แผนที่ภูเก็ต
- แผนที่ภูเก็ต
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
ภูเก็ต
เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของ ประเทศไทย ในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ต วัดจากทิศเหนือถึง ทิศใต้ประมาณ 47.8 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร
สภาพโดยทั่วไป มีภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนมีลมพัดผ่านตลอดเวลา อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดปี มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-ปลายเดือนตุลาคม ฤดูร้อนเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 33 อาศาเซลเซียส ต่ำสุด 23 องศาเซลเซียส ช่วงที่อากาศดีที่สุด อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ไม่มีฝน ท้องฟ้าแจ่มใส อุณหภูมิประมาณ 31 องศาเซลเซียส
ประชากรของจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นคนไทย นอกนั้นมีชาวมลายู แขก ซิกซ์ ปาทานกลิงค์กรูซ่า ชาวเล และชาวต่างชาติอื่นๆ ภาษาที่ใช้ในภูเก็ตมี 2 ภาษา คือ ภาษาไทย ซึ่งใช้ในราชการเป็นภาษากลาง และภาษาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาปักษ์ใต้ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อาชีพของพลเมืองในด้านการเกษตร ส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนผลไม้
ภูเก็ตโอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีเขียวมรกตและมีหาดทรายขาวเนียน เหมาะแก่การพักผอ่น รวมทั้งยังเอื้อต่อการทำกิจกรรมสนุกในทะเลและริมทะเลอีกด้วย ความโดด เด่นของชายทะเลและกล่มเกาะในภูเก็ตเกิดจากภูมิประเทศที่เป็นชายฝั่งทะเลลด ตัว พื้นที่ส่วนที่ต่ำจะจมอยู่ใต้น้ำ ปรากฎเฉพาะยอดสูงเหลี่ยม ล้ำเหนือผิวทะเลเป็นกลุ่มเกาะน่าเที่ยว สำหรับตัวเกาะใหญ่คือภูเก็ต นั้น ทางฝั่งตะวันตกมีลักษณ์เป็นอ่าวเว้าแหว่ง และปูลาดด้วยเม็ดทรายละเอียด เช่น หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน เป็นต้น ส่วนทางด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนและหาดโคลน ขณะที่บริเวณทิศใต้มีแนวปะการังสวยงาม นอกจากตัวเกาะใหญ่แล้ว เกาะเล็กเกาะน้อยที่ตั้งอยู่รอบๆ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรมองข้ามเพราะมีหาดทรายขาว น้ำทะเลใสเช่นเกาะราชา เกาะเฮ เกาะมะพร้าวเป็นต้น ไม่เพียงเพราะภูมิประเทศงดงามทำให้ภูเก็ตเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่นี้ยังเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรม ที่สั่งสมหล่อหลอมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองอันยาวนานนับแต่ยุคต้นคริสตกาล ภูเก็ตซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า "ถลาง" เป็นเกาะที่นักเดินเรือ ซึ่งเดินทางระหว่างจีนและอินเดียรู้จักในนาม "จังซีลอน" เป็นทั้งท่าเรือและศูนย์กลางการค้า โดยมีสินค้าเด่นคือแร่ดีบุก เป็นสินทรัพย์ในดินที่สร้างรายได้ให้เมืองสืบต่อมาเนิ่นนาน ล่วงมาสมัยรัชกาลที่ 1 ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ขึ้น เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง ขณะนั้นเจ้าเมืองเพิ่งถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงจันผู้เป็นภรรยา และคุณมุกน้องสาว จึงร่วมกันนำกำลังผู้คนรับมือกับการตีเมืองของพม่าด้วยแผนการอันแยบยล จนพม่าถอยทัพกลับไปเพระความกล้าหาญและคุณงามความดีนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คุณหญิง จันเป็นท่านท้าวเทพกระษัตรีและคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ปรากฎนามกระเดื่องใน ฐานวีรสตรีไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อบ้านเมืองสงบ บรรยากาศของการค้าขายก็กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อความต้องการแร่ดีบุกของตลาดโลกเพิ่มขึ้นจนแรงงานขุดแร่ไม่เพียงพอ ถึงขนาดต้องรับคนจีนที่ทำเหมืองแร่อยู่ในปีนังและสิงคโปร์มาเป็นคนงาน ยุคนั้นเองที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้เข้ามาตั้งรกรากในภูเก็ต มีการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลและตกแต่งรายละเอียด ด้วยศิลปะจีนอันเป็นเอกลัษณ์ของภูเก็ตเช่นที่เห็นทุกวันนี้ มาเยือนภูเก็ต แล้วคุณจะรู้ว่าเกาะแห่งนี้เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและทรัพยากรธรรมชาติที่มากมาย ทั้งบนดินและใต้น้ำรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสารพันที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี
