แผนที่หนองคาย

  • แผนที่หนองคาย
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

หนองคาย เมืองหนองคายมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารล้านช้างตลอดยุคสมัย ดังเช่นปรากฏเป็นชื่อเมืองเวียงคุก เมืองปะโค เมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัยในปัจจุบัน) และนอกจากนี้ยังปรากฏในศิลาจารึกจำนวนมาก ที่กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้สร้างไว้ในบริเวณจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะเมืองปากห้วยหลวงเป็นเมืองลูกหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยพระเจ้าวรรัตนธรรมประโชติฯ พระราชโอรสในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดมุจลินทรอารามอยู่ที่เมืองห้วยหลวง และยังพบจารึกที่วัดจอมมณี ลงศักราช พ.ศ. 2098 จารึกวัดศรีเมือง พ.ศ. 2109 จารึกวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. 2151 เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอิทธิพลล้านช้างจำนวนมาก เช่น พระธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะพระธาตุบังพวน สร้างก่อน พ.ศ. 2106 จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา (อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) ลงศักราช พ.ศ. 2106 กล่าวถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อุทิศข้าทาสและที่ดินแก่วัดถ้ำสุวรรณคูหา และได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่พระธาตุบังพวนอีกด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2322 กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ชัยชนะกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์แล้ว หัวเมืองหนองคายยังอยู่ใต้ความควบคุมของเวียงจันทน์เช่นเดิมหลังกรณีเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 – 2370 ฝ่ายกรุงเทพฯ มีนโยบายอพยพผู้คนมาฝั่งภาคอีสานจึงยุบเมืองเวียงจันทน์ปล่อยให้เป็นเมืองร้าง ชาวเมืองเวียงจันทน์บางส่วนก็อพยพมาภาคกลางและบางส่วนก็อยู่ที่บริเวณเมืองเวียงคุก เมืองปะโค (อำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน)

เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ท้าวสุวอ (บุญมา) เป็นเจ้าเมือง ยกบ้านไผ่ (ละแวกเดียวกับเมืองปะโคเมืองเวียงคุก) เป็นเมืองหนองคาย ท้าวสุวอเป็น "พระปทุมเทวาภิบาล" เจ้าเมืองคนแรก มีเจ้าเมืองต่อมาอีก 2 คน คือ พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) ผู้เป็นบุตรและพระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ ณ หนองคาย) ผู้เป็นหลาน

เมื่อ พ.ศ. 2428 เกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่สองในบริเวณทุ่งไหหิน (ทุ่งเชียงคำ) พวกฮ่อกำเริบตีมาจนถึงเวียงจันทน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกฮ่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขณะดำรงพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพปราบฮ่อครั้งนั้นจนพวกฮ่อแตกหนี และสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2429

ต่อมา พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลลาวพวน (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร) ได้ตั้งที่ทำการที่เมืองหนองคาย ครั้นเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไทยถูกกำหนดเขตปลอดทหารภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากชายแดน จึงย้ายกองบัญชาการมลฑลลาวพวนมาตั้งที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองพื้นที่ขึ้นโดยให้ยกเลิกระบอบเจ้าปกครองทั่วประเทศ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ 2458 กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งสถาปนาเมืองข้าหลวงปกครอง ซึ่งต่อมาเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด และในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ หนองคายจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด

ในปี พ.ศ. 2554 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย ไปตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ

มีพื้นที่ประมาณ 7,739.28 ตารางกิโลเมตร
โดยทั่วไป ทิศเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทิศตะวันออกเป็นที่สูงและป่าโปร่ง ทิศตะวันตกเป็นภูเขาและป่า ติดต่อกันถึงเขตจังหวัดเลย ด้านทิศใต้เป็นที่สูง มีระดับความสูงโดยเฉลี่ย 1,200 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ฤดูกาลในจังหวัดหนองคายมี 3 ฤดู ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 35 ํ C. ในฤดูฝนจะมีฝนตกหนัก เนื่องจากมีภูมิประเทศอยู่ติดกับแม่น้ำโขง ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 11 ํ C.
ทิศเหนือ จดแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่าง ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว
ทิศใต้ จดจังหวัดอุดรธานี สกลนคร
ทิศตะวันออก จดจังหวัดนครพนม
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเลย

