แผนที่ลำพูน

  • แผนที่ลำพูน
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี
ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย

ลำพูน เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวีเดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยสืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา

ถึงแม้ว่าเมืองลำพูนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากจังหวัดลำพูนจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกลำไย พระเครื่อง โบราณสถานที่สำคัญ และผ้าทอฝีมือดี



จังหวัดลำพูนแบ่งการปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 51 ตำบล 520 หมู่บ้าน ดังนี้

อำเภอเมืองลำพูน อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านธิ อำเภอเวียงหนองล่อง


ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอห้างฉัตร อำเภอสบปราบ และ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่


สภาพทั่วไป จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคเหนือ มีเนื้อที่ 4,407 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,800 ฟุต มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 4 สาย คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำลี้

 ระยะทางจากจังหวัดลำพูนไปสถานที่ใกล้เคียง

ลำพูน-เชียงใหม่ 21 กิโลเมตร
ลำพูน-ลำปาง 71 กิโลเมตร
ลำพูน-ตาก 244 กิโลเมตร

 ระยะทางภายในจังหวัด

อ. บ้านธิ 26 กิโลเมตร
อ. ป่าซาง 11 กิโลเมตร
อ. แม่ทา 25 กิโลเมตร
อ. บ้านโฮ่ง 40 กิโลเมตร
อ. ทุ่งหัวช้าง 105 กิโลเมตร
อ. ลี้ 105 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ลำพูน

ทางรถยนต์ ทางรถยนต์ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านดอนเมือง รังสิต แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 32 ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท เข้าจังหวัดนครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก ตรงเข้าสู่จังหวัดลำปาง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 เข้าจังหวัดลำพูน รวมระยะทาง 670 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง

ทางรถประจำทาง

ทางรถประจำทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศบริการทุกวันจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 (ลำพูน) โทร. (053) 511-173 บริการรถปรับอากาศวีไอพี - บริษัทอินทราทัวร์ (ผ่านประตูน้ำ) โทร. 208-0840, 208-0580 (ลำพูน) โทร. (053) 511-369 บริษัทสมบัติทัวร์ โทร. 282-3938, 281-4258 (ลำพูน) โทร. (053) 511-372 ผู้โดยสารต้องลงรถที่ดอยติ และต่อรถสองแถวเข้าไปลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรถไฟไปจังหวัดลำพูนทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน โดยสารเครื่องบินสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แล้วต่อรถมาลำพูนอีกทอดหนึ่ง รายละเอียดสอบถามได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด โทร. 02-356-1111 ส่วนรถประจำทางสายเชียงใหม่-ลำพูน มีบริการทุกวัน รถออกที่หน้าประตูเมืองเชียงใหม่ และปลายทางที่พิพิธภัณฑ์เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย เป็นประเพณีเก่าแก่ มีขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก หรือที่ชาวลำพูนเรียกว่า วันแปดเป็งของทุกปี โดยมีพิธีสรงน้ำและงานสมโภชพระธาตุหริภุญชัย พระบาทสมเด็จพระเจาอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงพระธาตุเป็นประจำทุกปี นอกจากชาวลำพูนแล้ว ยังมีชาวจังหวัดใกล้เคียงและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าชมงานนี้อย่างหนาแน่น

งานเทศกาลลำไย เป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวจังหวัดลำพูน ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ภายในงานจะมีขบวนแห่รถลำไยที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม การประกวดธิดาลำไย และการออกร้านค้า ประกวดผลิตผลทางการเกษตร และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง

งานฤดูหนาวและกาชาดจังหวัดลำพูน จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ สนามกีฬากลางจังหวัด ภายในงานมีนิทรรศการของส่วนราชการ การแสดงมหรสพ การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร

งานของดีศรีหริภุญชัย เป็นงานแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตผลทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปนานาชนิด ซึ่งเกษตรกรและกลุ่มแม่บ้านของจังหวัดเป็นผู้ผลิต ในงานมีขบวนแห่ของกลุ่มแม่บ้าน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การประกวดเรือนชนบท การออกร้านขายสินค้าหัตถกรรมในราคาย่อมเยา