ในด้านอุตสาหกรรมมีการทำเหมืองแร่ดีบุก แร่วุลแฟรม การถลุงแร่ดีบุก การทำยางแผ่นรมควัน และการทำปลาป่น ปลากระป๋อง เป็นต้น และขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้ขยายตัวอย่างมาก มีการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานและมีบริษัทนำเที่ยวเกิดขึ้นหลายแห่ง
การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ 17 ตำบล 103 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (เทศบาลนครภูเก็ต) 2 เทศบาลเมือง (เทศบาลเมืองป่าตอง) (เทศบาลเมืองกะทู้) 6 เทศบาลตำบล 9 องค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ อำเภอถลาง
การเดินทาง
ทางรถยนต์
1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอท่าฉาง แล้วแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 401 ไปจนบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่อำเภอตะกั่วป่า แยกซ้ายผ่านอำเภอท้ายเหมือง บ้านโคกกลอย แล้วข้ามสะพานสารสินเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร อำเภอกระบุรี อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง บ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา ข้ามสะพานท้าวเทพกษัตรีย์ หรือสะพานสารสิน เข้าจังหวัดภูเก็ต รวมระยะทาง 862 กิโลเมตร
รถประจำทาง
มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ไปภูเก็ตทุกวัน สอบถามได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 บริษัทเอกชน ติดต่อ บริษัทภูเก็ตเซ็นทรัล โทร. 435-5019 และบริษัทภูเก็ตท่องเที่ยว โทร. 435-5018 สถานีขนส่งภูเก็ต โทร. (076) 211480
ทางรถไฟ
ไม่มีบริการรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตโดยตรง ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางโดยรถไฟต้องไปลงที่สถานีรถไฟพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถประจำทางเข้าจังหวัดภูเก็ต สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
ทางอากาศ
- บริษัทการบินไทย จำกัด จัดเที่ยวบินกรุงเทพฯ - ภูเก็ตทุกวัน รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร. 02-356-1111 บริษัทการบินไทยภูเก็ต โทร. (076) 211195, 212499, 212946
- บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด จัดเที่ยวบินกรุงเทพฯ - อู่ตะเภา - ภูเก็ต - และกรุงเทพฯ - สมุย - ภูเก็ต ทุกวัน รายละเอียดติดต่อ โทร. 229-3456-63 ภูเก็ต โทร. (076) 212341, 225033-5
ไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com นกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com วัน ทู โก โทร. 1126 www.fly12go.com
การเดินทางภายในจังหวัดภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีการเดินทางภายในจังหวัดสะดวกมาก มีรถตุ๊กๆ บริการภายในเขตเทศบาล หรือจะเช่าเหมารถตุ๊กๆ ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง
บริการรถสองแถว และรถโดยสารประจำทาง มีรถสองแถวออกจากตลาดสด ใกล้วงเวียนน้ำพุ ถนนระนอง ไปยังหาดและสถานที่ต่างๆ รถออกทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. อัตราค่าโดยสาร 10-20 บาท
บริการรถรับ-ส่งระหว่างสนามบินและตัวเมืองภูเก็ต ที่สนามบินมีบริการรถแท็กซี่เข้าตัวเมืองภูเก็ต หรือไปยังหาดต่างๆ ในอัตราค่าบริการที่ต่างๆ กัน ส่วนในตัวเมืองก็มีบริการรถรับส่งไปสนามบินตามเวลาที่เครื่องบินจะออก โดยรถจะออกจาก บริษัททัวร์รอยัล เอ็นเตอร์ไพรส์ ถนนวิชิตสงคราม โทร 235268-71 รถออกเวลา 06.30-18.00 น.