ระยะทางจากจังหวัดหนองคายไปยังสถานที่ใกล้เคียง

 - จังหวัดอุดรธานี ระยะทาง 51 กิโลเมตร
- จังหวัดเลย ระยะทาง 202 กิโลเมตร
- จังหวัดสกลนคร ระยะทาง 210 กิโลเมตร
- จังหวัดนครพนม ระยะทาง 303 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 1 ผ่านสระบุรี แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคายรวมระยะทางทั้งสิ้น 615 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดรถวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคาย ทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ-หนองคาย ทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน สามารถไปได้โดยลงที่สนามบินจังหวัดอุดรธานี จากนั้นต่อรถเข้าจังหวัดหนองคายอีก 51 กิโลเมตร รายละเอียดสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด โทร. 280-0060,628-2000

การเดินทางภายในหนองคาย

ในตัวจังหวัดหนองคายมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่อง หรือสกายแล็บ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองหนองคายไปยังอำเภอต่างๆ คือ

กิ่งอำเภอสระใคร 26 กิโลเมตร

อำเภอท่าบ่อ 42 กิโลเมตร

อำเภอโพนพิสัย 45 กิโลเมตร

อำเภอศรีเชียงใหม่ 57 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอรัตนวาปี 71 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอเฝ้าไร่ 71 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอโพธิ์ตาก 77 กิโลเมตร

อำเภอปากคาด 90 กิโลเมตร

อำเภอสังคม 95 กิโลเมตร

อำเภอโซ่พิสัย 90 กิโลเมตร

อำเภอบึงกาฬ 136 กิโลเมตร

อำเภอศรีวิไล 163 กิโลเมตร

อำเภอบุ่งคล้า 181 กิโลเมตร

อำเภอพรเจริญ 182 กิโลเมตร

อำเภอเซกา 228 กิโลเมตร

อำเภอบึงโขงหลง 238 กิโลเมตร

งานอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ

จัดประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ภายในงานจะมีการแสดงและการละเล่น มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก
งานตรุษสงกรานต์
จัดในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ที่บริเวณวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใสพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดหนองคาย มีการอัญเชิญหลวงพ่อพระใส และพระพุทธรูปสำคัญจากวัดต่างๆ เข้าขบวนแห่รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและนมัสการ และมีการออกร้านค้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองราคาถูก

งานตักบาตรเทโวและแข่งเรือมิตรภาพ ไทย-ลาว

จัดขึ้นในเทศกาลออกพรรษาของทุกปี โดยในช่วงเช้าประชาชนจะมาร่วมกันตักบาตร ในช่วงกลางวันจะมีการแข่งเรือยาวในลำน้ำโขงระหว่างไทยและลาวโดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

บุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ได้ปฏิบัติกันมานาน เกี่ยวกับการบูชาเทวดาขอฟ้าขอฝน ตามความเชื่อและโบราณกาล เป็นงานใหญ่โตมาก มีการจัดประกวดบั้งไฟประเภทตกแต่งสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ประกวดขบวนแห่ และการจุดขึ้นสูงสุด จัดทำในวันเพ็ญเดือน 6 (พฤษภาคม) ของทุกปี จังหวัดหนองคายได้จัดเป็นการแสดงแสงสีเสียงตำนานบั้งไฟพญานาค เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) แล้วมีเรื่องราวไม่ถูกใจกับพญาแถน (พระอินทร์) จึงสาบให้แผ่นดินแห้งแล้งจนพญาคันคากแนะนำให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟถวายจนฝนตกลงมาในที่สุด
แห่เทียนเข้าพรรษา

เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่จัดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษา ประชาชนตามคุ้มต่างๆ ได้จัดทำต้นเทียนขี้ผึ้งล้วน ทำลวดลายสวยงามประดับดอกไม้ มีการประกวดลวดลายสวยงามของต้นเทียนขบวนแห่มีรางวัล จัดให้มีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี
แข่งเรือ

เป็นงานประเพณีของท้องถิ่นที่จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษา จัดให้มีการแข่งเรือยาวในลำน้ำโขง โดยประชาชนในคุ้มต่างๆ ได้จัดเรือแข่งจากอำเภอและบางปีก็มีเรือจากประเทศลาวมาร่วมการแข่งขันด้วย เป็นการแสดงถึงความสามัคคีไมตรีที่มีต่อกันมานานโดยจัดให้มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
แห่ปราสาทผึ้ง