 

ในเขตอำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัยผู้ทรงมีคุณธรรมและเป็นนักปราชญ์ผู้กล้า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ตั้งอยู่เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อ พ.ศ. 2522 ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปะสมัยหริภุญชัย ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17-19 และศิลปะล้านนา มีอายุในราวกลางพุทธศตรวรรษที่ 19-25 เปิดทำการเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (053) 511-186

ซุ้มประตู ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม

วิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว จะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า "วิหารหลวง" เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไป เมื่อ พ.ศ. 2466 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์

พระบรมธาตุหริภุญชัย (ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง) เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ที่ลงตัวสวยงาม ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานบานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาในปี พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีความสัมพันธ์กับลังกาอยู่มาก

พระสุวรรณเจดีย์ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุฯ เสร็จแล้วได้ 4 ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบพระปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือและแบบขอมหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม ซึ่งเป็นพระเครื่องชนิดหนึ่ง

อนุสาวรีย์สุเทวฤาษี ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน สุเทวฤาษีเป็นผู้สร้างหริภุญชัย (ลำพูน) เนื่องจากตนเป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงไปเชิญพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระธิดาของพระยาจักวัติแห่งเมืองละโว้มาปกครองเมืองหริภุญชัยแทนตน และยังได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาลงในนครหริภุญชัยอย่างมั่นคง

วัดมหาวัน อยู่ห่างจากกลางเมืองลำพูนราว 2 กม. เลียบไปตามคูเมืองเก่าด้านตะวันตก มีตำนานการสร้างวัดว่า วัดนี้สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นมาครองหริภุญชัย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธรูปนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากกรุงละโว้ ปัจจุบันชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่งคือ พระรอดมหาวัน

วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเจดีย์กู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง ห่างจากตัวศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตก 1.5 กม. ตามถนนสายลำพูน-สันป่าตอง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์ภายในวัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย มีพระพุทธรูปปางประทานพรยืนเป็นชั้นๆ ชั้นละ 3 องค์ ด้านหนึ่งมี 5 ชั้น จึงมีพระพุทธรูปด้านละ 15 องค์ ทั้ง 4 ด้าน รวมเป็น 60 องค์ ภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า "กู่กุด" หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ" นอกจากนั้นยังมีรัตนเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร ตัวเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

วัดพระยืน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่บ้านพระยืน ตำบลเวียงทอง ข้ามลำน้ำกวง ไปทางสะพานท่าสิงห์ มีชื่อเดิมว่าวัดพุทธมหาสถาน ซึ่งพระเจ้าธรรมิกราฃ กษัตริย์หริภุญไชยเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1606-1611 พระเจดีย์วัดพระยืนในสภาพปัจจุบัน เป็นพระเจดีย์ทรงมณฑป คล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม และพระเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

กู่ช้าง-กู่ม้า เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ตั้งอยู่บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร กู่ช้างเป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ชื่อ "ภูก่ำงาเขียว" ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำ งาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม ส่วนกู่ม้า เป็นสุสานม้าทรงของพระโอรสของพระนางจามเทวี

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่เชิงดอยติ บริเวณวัดพระธาตุดอยติ ตำบลป่าสัก อ. เมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กม. บนถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง พระครูบาศรีวิชัยเป็นพระเถรเจ้า นักพัฒนาแห่งล้านนาไทย ผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจ และด้านถาวรวัตถุให้แก่ชาวล้านนาไทยไว้อย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2421-2481 ถิ่นฐานบ้านเดิมของท่านอยู่ที่ ต. แม่ตื่น อ. ลี้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่ได้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกเพ็ญศิริ ตั้งอยู่ที่ถนนนลำพูน-ดอยติ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากตัวเมือง ตำบลเวียงยอง เป็นสถานที่จัดแสดงและอนุรักษ์งานฝีมือผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่า ภายในมีการสาธิตขั้นตอนการผลิตผ้าไหมยกดอก การสาวไหม การย้อมไหมและการทอ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้เป็นความรู้ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (053) 537512-3