เดินทางไปจังหวัดใกล้เคียง
มีบริการรถโดยสารจากภูเก็ตไปจังหวัดใกล้เคียง รถออกจากสถานีขนส่ง ถนนพังงา ไปยังจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล หาดใหญ่ ตะกั่วป่า และเกาะสมุย รายละเอียดติดต่อ สถานีขนส่งภูเก็ต โทร. (076) 211480, 211977
บริการเที่ยวบินภูเก็ตไปจังหวัดใกล้เคียง
- บริษัทการบินไทย มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และหาดใหญ่ รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-356-1111 หรือสำนักงานภูเก็ต โทร. (076) 211195, 212499, 212946
- บริษัท บางกอกแอร์เวย์ มีเที่ยวบิน ภูเก็ต-เกาะสมุย และ ภูเก็ต-ระนอง รายละเอียดติดต่อ โทร. 229-3456-63 หรือสำนักงานภูเก็ต โทร. (076) 212341, 225033-5
ระยะทางจากอำเภอเมืองภูเก็ตไปยังอำเภอต่างๆ คือ อำเภอกะทู้ 10 กิโลเมตร อำเภอถลาง 19 กิโลเมตร
งานท้าวเทพกษัตรีย์-ท้าวศรีสุนทร ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลางให้รอดพ้นจากข้าศึกพม่าและสดุดีในวีรกรรมของท่าน
เทศกาลอาหารทะเล จัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่อาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต ชักชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตในฤดูฝน กิจกรรมของงานมีการประกวดขบวนแห่ทรัพยากรท่องเที่ยวทางทะเล การออกร้านจำหน่ายอาหารทะเล การสาธิตอาหารประจำภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ
เทศกาลกินเจ กำหนดจัดในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ระหว่างถือศีลกินผัก ชาวบ้านจะไปรับอาหารจากศาลเจ้า มีพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น ลุยไฟ ไต่บันไดมีด ฯลฯ มีการแห่เจ้าไปตามถนนต่างๆ โดยชาวบ้านสองฝั่งถนนจะจุด
ประทัดเสียงอึกทึกไปตลอดสาย ประเพณีกินเจนี้ถือว่าเป็นการอุทิศความดีให้กับพระและเทวดาฟ้าดินเพื่อให้พระคุ้มครองชาวภูเก็ตและเกาะภูเก็ตตลอดไป
งานประเพณีปล่อยปลา ตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือวันสงกรานต์ของทุกปี กรมประมงได้กำหนดให้เป็นวันประมงแห่งชาติ มีประเพณีปล่อยลูกเต่าลงทะเล โดยจะจัดงานในบริเวณหาดต่างๆ ในภูเก็ต
งานประเพณีลอยเรือชาวเล จะมีพิธีในกลางเดือน 6 และ 11 ของทุกปี โดยกลุ่มชาวเลที่หาดราไวและบ้านสะปำจะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น 13 ค่ำ และกลุ่มชาวเลที่แหลมหลา (ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต) จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งถือเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวเลคล้ายกับพิธีลอยกระทงของชาวไทย มีการสร้างเรือจากไม้ระกำ ตัดผมตัดเล็บ และทำตุ๊กตาไม้แทนคน ใส่ลงไปในเรือ แล้วนำไปลอยเพื่อนำเอาความทุกข์โศก เคราะห์ร้ายต่างๆ ออกไปกับทะเล แล้วมีการร่ายรำรอบเรือ หรือที่เรียกว่า “รำรองเง็ง” นั่นเอง
งานผ้อต่อ เป็นงานประเพณีของชาวภูเก็ตที่มีเชื่อสายจีน จะมีพิธีในช่วงเดือน 7 ของจีน หรือเดือน 9 ของไทย โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งเป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่
เทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2528 ณ หาดป่าตอง เพื่อต้อนรับฤดูการท่องเที่ยวที่เวียนมาถึงอีกครั้ง และเป็นการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ หน่วยงานราชการและประชาชน ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ พิธีตักบาตรในตอนเช้า การแข่งขันกีฬาทางน้ำ การประกวดสาวงามจากนักท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น
งานแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ และหลังจากนั้นจึงถือกำหนดจัดงานขึ้นในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี โดยมีเรือใบจากนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วม การแข่งขันบริเวณ หาดในหาน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
อาหารพื้นเมือง
ภูเก็ตมีอาหารพื้นเมืองทั้งคาวหวานมากมายหลายชนิด มีรูปแบบวิธีการปรุงและรสชาติที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาลิ้มลอง รสชาติและซื้อกลับไป เป็นของฝากเสมอ อาหารเหล่านี้ได้แก่
ขนมจีนภูเก็ต นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า มีน้ำแกงให้เลือกหลายประเภท เช่น น้ำซุป น้ำยา แกงไตปลา โดยรับประทานกับผักนานาชนิดพร้อมทั้งไข่ต้ม ปาท่องโก๋ และห่อหมก
เต้าซ้อ หรือขนมเปี๊ยะภูเก็ต
น้ำซุปภูเก็ต เป็นน้ำพริกกะปิน้ำใสๆ ใส่กุ้งสด หัวหอม พริก และมะนาว รับประทานกับข้าวหรือขนมจีน
น้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นน้ำพริกแห้งตำกับกุ้งเสียบ รับประทานคู่กับผักสดต่างๆ
โลบะ เป็นเครื่องในหมูปรุงกับเครื่องพะโล้ นำมาทอดรับประทานกับเต้าหู้ทอดราน้ำจิ้ม
หมี่ฮกเกี้ยน เป็นเส้นหมี่เหลืองผัดซีอิ๊ว
หมี่หุ้นปาฉ่าง เป็นเส้นหมี่แห้งรับประทานกับน้ำต้มกระดูก
หมี่สั่ว เป็นอาหารเช้าของชาวภูเก็ต จะขายพร้อมกับข้าวต้ม หรือโจ๊ก
โอเต๊า ลักษณะคล้ายกับหอยทอดภาคกลาง ใช้หอยนางรมผัดกับแป้ง เผือก และไข่
โอ๊ะเอ๋ว เป็นของหวานคล้ายวุ้นน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็ง ทำมาจากกล้วยน้ำว้าผสมกับสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ต้นมะม่วงหิมพานต์เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากในภูเก็ต ดังนั้นเม็ดมะม่วงหิมพานต์จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างหนึ่งที่นิยมซื้อกันเป็นของฝาก ทั้งในรูปอบแห้ง ทอด ฉาบ และอื่นๆ
สับปะรดภูเก็ต เป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติหวานกรอบ อร่อย ต่างกับสับปะรดที่อื่น หาซื้อได้ที่ตลาดสดทั่วไป
เขารัง เป็นเนินเขาเตี้ยๆ อยู่หลังตัวเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รถยนต์สามารถขึ้นไปจนถึงยอดเขา เทศบาลจัดเป็นสวนสุขภาพและสวนสาธารณะ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชมทิวทัศน์ของเมืองภูเก็ต จากยอดเขาจะแลเห็นตัวเมืองภูเก็ต ทะเลกว้าง เกาะเล็ก เกาะน้อย รวมทั้งทิวทัศน์ของเกาะทั้งใกล้และไกล
สะพานหิน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมือง อยู่สุดถนนภูเก็ตซึ่งยื่นลงไปในทะเลเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์หลัก 60 ปี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ ชาวออสเตรเลียผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2452
ตึกสมัยเก่า ในตัวเมืองภูเก็ตส่วนมากเป็นตึกสมัยเก่าแบบยุโรป สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เริ่มเจริญใหม่ๆ ตึกสมัยเก่าเหล่านี้ได้รับอิทธิพล ทางด้านสถาปัตยกรรมแบบจีนด้วยจึงเรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบซิโน-โปรตุกีส ลักษณะตึกสมัยเก่าของภูเก็ตนั้นจะมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้างและไม่สูงนัก ปัจจุบันจะหาดูได้บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช และถนนกระบี่ นอกจากนี้ยังมีตึกโบราณที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต และธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น