เป็นประเพณีขององถิ่นเก่าแก่ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดให้มีขึ้นควบคู่กันกับงานแข่งเรือ มีการจัดทำปราสาทผึ้งประกวด และนำลงเรือยนต์ล่องไปตามลำน้ำโขง กลางคืนมีการไหลเรือไฟประดับดวงไฟมากมาย และดูทิวทัศน์แสงไฟกระทบพื้นน้ำยามกลางคืนสวยงามมาก เพื่อนมัสการพระธาตุหล้าหนอง (วัดและองค์มหาเจดีย์ได้พังลงน้ำโขงเมื่อปี พ.ศ. 2390) อยู่หน้าวัดสิริมหากัจจายน์ อำเภอเมืองหนองคาย จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 11 จัดพร้อมกันกับงานแข่งเรือประจำปี

วันออกพรรษา

จัดเป็นงานต่อจากวันแห่ปราสาทผึ้งและแข่งเรือ เป็นวันทำบุญประจำของท้องถิ่น มีการตักบาตรเทโวภายในเขตอำเภอเมือง ประชาชนท้องถิ่นถือเป็นวันสำคัญยิ่งไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เมื่อถึงกำหนดวันทำบุญออกพรรษาแล้ว คนส่วนมากจะเดินทางกลับบ้านเพื่อทำบุญอุทิศกุศลแก่บรรพบุรุษตามประเพณีนิยมที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาแต่โบราณกาล

ลอยเรือไฟบูชาพญานาค

บั้งไฟพญานาคแม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามลำน้ำโขงมานานหลายปีแล้วตามคำร่ำลือของชาวบ้าน แต่เพิ่งจะได้รับส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคายไม่กี่ปีมานี้เอง บั้งไฟพญานาคเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นมาจากใต้แม่น้ำโขง พุ่งลอยขึ้นสู่อากาศ ประมาณ 20 - 30 เมตร แล้วก็หายไป ลูกไฟไม่จำกัดบริเวณที่เกิดและเกิดไม่ค่อยซ้ำที่บริเวณนั้น ขนาดของลูกไฟก็มีหลายขนาด เช่น ขนาดโตเท่าผลส้ม ขนาดกลางเท่าไข่ไก่ ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ เวลาที่เกิดขึ้นไม่แน่นอนแต่ต้องมืดค่ำแล้ว บางทีเกิดตั้งแต่หัวค่ำ ประมาณ 6 โมงเย็น บางปีเริ่มเกิด 2 - 3 ทุ่ม และจะเกิดไปอีกประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง จึงจะค่อยๆ หมดลง จำนวนลูกไฟที่เกิดขึ้นบริเวณหนึ่งๆ มีจำนวนไม่แน่นอน สถานที่เกิดนั้นจะอยู่ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี บั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญ เดือน 11 หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี และทางจังหวัดได้จัดงานลอยเรือไฟบูชาพญานาค ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้วัดสิริมหากัจจายน์ (วัดธาตุ) อำเภอเมือง โดยจัดเป็นประเพณีทุกปี