สวนสานน้ำแร่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 9 บ้านหนองหล่ม ตำบลศรีบัวบาน ไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ลำปางประมาณ 7 กิโลเมตร ที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถอาบน้ำแร่จากธรรมชาติ รับประทานอาหารพื้นเมืองรสอร่อย

ดอยขะม้อ เป็นชื่อเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง มีรูปทรงสัณฐานคล้ายฝาชี สูงประมาณ 5 เส้น อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กม. ตั้งอยู่หลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นภูเขาไฟโบราณ บนยอดมีปล่องกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร ตอนล่างเป็นบ่อมีน้ำตลอดปี ประชาชนนับถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงตัก เวลาถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปปนกับน้ำพระราชทาน แล้วจึงนำขึ้นสรงองค์พระธาตุและเวลาพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะต้องนำน้ำในบ่อนี้อัญเชิญไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง

บ้านหนองช้างคืน เป็นแหล่งผลิตลำไยที่ใหญ่ที่สุด อยู่ก่อนถึงเมืองลำพูน 8 กม. โดยจะผ่านบ้านป่าเหว มีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาเข้าบ้านหนองช้างคืน ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านหนองช้างคืน ตลอดสองฝั่งทางที่ลดเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้านจะเนืองแน่นด้วยสวนลำไย ที่นี่จึงเป็นแหล่งผลิตลำไยที่สำคัญ เดือนสิงหาคมของทุกปี จะมีงานเทศกาลลำไยลำพูน จัดขึ้นในอำเภอเมือง ในงานนี้จะมีการประกวดรถประเภทสวยงามที่ประดับตกแต่งด้วยลำไย ผลิตผลลำไยและธิดาลำไย นับเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคเหนือ

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านธิ

วัดศรีดอนชัย ตั้งอยู่หมู่ 10 ตำบลบ้านธิ ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาหรือพระพุทธเฉลิมสิริราช (พระเจ้ายืน) สูง 59 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่สูงและใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ สร้างเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ.2536 โดยศรัทธาของประชาชนในประเทศ ประกอบกับเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเสด็จครองราชย์ปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

อ่างเก็บน้ำแม่ธิ อยู่ที่หมู่ 9 บ้านดอยเวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 5 ล้านลูกบาศก์เมตร กว้าง 470 เมตร ยาว 6 กิโลเมตร ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

วัดพระธาตุดอยเวียง ตั้งอยู่หมู่ 9 บ้านดอย เวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณวัดมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1220 สมัยพระนางจามเทวี ตามจารึกใบลานภาษาพื้นเมืองเล่าว่า ขุนหลวงปาละวิจาได้มาตั้งเมืองที่นี่ สร้างพระวิหารและพระเจดีย์บนภูเขา วัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งฝนแล้ง ชาวบ้านเดือดร้อนเลยนำพระองค์นี้มาแห่ขอฝน ปรากฏว่าฝนตก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระองค์นี้ว่า "พระเจ้าสายฝน" นอกจากนี้ยังมีองค์พระเจ้าดำดิน ซึ่งสร้างสมัยพระนางจามเทวี ประดิษฐานไว้บนเขา 1 องค์และข้างล่าง 1 องค์ หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว บริเวณวัดมีความร่มรื่น เงียบสงบ

พระธาตุดอยห้างบาตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านธิประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยไซใต้ จะเห็นพระธาตุดอยห้างบาตรอยู่ทางขวามือ เป็นเจดีย์รูปทรงจัตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อไร ตามตำนานเล่าว่า สมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังดอยลูกนี้ และเตรียมเสด็จออกบิณฑบาต โปรดสัตว์ ซึ่งการเตรียมบาตรภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ห้างบาตร" ปัจจุบันมีร่องรอยที่ทรงห้างบาตรอยู่เป็นหลุมลึกลงไปในหินดินดานและมีมณฑปครอบไว้ พระธาตุแห่งนี้อยู่บนยอดดอยที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามเบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอแม่ทา