เกาะสิเหร่ เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต อยู่ห่างจากตัวเมืองรวม 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันนี้ถือเป็นพื้นที่อันเดียว กับเกาะภูเก็ต มีคลองเล็กๆ ชื่อคลองท่าจีนคั่นเท่านั้น ประชากรที่เกาะสิเหร่นี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวเล หรือชาวน้ำ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในจำนวนชาวเลที่อาศัยอยู่ในเกาะภูเก็ต เกาะสิเหร่ เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่บนยอดเขา ชายหาดไม่เหมาะสำหรับการการเล่นน้ำ พื้นทรายมีโคลนปน
หมู่บ้านชาวเล ชาวเลหรือชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ เป็นชนกลุ่มน้อยของไทย อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ตามเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ในเกาะภูเก็ตมีชาวเลอาศัยอยู่ที่หาดราไว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ประมาณ 17 กิโลเมตร และที่เกาะสิเหร่บริเวณแหลมตุ๊กแก
วัดฉลอง อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูเก็ต มีรูปหล่อของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อช่วง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ตทั่วไป
อ่าวฉลอง อยู่ห่างตัวเมือง 11 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของเกาะภูเก็ตไปตามทางที่ไปหาดราไว เมื่อถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตรถึงอ่าวฉลอง มีสะพานไม้ทอดยาวไปในทะเล ชายหาดเป็นรูปโค้งยาวเหยียดมองเห็นทิวมะพร้าวริมหาดเอนลู่ออกทะเล ทะเลบริเวณนี้ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะหาดเป็นโคลน ที่อ่าวฉลองนี้นักท่องเที่ยวจะเช่าเรือไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ หรือเช่าไปตกปลาได้
หาดแหลมกาใหญ่ เป็นหาดเล็กๆ ห่างจากตัวเมือง 16 กิโลเมตร จากห้าแยกฉลอง ใช้ทางหลวง 4024 ทางเข้าอยู่ตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์ บริเวณหาดมีเรือให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะเฮ เกาะบอน เป็นต้น
หาดราไว อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 17 กิโลเมตร เส้นทางจาห้าแยกฉลองไปสู่หาดราไว (ทางหลวง 4024) เป็นเส้นทางที่สวยที่สุดสายหนึ่งของภูเก็ต หาดราไว เป็นหาดที่สวยงามและมีชาวเลอาศัยอยู่
เกาะแก้ว อยู่ห่างจากหาดราไวประมาณ 3 กิโลเมตร นั่งเรือจากหาดราไวประมาณ 30 นาที มีหาดทรายและธรรมชาติใต้น้ำสวยงามมาก บนเกาะมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ด้วย
แหลมพรหมเทพ อยู่ห่างจากหาดราไวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหลมที่อยู่ตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกว่า แหลมเจ้า บริเวณ แหลมพรหมเทพ เป็นส่วนที่สวยงามที่สุดส่วนหนึ่งของเกาะภูเก็ต เหนือแหลมพรหมเทพเป็นที่ราบ สำหรับจอดรถ ซึ่งอยู่บนหน้าผาสูงริมทะเล จากหน้าผานี้จะมองเห็นแหลมพรหมเทพทอดยาวออกไปในทะเล จะเห็นเกาะหลายเกาะรวมทั้ง เกาะแก้ว ทางด้านขวามือจะเห็นแนวหาดทราย ของหาดในหานชัดเจน จากบนหน้าผามีทางเดินลงเขาไปจนถึงสุดแหลมพรหมเทพได้ เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้งดงามยิ่งนัก