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

   อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวในจังหวัดหนองคาย เป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนความดีของผู้ล่วงลับไปแล้ว ในการปราบฮ่อ ในปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบฮ่อ เดิมตั้งอยู่ที่หลังสถานีตำรวจภูธร จังหวัดหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ทางจังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณ ให้เสริมสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อให้สง่างามสมกับเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองหนองคายสืบไป จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด มีคำจารึกที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ ทั้งภาษาไทย จีน ลาว และอังกฤษ ทางจังหวัดได้กำหนดให้มีการจัดงานบวงสรวงและฉลองอนุสาวรีย์เป็นประจำทุกวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี
หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากองค์พระเบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวเมืองหนองคายนับถือมาก มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยหลายตอน เสด็จในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในประเทศล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนามพระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ
พ.ศ. 2321 พระเจ้าธรรมเทววงศ์ได้อัญเชิญไปไว้ ณ เวียงจันทน์ และในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญมาฝั่งไทย แต่เกิดพายุ พระสุกจมน้ำอยู่ที่ปากงึ่ม (เวินพระสุก) ส่วนพระเสริมและพระใส ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยและวัดหอกล่อง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้อัญเชิญพระเสริมลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ทุกปีในวันเพ็ญกลางเดือน 7 ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญบั้งไฟบูชาพระใสที่วัดโพธิ์ชัยเป็นประจำ การเดินทางจากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทาง 212 (ไปทางอ.โพนพิสัย) อยู่บริเวณหลัก ก.ม.ที่ 2
พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากอำเภอเมืองหนองคาย ประมาณ 21 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ท่าบ่อ) ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 10 วัดจะอยู่ด้านขวามือริมทาง เดิมพระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมเป็นเจดีย์สร้างด้วยอิฐเผา มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ลักษณะเจดีย์เป็นรูปสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากรในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521 หลังจากที่องค์เดิมได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด พระธาตุองค์ปัจจุบันมีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร สูงถึงยอดฉัตร 34.25 เมตร รูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆังชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี และเหนือชั้นไปเป็นที่ตั้งฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสถานที่สำคัญคือ
- พิพิธภัณฑ์พระธาตุบังพวน ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ อยู่ใกล้กับองค์พระธาตุ ซึ่งภายในจะเก็บซากเศษหิน ใบเสมา ศิลาจารึก ตลอดจนโบราณวัตถุของพระธาตุองค์เก่า รวมทั้งประวัติขององค์พระธาตุ
- สระพญานาค อยู่ในบริเวณใกล้ๆ องค์พระธาตุ ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล ในสมัยต่อมาสระพญานาคก็ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนกระทั่งชาวบ้านและประชาชนที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาค และทำการบูรณะสระพญานาคเพื่อใช้น้ำในสระนี้นำไปประกอบพิธีมงคลต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกปีชาวจังหวัดหนองคายจะจัดงานนมัสการพระธาตุบังพวนขึ้นในเดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ
ท่าเสด็จ อยู่ในเขตเทศบาลเมือง เป็นท่าเรือโดยสารข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งลาว มีด่านตรวจคนเข้าเมืองและร้านค้าจำหน่ายสินค้าจากนานาประเทศที่ส่งผ่านเข้ามาจากฝั่งลาว สินค้าที่จำหน่ายได้แก่ เครื่องไม้ฝังมุก เครื่องไฟฟ้า นาฬิกา อาหาร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบริษัททัวร์ที่รับจ้างทำใบผ่านแดนและนำเที่ยวประเทศลาวอีกด้วย ชาวไทยจะต้องทำบัตรผ่านแดนที่สำนักงานบัตรผ่านแดน บริเวณศาลากลางจังหวัดหนองคาย โดยมีเอกสารประกอบการทำบัตรผ่านแดน คือสำเนาบัตรประชาชนหน้าหลัง รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติม โทร.(042)411778 โทรสาร (042)412678 ชาวต่างประเทศ จะต้องใช้หนังสือเดินทาง Passport และขอวีซ่าที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย
หาดจอมมณี ตั้งอยู่ที่บ้านจอมมณี หมู่ที่ 1 ตำบลมีชัย ห่างจากเขตเทศบาลเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำโขง หาดแห่งนี้จะมีความยาวประมาณ 200 เมตร และจะปรากฏให้เห็นตอนน้ำลดในฤดูแล้ง โดยเฉพาะเดือนเมษายน จะมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดและจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พัทยาอีสาน” อีกทั้งทิวทัศน์ในบริเวณหาดทรายยังสามารถมองเห็นบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ได้อย่างชัดเจน
พระธาตุหนองคาย อยู่ในบ้านวัดธาตุ เขตเทศบาลเมืองหนองคายตามประวัติที่ค้นพบ พบว่าในปีมะเมีย เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ.2390 ใกล้ค่ำพระธาตุหนองคายได้พังลงแม่น้ำโขง และตลิ่งอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุถูกน้ำเซาะพังลงจนมองเห็นองค์ พระธาตุเกือบอยู่กึ่งกลางลำแม่น้ำโขง
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ตั้งอยู่ซอย 1-2 บ้านจอมมณี ตำบลมีชัย เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่านาแล้ง แขวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว เป็นสะพานแห่งแรกที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ลาว และประเทศไทย นับว่าเป็นสะพานที่สร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้แล้วยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง คาดว่าจะเสร็จในปี พ.ศ. 2537 ช่วงตัวสะพานมีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าบ่อ

  หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) แล้วเข้าเส้นทางหมายเลข211(หนองคาย-ทาบ่อ) ถึงอำเภอท่าบ่อตรงหลัก ก.ม.ที่ 31 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดด้านซ้ายเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เลยตลาดท่าบ่อไปจะเห็นวัด อันเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 43 กิโลเมตร
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทอง ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างด้วยทองนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก จากหลักฐานศิลาจารึกได้บ่งไว้ว่า “พระเจ้าองค์ตื้อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2105 ผู้สร้างคือ พระไชยเชษฐา กษัตริย์นครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดา และบริวาร ช่วยกันหล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ” (มาตราโบราณของอีสาน) แต่หล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อมาพระอินทร์และเทพยดา 108 องค์ มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ ใช้เวลาในการสร้าง 7 ปี 7 เดือน และทางจังหวัดได้จัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
หมู่บ้านประมงน้ำจืด อยู่ที่ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ ตามเส้นทางท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืด มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นที่น่าสนใจในด้านวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง
หมู่บ้านทำยาสูบ อยู่บริเวณเส้นทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอท่าบ่อ เส้นทางหมายเลข 211 มีชาวบ้านทำไร่ยาสูบตามแนวเลียบริมฝั่งโขง มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจในวิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง
หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ อยู่บริเวณเส้นทางจากหนองสองห้องไปอำเภอท่าบ่อ เป็นหมู่บ้านทำแผ่นกระยอ เป็นแผ่นแป้งสำหรับใช้ทำปอเปี๊ยะ มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่

วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท โดยอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย บริเวณโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธ์ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขง ทัศนียภาพสวยงาม ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2523 การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) วัดหินหมากเป้งจะอยู่ทางขวามือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 64 ริมถนนด้านขวามือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 30 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสังคม

  น้ำตกธารทอง อยู่ในเขตบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลผาตั้ง การเดินทางใช้เส้นทางหนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม (ทางหลวงหมายเลข 211) ผ่านบ้านไทยเจริญ แล้วต่อไปบ้านผาตั้ง น้ำตกธารทองจะอยู่ริมทางด้านขวามือ บริเวณหลักก.ม.ที่ 74 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 11 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 83 กิโลเมตร น้ำตกธารทอง เป็นน้ำตกซึ่งตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร เป็นระยะลดหลั่นกันไป ตอนล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และลานหินน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในแอ่งน้ำสามารถลงไปเล่นน้ำและอาบน้ำได้ ช่วงเวลาที่มีน้ำได้แก่ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
น้ำตกธารทิพย์ หรือน้ำตกตาดเสริม อยู่หมู่ที่ 1 บ้านตาดเสริม ตำบลบ้านม่วง การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกธารทอง ตามทางหลวงหมายเลข 211 บริเวณกิโลเมตรที่ 97-98 เลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตร มีป้ายบอกที่ปากทาง ต้องเดินเท้าอีกประมาณ 100 เมตร รวมระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองประมาณ 111 กิโลเมตร น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผา 3 ชั้น ชั้นที่ 1 สูงประมาณ 30 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 100 เมตร ต้องปีนขึ้นไปตามเส้นทางที่ทำไว้ ชั้นที่ 3 สูงประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลอยู่ตลออดปี และจะมีน้ำมากในฤดูฝน นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวแวะชมความงามอยู่เสมอ

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากคาด

วัดสว่างอารมณ์ (วัดถ้ำศรีชน) ตั้งอยู่ที่เขตสุขาภิบาลปากคาด ตำบลปากคาด ห่างจากตัวอำเภอปากคาด 500 เมตร จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ไป 90 กิโลเมตร ถึงบ้านปากคาด วัดสว่างอารมณ์ตั้งอยู่บริเวณเนินเขา ภายในบริเวณวัดมีโขดหิน หน้าผา ลานหิน มีต้นไม้ปกคลุมโดยทั่วไปเป็นที่ร่มรื่น มีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านพระอุโบสถทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนเนินสูงภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ถ้าหากขึ้นไปสู่บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถแล้วจะสามารถมอง เห็นทิวทัศน์รอบด้านทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งลาวสวยงามยิ่งนัก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอศรีวิไล

  ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวนกุลเชษโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ การขึ้นภูทอกนั้นเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้ ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมาก ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ ชั้นที่ 5 หรือชั้นกลาง มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขามีความยาว 400 เมตร สุดทางที่ชั้น 7 อันเป็นป่าไม้ร่มครึ้มสวยงาม
การเดินทางสู่ภูทอก จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทาง 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร จากหน้าที่ทำการอำเภอต้องเข้ารถเข้าไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ แยกเข้าตรงบ้านศรีวิไล สู่บ้านนาคำแคนและเข้าสู่ภูทอก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอบุ่งคล้า

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มีเนื้อที่ประมาณ 186.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และกิ่งอำเภอบุ่งคล้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาค เกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีอาณาเขต 2 ด้าน ขนานไปกับแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150-300 เมตร สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินลูกรัง ทางด้านน้ำตกชะแนน มีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วน พื้นหลังภูและสันเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายและดินทราย สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ยังคงมีสัตว์ชุกชุมอีกหลายชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว หมี ชะมด ไก่ฟ้า ไก่ป่า ลิง ชะนี และนกนานาชนิด เนื่องจากมีป่าดงดิบในเขตจำกัด ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น สัตว์ใหญ่จึงไม่สามารถเพิ่มขยายพันธุ์ได้มาก บริเวณหัวภูด้านตะวันออก บนยอดภูเป็นลานหินโล่งกว้างที่ถูกน้ำกัดเซาะ จนมีลวดลายสวยงามมาก มีระดับความสูงประมาณ 330 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่เป็นป่าได้โดยรอบ เห็นได้ไกลถึงป่าในฝั่งลาว เช่น ภูควาย ภูงู ภูหมาก่าวของลาวได้ชัดเจน
 -น้ำตกถ้ำฝุ่น อยู่ในบริเวณท้องที่บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 33 กิโลเมตร และจากจังหวัดประมาณ 169 กิโลเมตร ธรรมชาติโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งที่มีทิวทัศน์สวยงามหลายแห่งอยู่ทางตอนเหนือของภู และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีถ้ำฝุ่นซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติที่ร่มเย็นอีกแห่งหนึ่ง
 -น้ำตกภูถ้ำพระ ตั้งอยู่บริเวณบ้านโนนสมบูรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเซกาประมาณ 34 กิโลเมตร และจากตัวจังหวัดประมาณ 258 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกจะเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูถ้ำพระ ซึ่งเงียบสงบและร่มรื่น เมื่อเดินขึ้นมาบนลานหินด้านหลัง จะพบหุบเขารูปแอ่งกระทะขนาดกว้างกว่า 200 ตารางเมตร มีสายธารน้ำตกไหลมายังก้นอ่างที่เบื้องล่าง บริเวณน้ำตกเป็นผากว้างราว 100 เมตร สามารถลงเล่นได้เฉพาะในฤดูฝน น้ำตกภูถ้ำพระเกิดจากลำธารห้วยบังบาด มีความสูงระหว่างชั้นประมาณ 50 เมตร มีความสวยงามมาก