อ่างเก็บน้ำแม่กึม แยกจากทางหลวงสายท่าจัก-แม่ทาเข้าไป 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น มีชื่อเสียงในด้านการตกปลาธรรมชาติ

หมู่บ้านแกะสลักบ้านทา ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักรประมาณ 15 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ หรือแกะสลักเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องประดับบ้าน

ถ้ำจำหม่าฟ้า ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักรประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่คงสภาพตามธรรมชาติอย่างสวยงาม

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 255 ตารางกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟจากลำพูนไปยังสถานีขุนตาล ระยะทาง 22 กม. แล้วต่อด้วยการเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์ที่ตัดเข้าสู่ดอยขุนตาลเริ่มต้นจากอำเภอแม่ทา โดยมีทางลูกรังแยกเลี้ยวขวาออกจากถนนพหลโยธิน ที่มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

อุโมงค์ขุนตาล เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 1,352 เมตร สร้างขึ้นโดยชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะในระหว่างการสร้างอุโมงค์ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้นายเอมิลเดินทางกลับประเทศ ต่อมาปี พ.ศ. 2460 กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟฯ เสด็จมาเป็นแม่งาน ก่อสร้างจนเสร็จในปี พ.ศ. 2461

บริเวณยอดเขา จากที่ทำการอุทยานฯ เดินเท้าประมาณ 1,500 เมตร จะถึง ย. 1หรือยอดเขาที่หนึ่ง เป็นที่ตั้งบ้านพักรับรองของการรถไฟแห่งประเทศไทย เดินเท้าต่อไปอีก 800 เมตร จะถึง ย. 2 มีสนเขาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีบ้านพักรับรองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายในบริเวณปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว และจัดตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม ส่วน ย. 3 ห่างจาก ย. 2 ประมาณ 3,600 เมตร เป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชันนารี ต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงจุดสูงสุดของเทือกเขาดอยขุนตาลมีชื่อเรียกว่า "ม่อนส่องกล้อง" หรือ ย. 4

น้ำตกแม่กลอง อยู่ทางทิศใต้ของสถานีขุนตาล ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดยลงรถไฟที่สถานีแม่ตาลน้อย แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี

น้ำตกตาดเหมย อยู่แยกจากเส้นทางด้านซ้ายมือ ระหว่างทางจาก ย. 2 ไป ย. 3 โดยต้องเดินลงไปในหุบเขาแม่ยอนหวาย ประมาณ 300 เมตร

สถานที่พัก

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์ไปเองทางอุทยานฯ ได้จัดบริเวณสำหรับกางเต็นท์ไว้ให้ ติดต่อจองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 นอกจากนี้ยังมีบ้านพักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ติดต่อได้ที่ โทร. 225-6964 และบ้านพักมิชชันนารี ซึ่งติดต่อขอเช่าได้ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (053) 304-041-2, 305-098, 241-255 ต่อแผนกบุคคล 311

อ่างเก็บน้ำแม่เส้า อยู่ที่บ้านหลายท่า หมู่ 9 ตำบลทาสบเส้า ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ทา ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัวเขื่อนสูง 19 เมตร ยาว 271 เมตร ทางเดินขึ้นหน้าเขื่อนกว้าง 4 เมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างโดยศูนย์ปฏิบัติการ รพช. ภาคเหนือ ภายในบริเวณมีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมศาลาพักร้อนให้นั่งพักผ่อน และรับประทานอาหารจานเด็ด คือ ปลาเผาทรงเครื่อง กุ้งเต้นและไก่ทอดทาชมพู

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอป่าซาง

ตลาดสินค้าพื้นเมืองป่าซาง ตั้งอยู่ริมถนนสายลำพูน-ป่าซาง ประมาณ 11 กิโลเมตร ตรงกันข้ามกับวัดป่าซางงาม เป็นที่จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าฝ้าย ผ้าทอมือซึ่งมีแหล่งผลิตจากบ้านหนองเงือก อำเภอป่าซาง อยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 4 กิโลเมตร