หาดในหาน เป็นหาดที่อยู่ถัดจากแหลมพรหมเทพขึ้นไปทางทิศเหนือ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 18 กิโลเมตร มีทางไปได้หลายทาง จะไปจากหาดราไวโดยผ่านหรือไม่ผ่านแหลมพรหมเทพก็ได้ หรือถ้ามาจากห้าแยกฉลองไปทางหาดราไวประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปบ้านใสยวน หนองหาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ชายหาดในหานไม่ยาวนัก หาดทรายขาวสะอาด ด้านหลังของชายหาดเป็นบึง ชาวบ้านเรียกว่าหนองหาน ระหว่างทะเลและบึงมีเพียงหาดทรายของหาดในหานขวางกั้นอยู่เท่านั้น ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม คลื่นจะแรงมาก ไม่ควรลงเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอันตรายได้
อ่าวเสน เป็นอ่าวเล็กๆ ติดกับหาดในหานไปทางขวา ผ่านโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ เป็นชายหาดเล็กๆ ที่สงบ มีโขดหินน้อยใหญ่ หาดทรายขาวสะอาด
จุดชมวิว จากหาดในหานไปหาดกะตะน้อยตามเส้นทางถนนรอบเกาะ จุดชมวิวจะอยู่ระหว่าง 2 หาดนี้ จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเวิ้งอ่าวถึง 3 อ่าว คือ อ่าวกะตะน้อย อ่าวกะตะ และอ่าวกะรน ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก
อ่าวกะตะ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 17 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตเมื่อถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวขวาไปตามทางตามถนนหมายเลข 4028 อ่าวกะตะแบ่งออกเป็น 2 อ่าวคือ อ่าวกะตะใหญ่ กับอ่าวกะตะน้อย ทั้งสองอ่าวมีหาดทรายและชายหาดที่สวยงามเหมาะแก่การเล่นน้ำ และใช้เป็นที่ฝึกดำน้ำ เนื่องจากมีแนวปะการังติดต่อกันไปจนถึงเกาะปูซึ่งอยู่ด้านหน้าหาดกะตะ ปัจจุบันหาดกะตะ เป็นหาดหนึ่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ สถานที่พัก บริษัทนำเที่ยว ร้านค้า แหล่งบันเทิงต่างๆ ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
อ่าวกะรน อยู่ถัดจากอ่าวกะตะขึ้นไปทางเหนือมีเพียงเนินเขาเตี้ยๆ คั่นอยู่เท่านั้น แต่ถ้าจะไปที่กลางอ่าวกะรนและหมู่บ้านกะรน มีถนนแยกจากอ่าวกะตะไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร อ่าวกะรนใหญ่กว่าอ่าวกะตะ มีชายหาดยาวเหยียด เหนือชายหาดเป็นเนินทรายสูงๆ ต่ำๆ มีสนทะเลต้นใหญ่ๆ และต้นตาลขึ้นเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หาดทรายที่อ่าวกะรนขาวสะอาดและละเอียดมาก
อ่าวป่าตอง ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนวิชิตสงคราม หรือ ทางหลวง 4020 ไป 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวง 4029 ไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นอ่าวที่มีความโค้งมาก หาดทรายงดงามเป็นแนวยาว 9 กิโลเมตร น้ำทะเลใสสะอาด เหมาะแก่การเล่นน้ำมากที่สุด
หาดกะหลิม ไปตามเส้นทางเดียวกับหาดป่าตอง แต่เมื่อถึงตัวหาดป่าตอง จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวาก็จะถึงหาดกะหลิมเป็นหาดเล็กๆ มีโขดหินและแนวปะการังและมีสถานที่พักริมหาด
หาดกมลา อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 26 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทร เลี้ยวซ้ายผ่านหาดสุรินทร์ แหลมสิงห์ ก็จะถีงหาดกมลาเป็นแนวหาดทรายยาวประมาณ 2 กิโลเมตร นับเป็นหาดหนึ่งที่สงบเงียบ มีสถานที่พักไม่มากนัก
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอถลาง
อนุสาวรีย์วีรสตรี อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ เขตอำเภอถลาง ก่อนถึงตัวเมืองภูเก็ต 12 กิโลเมตร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง ตั้งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์วีรสตรีประมาณ 50 เมตร ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงเป็นบ้านท้องถิ่นของชาวภูเก็ต มี 2 หลัง อาคารหลังแรกจัดแสดงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันตก สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมื่ออารยธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามาประวัติและวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุก และสวนยางพารา ศิลปะพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับอาคารหลังที่สองจัดแสดงฉากและเรื่องราวของศึกถลาง ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีที่น่าสนใจของชาวจีนในภูเก็ต และเรื่องราวความเป็นมาและถิ่นอาศัยของชาวเลในภูเก็ต เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 311426
วัดพระทอง (วัดพระผุด) อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตเลยที่ว่าการอำเภอถลางไปเล็กน้อยจะมีทางแยกขวามือเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน
วัดพระนางสร้าง อยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเทพกษัตรีย์ ถึงสี่แยกอำเภอถลาง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลางที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเคยเป็นค่ายสู้รบกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2328 นอกจากนี้ภายในอุโบสถเก่าแก่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก 3 องค์เรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระสามกษัตริย์” ซึ่งอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ 3 องค์อีกชั้นหนึ่ง
อุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตไปอำเภอถลาง เมื่อถึงสี่แยกในเขตเมืองถลางซึ่งอยู่ห่างจากตัวภูเก็ต 18 กิโลเมตร แยกไปทางซ้ายมืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานสัตว์ป่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2512 มีเนื้อที่ 13,925 ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ตามธรรมชาติ และมีพันธุ์ไม้หายากคือ “ปาล์มหลังขาว” โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้
-น้ำตกโตนไทร อยู่ห่างจากตัวเมือง 22 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีย์ถึงสี่แยกอำเภอถลางแล้วเลี้ยวขวาไป 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนไทร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก น้ำจะไหลแรงในช่วงฤดูฝน มีต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน
-น้ำตกบางแป ไปจากตัวเมืองถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทรแล้วเลี้ยวขวาไปทางตำบลป่าคลอก 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีสวนรุกขชาติร่มรื่น และสถานอนุบาลชะนี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของชะนีที่ถูกจับมาเลี้ยง ให้พร้อมที่จะกลับคืนสู่ป่าต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการเดินป่าสัมผัสธรรมชาติ ทางอุทยานฯ ได้จัดทำทางเดินเท้าไว้ 3 เส้นทาง ขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติในเขตอุทยานฯ
นักท่องเที่ยวผู้ที่ประสงค์จะเข้าพักแรมที่อุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-4847 หรือติดต่อโดยตรงที่หัวหน้าอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ที่ทำการอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ถนนเทพกษัตรีย์ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83100
หาดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตใช้เส้นทาง 402 เมื่อถึงอนุสาวรีย์วีรสตรีแล้วไปทางซ้ายมืออีก 12 กิโลเมตร เป็นหาดที่อยู่ริมเชิงเขา บริเวณเหนือหาดมีต้นสนทะเลต้นใหญ่ๆ อยู่เรียงราย และบริเวณเหนือหาดด้านขวามือเป็นสนามกอล์ฟ หาดสุรินทร์ชายหาดไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะมีลักษณะลาดชัน และในฤดูมรสุมจะมีคลื่นลมจัดมาก
แหลมสิงห์ จากหาดสุรินทร์ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลเข้าสู่หาดแหลมสิงห์ อาจจะขออนุญาตผ่านถนนส่วนบุคคล หรือเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางเดินไปตามลาดเขาลงสู่ชายหาด หาดทรายแหลมสิงห์เป็นหาดเล็กๆ ทรายขาวสะอาด ทางซ้ายมือของหาดเป็นแหลมเล็กๆ ที่มีโขดหินสวยงาม เรียกว่า แหลมสิงห์
อ่าวบางเทา อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร ตามถนนเทพกษัตรีย์ไปทางเหนือสู่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนศรีสุนทรไปอีก 12 กิโลเมตร จนถึงหาดสุรินทร์เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงอ่าวบางเทา เป็นหาดทรายทอดตัวยาวเหมาะสำหรับการเล่นน้ำและกีฬาทางน้ำต่างๆ
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดในยาง) ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 อยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนเทพกษัตรีย์ ผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ตรงไปเมื่อถึงหลักกิโลเมตร 21-22 จะมีทางแยกด้านซ้ายเข้าไป 10 กิโลเมตร หรือจะไปทางแยกเข้าสนามบินเลี้ยวซ้าย 2 กิโลเมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 90 ตารางกิโลเมตร หรือ 56,250 ไร่ เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องกันถึง 13 กม. โดยเริ่มจาก
-หาดในทอน ไปตามเส้นทางไปอุทยานแห่งชาติเลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตร 21-22 เมื่อถึงทางแยกเข้าบ้านสาคู เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงหาดในทอน เป็นเวิ้งอ่าวที่งามแปลกตาทอดโค้งจากตัวเกาะเป็นที่กำบังคลื่นลมได้อย่างดี และเป็นหาดที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ
-หาดในยาง เป็นที่ตั้งทำการอุทยานฯ เป็นหาดที่มีสวนสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนและเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังมีแนวปะการังขนาดใหญ่เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะเต่าทะเลซึ่งจะขึ้นมาวางไข่บนหาด ราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันเต่าทะเลมีจำนวนลดลงมากจนแทบจะไม่เห็นเต่าขึ้นมาวางไข่อีกเลย
-หาดไม้ขาว หรือหาดสนามบิน ไปตามเส้นทางถนนเทพกษัตรีย์ผ่านทางแยกเข้าสนามบินตรงไปทางสะพานสารสินจะมีทางแยกด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกทางเข้าหาดไม้ขาว เลี้ยวซ้ายไป 3.5 กิโลเมตร ก็จะถึงหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นหาดที่มีจั๊กจั่นทะเลและเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เช่นเดียวกับหาดในยาง
-หาดทรายแก้ว เป็นหาดทรายขาวทอดยางขนานกับทิวต้นสนอยู่ถัดจากหาดไม้ขาวไปจนถึงสะพานสารสิน นับเป็นหาดที่อยู่เหนือสุดของเกาะภูเก็ต
การเดินทางท่องเที่ยวเกาะต่างๆ รอบภูเก็ตและในทะเลอันดามัน
ภูเก็ตมีบริการอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวทะเลอย่างพร้อมมูล ทำให้เมืองภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในน่านน้ำทะเลอันดามัน การท่องเที่ยวทะเลนั้นมีหลายอย่าง อาทิ ชมธรรมชาติป่าเขา โขดหินบนเกาะ เล่นน้ำตามแนวหาดทราย ดำน้ำดูแนวปะการัง และตกปลา