 -น้ำตกเจ็ดสี เดิมเรียกว่า น้ำตกห้วยกะอาม ซึ่งเกิดจากธารน้ำของห้วยกะอาม เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูงแล้วเกิดเป็นละอองไอน้ำกระทบกับแสงแดดยามบ่ายทำให้เกิดสีต่างๆ ขึ้น จึงเรียกน้ำตกเจ็ดสี มีทั้งหมด 3 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านดอนเสียด หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา การเดินทางใช้เส้นทางสาย อำเภอเซกา-บ้านดงบัง ประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัด 264 กิโลเมตร
 -น้ำตกชะแนน เดิมชื่อน้ำตกตาดสะแนน ตาดแปลว่า "ที่ซึ่งมีน้ำไหล" สะแนนมีความหมายว่า "สูงสุดยอด" หรือ "เยี่ยมยอด" น้ำตกสะแนนเกิดจากลำห้วยสะแนนไหลลดหลั่นเป็นชั้นๆ 2 ชั้น มีขนาดกว้างประมาณ 100 เมตร ระหว่างชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 2 ห่างกัน 300 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามมาก เป็นที่รู้จักกันดีของชาวจังหวัดหนองคาย ทางเดินไปน้ำตกชะแนน จะผ่านขัวหิน (สะพานหิน) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำลอดหายไปใต้สะพานหินที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร สะพานหินหรือที่คนอีสานเรียกกันว่า "ขัวหิน" นั้น เมื่อมองจากด้านซ้ายมือจะเห็นยาวเหยียดออกไปจนบรรจบกับแนวป่าละเมาะ ซึ่งพ้นจากนั้นไปก็มีแต่โขดหินเนินหินขนาดมหึมาซ้อนกันเป็นแนวยาว ชั้นล่างจะเป็นบึงใหญ่ ชื่อบึงชะแนน หรือห้วยชะแนน มีเงาไม้ร่มครึ้มตลอดสองฟากฝั่ง เชื่อกันว่าในห้วยชะแนนมีจระเข้อาศัยอยู่เหนือลำห้วยชะแนนขึ้นไปเป็นโตรกขนาดใหญ่ เมื่อถึงฤดูฝนจะเป็นน้ำตกไหลลงจากลาดหินที่แผ่เป็นแผงกว้าง การเดินทางไปชั้นที่สองของน้ำตกชะแนน จะผ่านแนวลำธารที่พื้นเต็มไปด้วยโขดหินเดินตามลำธารไปทางชายฝั่งด้านซ้ายมือ ทะลุออกที่ลานกว้างริมแอ่งน้ำใหญ่ ตลอดทั้งพื้นเป็นหาดทรายละเอียดราวแป้งดูแปลกไปจากที่อื่นๆ มาก และเหนือแอ่งน้ำขึ้นไปก็เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ตกลงมาสู่แอ่ง เรียกกันว่า น้ำตกบึงจระเข้ และน้ำตกชะแนน ชั้นที่สองนี้เหมาะที่สุดสำหรับการตั้งแคมป์พักแรมบนหาดทรายใกล้ๆ ริมน้ำ น้ำตกชะแนนนี้ห่างจากตัวอำเภอเซกา 43 กิโลเมตร และจากตัวจังหวัด 267 กิโลเมตร
 -ถ้ำจันทร์ผา อยู่ห่างจากสะพานหินนี้ไปราว 500 เมตร มีทางเดินตัดไปตามป่าละเมาะ ถ้ำนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะคนที่มาเที่ยวที่นี่ นอกจากสะพานหินแล้วก็เลยไปน้ำตกชะแนนเลย
 -น้ำตกสะอาม เป็นน้ำตกใหญ่และสวยงามอีกแห่งหนึ่งอยู่ด้านตะวันตกของภู ในท้องที่ตำบลโพหมากแข้ง กิ่งอำเภอบึงโขงหลง บริเวณน้ำตกมีแนวสันภูเป็นผาหินกับลานหิน ที่มีลักษณะแปลกตาออกไป เป็นระยะทางยาว 3-5 กิโลเมตร จากลานหินบนสันภูบริเวณน้ำตกสะอาม จะมองเห็นทิวทัศน์ภูวัวทางด้านตะวันตกได้โดยตลอดแนว
 การเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
จากหนองคายตามเส้นทางหลวงสาย 212 ถึงอำเภอบึงกาฬ ระยะทาง 135 กิโลเมตร และจากอำเภอบึงกาฬผ่าน บ.ชัยพร-บ.ภูสวาท-กิ่ง อ.บุ่งคล้า-บ.ดอนจิก-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ระยะทางประมาณ 55 ก.ม.
 การเดินทางไปน้ำตกชะแนน เดินทางจาก บ.บึงกาฬ-บ.ชัยพร ระยะทาง 24 กิโลเมตร จาก บ.ชัยพร-บ.ทุ่งทรายจก 15 กิโลเมตร (เส้นทางสายบ.ชัยพร-อ.เซกา)จากบ.ทุ่งทรายจกแยกซ้ายมือไปน้ำตกชะแนนอีก 7 กิโลเมตรและเดินทางเท้าเข้าไปน้ำตกอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร
 การเดินทางไปน้ำตกเจ็ดสี เดินทางจากบ.ชัยพร-ทุ่งทรายจก-ดอนเสียด ระยะทาง 22 กิโลเมตร และแยกซ้ายไปน้ำตกเจ็ดสีอีกประมาณ 6 กิโลเมตร

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่หนองคาย