แหล่งทอผ้าบ้านหนองเงือก ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือและสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง ส่งไปจำหน่ายยังแหล่งขายของที่ระลึกอื่น ๆ ในเมืองเชียงใหม่

วัดหนองเงือก ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเงือก ต. แม่แรง ไปตามถนนสายลำพูน-ลี้ มีถนนลูกรังแยกจากถนนใหญ่ใต้สะพานบ้านมะกอกด้านตะวันตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีศิลปกรรมฝีมือช่างพื้นบ้าน สิ่งที่น่าสนใจประกอบด้วย ศิลปะปูนปั้นที่ซุ้มประตูของวัดและหอไตร ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพม่า มีลักษณะเป็นตึกโบราณสองชั้น ชั้นล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง

วัดป่าเหียง ตั้งอยู่ที่บ้านกองงาม ต. แม่แรง ไปตามถนนสายสบทา-ท่าลี่ เลี้ยวขวาเข้าบ้านกองงามอยู่ใกล้กับโรงเรียนบ้านกองงาม ตามประวัติว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2420 มีหอไตรอายุกว่าร้อยปี เป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสวยงามมาก หอไตรนี้สร้างไว้กลางสระ (ปัจจุบันเป็นสระคอนกรีต) เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรแล้ว

แหล่งศิลาแลง อยู่ในท้องที่บ้านพระบาท ต. มะกอก อ. ป่าซาง ศิลาแลงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องที่จังหวัดลำพูน ที่ผลิตออกจำหน่ายแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งบริเวณบ้าน แข็งแรงทนทานและสวยงาม

พระพุทธบาทตากผ้า อยู่ห่างจากป่าซาง ตามถนนป่าซาง-ลี้ ราว 6.7 กม. แล้วมีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กม. วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับที่นี่ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้ จากนั้นจึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาท ประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน นอกจากนี้บนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาคเชื่อมระหว่างเจดีย์บนท่อนดอยกับวัดพระธาตุตากผ้าที่เชิงดอย เมื่อถึงวันเดือนแปดเหนือ แรม 8 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประเพณีทุกปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6

ถ้ำเอราวัณ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต. นครเจดีย์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 30 กม. ตามถนนสายป่าซาง-ลี้ ไปทางทิศใต้ราว 5 กม. แล้วแยกซ้ายมือที่บ้านแม่อาว ตามถนนสายแม่อาว-ห้วยไฟ 15 กม. ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามน่าชมเป็นจำนวนมาก

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง

วัดพระเจ้าตนเหลวง อยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเหล่ายาว เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ

หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ อยู่ตำบลป่าพลู ตามทางหลวงสายลำพูน-ลี้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศใต้ 12 กม. เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ยังคงประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ กิจกรรมที่น่าสนใจคือ การทอผ้าแบบดั้งเดิมโดยใช้เอวเป็นกี่ในการทอ

ถ้ำหลวง อยู่ที่ ต. ป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กม. ตามถนนสายลำพูน-บ้านโฮ่ง ภายในมีช่องชั้นคูหางดงามมากมาย มีความยาวภายในถ้ำประมาณ 500 เมตร

น้ำตกวังหลวง ตั้งอยู่ที่ ต. ป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศตะวันตก 18 กม. ตามทางหลวงสายบ้านโฮ่ง-ลี้ เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่กลางป่า มีน้ำตกไหลลดหลั่นกันอย่างสวยงาม 5 ชั้น

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอลี้

วัดบ้านปาง เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรก ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย ห่างจากตัวอำเภอลี้ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายเถิน-ลี้-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ 89 ภายในบริเวณวัดนอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัยซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน นับแต่ สบง จีวร หมอน และเครื่องใช้อื่นๆ เช่น กระโถน แจกัน ฯลฯ เป็นต้น

