มรื่นด้วยแมกไม้หนาทึบ เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายอยู่ในสายเดียวกับน้ำตกปางสีดา ตกลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ในหน้าน้ำสายน้ำจะมีความรุนแรงดังก้อง ละอองน้ำฟุ้งกระจายทั่วบริเวณ
อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก เป็นอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะปรับปรุงระบบชลประทานในเขตพื้นที่ราบเชิงเขา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลท่าแยก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูง 17.50 เมตร ยาว 720 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง มีทิวทัศน์สวยงาม
น้ำตกท่ากระบาก อยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก ตัวน้ำตกมีถึง 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 400 ถึง 500 เมตร เบื้องล่างของแต่ละชั้นเป็นแอ่งน้ำลงเล่นน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกแควมะค่า น้ำตกสวนมั่นสวนทอง น้ำตกม่านธารา และแหล่งจระเข้น้ำจืด อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยวและมีสถานที่สำหรับกางเต๊นท์พักแรม ติดต่อที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาโดยตรงที่ตู้ ปณ. 55 อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 27000 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 5795734
เขาฉกรรจ์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร ตามถนนสายสระแก้ว-จันทบุรี ทางหลวงหมายเลข 317 ระหว่างกิโลเมตรที่ 131-132 แยกซ้ายไปอีกเล็กน้อย เขาฉกรรจ์เป็นภูเขาหินปูน มีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ด้านหน้าเป็นสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ใช้เป็นสถานที่ปลูกป่าของกรมป่าไม้ ส่วนเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาฉกรรจ์ มีบันไดขึ้นไปถึงยอดเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภออรัญประเทศ
พระสยามเทวาธิราชจำลอง อยู่ในตัวอำเภออรัญประเทศ มีความสูง 1.29 เมตร สร้างโดยพระอุทัยธรรมธารี ราษฎรได้ร่วมกันสร้างบุษบกเป็นที่ประทับ โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2528 เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภออรัญประเทศ
ตลาดชายแดนบ้านคลองลึก ตั้งอยู่ที่ตำบลพนาศรี ห่างจากตัวอำเภออรัญประเทศไปทางทิศตะวันออก 6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางราดยาง ร้านค้าในตลาดมีลักษณะเป็นเพิงไม้มุงสังกะสี แบ่งเป็นแถว สินค้าส่วนใหญ่ที่วางขายเป็นสินค้าที่มาจากฝั่งเขมร เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องกระเบื้อง ถ้วยชาม ผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าจากรัสเซีย เครื่องจักสาน ปลาแห้ง เป็นต้น ไม่ไกลจากตลาดคลองลึกไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงด่านคลองลึกที่เป็นจุดผ่านแดนไปสู่ตลาดปอยเปตของเขมร นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเดินผ่านแดนเข้าไปจับจ่ายซื้อของได้ การผ่านแดนต้องแสดงบัตรประชาชนและเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านกัมพูชา จากตลาดคลองลึกไปตลาดปอยเปตจะมีรถรับจ้างขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถเข็น เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาไม่อนุญาตให้นำกล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์เข้าไป รวมทั้งห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทจากกัมพูชา เช่น ตาชั่ง สัตว์ป่าและผลิตผลจากสัตว์ป่า หอม กระเทียม เป็นต้น
วัดอนุบรรพต (เขาน้อย) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่หนองไทร แยกจากถนนสุวรรณศร ตามถนนธนะวิถีไปทางอำเภอตาพระยา ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 มีการสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองเนื้อทองเหลือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวอรัญประเทศ
ปราสาทเขาน้อย ตั้งอยู่ในวัดเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร โบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ สูงราว 80 เมตร มีบันไดทางขึ้น 254 ขั้น เดินไปตามทางลาดไม่ไกลนัก ก็จะถึงบริเวณตังปราสาทก่ออิฐ ซึ่งประกอบด้วยปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลาง และวิหารทิศใต้ จะมีเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้น ที่ยังคงสภาพเป็นองค์ปรางค์ ส่วนปรางค์ทางทิศเหนือ และวิหารทิศใต้เหลือเพียงฐานเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2478 ปราสาทเขาน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้มีการสำรวจขุดแต่งจากกรมศิลปากร ซึ่งทำให้พบทับหลังหินทราย 5 ชิ้น นักโบราณคดีพบว่าเป็นศิลปะเขมรแบบไพรกเมง 2 ชิ้น และเป็นแบบสมโบร์ไพรกุก 3 ชิ้น สันนิษฐานอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 และเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ส่วนโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น เก็บรักษาและตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
ปราสาทเมืองไผ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองไผ่ อำเภออรัญประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือ เจดีย์โบราณสร้างด้วยอิฐก่อทับกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมา 4 มุม แกะสลักลวดลายดอกไม้ ลายเครือวัลย์ และรูปคน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์สมัยทวาราวดี นอกจากนี้ยังพบศิลปวัตถุหลายอย่าง เช่น เสมาธรรมจักร ทำด้วยศิลาเขียว เทวรูปศิลปะลพบุรี และพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร การเดินทางไปปราสาทเมืองไผ่นั้น ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน อรัญประเทศ-ปราจีนบุรี ถึงตำบลเมืองไผ่ ต่อจากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปถึงปราสาทเมืองไผ่ รวมระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอตาพระยา
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา เป็นปราสาทที่สร้างด้วยหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก “สด๊กก๊อกธม” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “แหล่งของต้นกก” มีอาณาบริเวณกว้างขวาง โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วยองค์ปราสาท 3 หลัง มีกำแพงศิลา 2 ชั้น คูน้ำล้อมรอบชั้นในยังหลงเหลือโคปุระหรือซุ้มประตู ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีวิหารคด บรรณาลัย 2 หลัง และมีปราสาทหลังกลางเป็นปรางค์ประธาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อในลัทธิศาสนาฮินดู นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม 2 หลัก ปัจจุบันนี้ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่ปราสาทด้านขวามีสิ่งที่น่าสนใจคือ หน้าบันที่มีลวดลายจำหลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งเหนือเกียรติมุข ที่เชิงชายเป็นรูปนาคปรก ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้ามีขนาดใหญ่เกือบเท่าซุ้มประตูทางเข้าที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนปราสาทด้านซ้ายและปราสาทองค์ประธานอยู่ในสภาพที่ปรักหักพัง ห่างจากกำแพงด้านนอกเล็กน้อยทางทิศตะวันออกจะพบสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร การเดินทางไปปราสาทสด๊กก๊อกธม สามารถใช้รถยนต์เข้าไปได้ โดยใช้เส้นทางอรัญประเทศ-ตาพระยา ราว 20 กิโลเมตร จะอยู่ทางขวามือ และถึงก่อนตัวอำเภอตาพระยา
ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลตาพระยา เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยออออดเขาโล้น ซึ่งเป็นยอดเขาเตี้ยๆ อยู่บนเชิงเขาสะแกกรอง มีปราสาท 4 หลัง เหลืออยู่เฉพาะหลังกลาง ส่วนปราสาทด้านหน้า 2 หลัง และด้านหลัง 1 หลัง ได้ปรักหักพังไป ลักษณะปราสาทคล้ายกับปราสาทเขาน้อย ก่อด้วยอิฐเผามีหินทรายเป็นพื้นฐาน มีส่วนชำรุดที่ยอดของปราสาท ที่วงกบประตูหินทรายมีจารึกอักษรโบราณและที่เสากรอบวงกบประตูมีลายบัวคว่ำบัวหงาย จากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง และมีแนวถนนโบราณทอดยาวจากตัวปราสาทถึงสระน้ำ รอบภูเขาลูกนี้มีลักษณะเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนโบราณในอดีต การเดินทางไปปราสาทเขาโล้น ใช้เส้นทางหมายเลข 3068 ตาพระยา-บุรีรัมย์ เลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังไปบ้านเจริญสุข จากนั้นเดินเท้าไปตามถนนดินแคบๆ ถึงเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทเขาโล้น