พระธาตุเจดีย์ห้าดวง (เวียงห้าหลัง) เป็นเจดีย์หมู่ 5 องค์ อยู่ในบริเวณที่สันนิษฐานว่า จะเป็นเวียงเก่าลี้ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้เพียง 2 กิโลเมตร

วัดพระบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอไปทางใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม บูรณะก่อสร้างจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เดิมชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีทางแยกจากทางหลวงมายเลข 106 (สายลำพูน-ลี้-ก้อ) ตรง กม. ที่ 47 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1087 เป็นทางลูกรังระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ เนื่องจากภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นน้ำตามลำน้ำปิงยาวประมาณ 100 กิโลเมตร มีสภาพเป็นแก่ง เกาะ หน้าผา หินงอก หินย้อย ตามสองฝั่งแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวลำน้ำปิงสามารถเริ่มจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยเรือหางยาว แล้วมาต่อแพที่แก่งสร้อย ล่องมาจนถึงเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในทางกลับกันอาจจะเช่าเรือหรือแพจากเขื่อนภูมิพลล่องขึ้นไปก็ได้

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

ถ้ำยางวี เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีค้างคาวอาศัยอยู่ การเดินทางเข้าไปชมต้องใช้ไฟฉายหรือคนถือไฟนำทางเข้าไป ไม่ไกลจากบริเวณถ้ำยางวีจะมีป่าที่มีลักษณะเป็นป่าสนเขาเรียกว่า "ป่าพระบาทยางวี" มีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม
ทุ่งกิ๊ก-ทุ่งนางู อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 15 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติกว้างใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานฯ เป็นที่ราบเนินเขาปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าสลับป่าเต็งรัง มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำพวกเก้ง กวาง กระต่าย และไก่ป่าชนิดต่างๆ
น้ำตกก้อหลวง อยู่ห่างจากที่ทำการตามทางลูกรังประมาณ 20 กิโลเมตร และเดินเท้าอีก 500 เมตร เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำน้ำในห้วยแม่ก้อ ไหลผ่านหินดินดานเทาดำและหินทรายของหน้าผาที่มีความสูงต่างระดับลดหลั่นกันลงมาทั้งหมด 7 ชั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นหินปูน จึงทำให้บริเวณน้ำตกมีหินงอกหินย้อยมากมาย และยังมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีปลาอาศัยอยู่มากมาย
แก่งก้อ อยู่ในเขตบ้านก้อจัดสรร หมู่ 4 ตำบลก้อ เดินทางจากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนลูกรังเป็นระยะทางอีก 16 กิโลเมตร ภายในบริเวณเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีทิวทัศน์สวยงาม ทางอุทยานฯ ได้จัดตั้งที่ทำการหน่วยพิทักษ์ (หน่วยที่ 2) นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมภูมิประเทศและสถานที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย เช่น น้ำตกอุมแป น้ำตกอุมปาด เกาะคู่สร้างคู่สม ผาเต่า ผาพระนอน ผาคันเบ็ด แก่งสร้อย (ตำนานเล่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเมืองสร้อย ซึ่งอายุกว่า 800 ปี มีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย และมีพญาอุดม เป็นผู้ปกครองเมืองคนสุดท้าย จากนั้นเมืองสร้อยก็จมอยู่ในท้องน้ำ ยังมีซากกำแพงเก่าให้เห็นอยู่ ส่วนเจดีย์ชำรุดตามกาลสมัย) โดยนักท่องเที่ยว สามารถล่องเรือจากแพท่าน้ำก้อไปทางซ้าย ไปทางเขื่อนภูมิพล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะเห็นเจดีย์สีขาวเด่น เป็นสง่าอยู่กลางเกาะ และยังมีถ้ำแก่งสร้อย พระธาตุแก่งสร้อย พระบาทบ่อลม เขื่อนภูมิพล เป็นต้น อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ยังไม่มีบริการบ้านพัก สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ที่ต้องการพักแรม ต้องนำเต็นท์และอาหารมาเอง ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 597-5734




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ลำพูน